xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” จับเข่า “ส.ธนาคารไทย” วิเคราะห์ปัญหา กม.หลักประกันทางธุรกิจ ขยายทาง SME ถึงแหล่งทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
“กระทรวงพาณิชย์” จับเข่าคุยสมาคมธนาคารไทย ร่วมวิเคราะห์ปัญหา-อุปสรรคกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจหลังผ่านการบังคับใช้มา 9 เดือน พบทรัพย์บางประเภทไม่ได้รับความสนใจนำมาใช้เป็นหลักประกัน โดยเฉพาะทรัพย์ประเภททรัพย์สินทางปัญญาและกิจการที่จุดขายไม่ชัดเจน ประเมินราคายาก แนะดึง บสย.เข้าช่วยค้ำประกันสินเชื่อ เปิดทาง พร้อมตั้งคณะกรรมการร่วม สร้างแรงจูงใจ SME เข้าถึงแหล่งทุนง่ายขึ้น

น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ประชุมหารือร่วมกับสมาคมธนาคารไทยเพื่อวิเคราะห์ปัญหา-อุปสรรคของกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจที่ผ่านมา รวมทั้งแนวทางการส่งเสริมให้เอสเอ็มอีนำทรัพย์ประเภทอื่นมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจให้มากยิ่งขึ้นหลังจากที่กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจมีผลบังคับใช้มาแล้ว 9 เดือน (บังคับใช้เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2559) เบื้องต้นพบว่าทรัพย์บางประเภทไม่ได้รับความสนใจนำมาใช้เป็นหลักประกัน เช่น ทรัพย์ประเภทกิจการ อสังหาริมทรัพย์ และทรัพย์สินทางปัญญา ส่วนทรัพย์ประเภทสิทธิเรียกร้อง และสังหาริมทรัพย์ ยังคงได้รับความนิยมนำมาใช้เป็นหลักประกันจำนวนมาก

“จากการวิเคราะห์ฯ ทรัพย์แต่ละประเภทที่ไม่นิยมนำมาใช้เป็นหลักประกันมีประเด็นปัญหา พบว่า 1) ทรัพย์ประเภท “กิจการ” นอกจากนี้ยังมีอุปสรรค คือ ค่าใช้จ่ายในการแต่งตั้งผู้บังคับหลักประกันและการประเมินราคาหลักประกันยังไม่มีความชัดเจน-ข้อจำกัด/กฎเกณฑ์ที่มีผลต่อการพิจารณาสินเชื่อ เช่น หลักเกณฑ์การกันเงินสำรองของสถาบันการเงินในปัจจุบัน หลักทรัพย์ประเภทกิจการสามารถกันสำรองสูงสุดเพียง 50 ล้านบาท และไม่เกินร้อยละ 60 ของราคาประเมิน และประกอบกับมีความเสี่ยงอันเนื่องจากความสามารถในการชำระหนี้และการด้อยค่าของหลักประกัน และการบังคับหลักประกันทำได้ยาก และที่สำคัญคือ ไม่มีตลาดรองรับการขายหรือจำหน่ายกิจการที่ชัดเจนเมื่อเทียบกับทรัพย์ประเภทอื่น

2) ทรัพย์ประเภท “ทรัพย์สินทางปัญญา” อุปสรรค คือ-การประเมินราคาหลักประกันทำได้ยากและฐานข้อมูลการประเมินหลักประกันที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญายังไม่สามารถหาแหล่งอ้างอิงได้ ตลาดทรัพย์สินทางปัญญามีสภาพคล่องต่ำ มีการซื้อขายหมุนเวียนน้อย ความเสี่ยงอันเนื่องจากความสามารถในการชำระหนี้และการเสื่อมค่าของหลักประกัน และการบังคับหลักประกันทำได้ยาก”

ทั้งนี้ สมาคมธนาคารไทยให้ความเห็นว่าควรดึงบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยค้ำประกันสินเชื่อเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือแก่สถาบันการเงินและช่วยเปิดทางให้เอสเอ็มอีสามารถนำกิจการมาใช้เป็นหลักประกันได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจอย่างเต็มที่ ภาครัฐให้การสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่สถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อแก่เอสเอ็มอี การบริหารทรัพย์สินกรณีบังคับหลักประกันควรให้หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลภาครัฐเป็นผู้บริหารทรัพย์สิน เช่น บริษัทบริหารทรัพย์สิน ควรงดเว้นหรือลดภาษีดอกเบี้ยที่สถาบันให้วงเงินสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการในกรณีที่นำทรัพย์ประเภทกิจการหรือทรัพย์สินทางปัญญามาใช้เป็นหลักประกัน"

ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบันยังไม่เคยมีทรัพย์ประเภทกิจการเข้ามาจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเลย และทรัพย์ประเภททรัพย์สินทางปัญญามีเข้ามาจดทะเบียนสัญญาหลักประกันฯ เพียง 1 รายเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังได้มีการตั้งคณะกรรมการ Joint Steering Committee โครงการหลักประกันทางธุรกิจขึ้น คณะกรรมการฯ ประกอบด้วย ผู้แทนจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้แทนจากสมาคมธนาคารไทย รวม 17 ราย โดยมีอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและประธานสมาคมธนาคารไทย ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการร่วมกัน มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินโครงการหลักประกันทางธุรกิจระหว่างกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและสถาบันการเงินให้สามารถดำเนินงานทุกด้านเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างสมบูรณ์ และสร้างแรงจูงใจให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

จนถึงปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 3 เมษายน 2560) มีธุรกิจเอสเอ็มอียื่นคำขอจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ รวม 126,225 คำขอ มูลค่าทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกัน 1,870,735 ล้านบาท โดยสิทธิเรียกร้องประเภทบัญชีเงินฝากธนาคารเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 56.80 (มูลค่า 1,062,541 ล้านบาท) รองลงมาคือ สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น สินค้าคงคลัง วัตถุดิบ เครื่องจักร รถยนต์ เรือ เครื่องบิน คิดเป็นร้อยละ 21.95 (มูลค่า 410,574 ล้านบาท) สิทธิเรียกร้องประเภทอื่นๆ เช่น ลูกหนี้การค้า สัญญาจ้าง สัญญาซื้อขาย สัญญาเช่าซื้อ คิดเป็นร้อยละ 17.63 (มูลค่า 329,778 ล้านบาท) และทรัพย์สินทางปัญญา คิดเป็นร้อยละ 0.1 (มูลค่า 1,955 ล้านบาท)

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น