“บิ๊กตู่” สั่งประเมิน “บัตรคนจน” ช่วง 3 เดือนแรก ใช้ข้อมูลสัดส่วนการใช้จ่ายทั่วประเทศ ประกอบการปรับปรุงการจัดสรรเงินช่วยครัวเรือนอย่างมีประสิทธิภาพ ด้าน “สมคิด” เล็งเพิ่มวงเงินบัตร หัวละ 500 บาท เพิ่มเงินซื้อชุดนักเรียนคนจนให้ทันช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2561
วันนี้ (16 ต.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เวียนหนังสือคำสั่งนายกรัฐมนตรี ถึงหัวหน้าหน่วยราชการทั่วประเทศ ให้กระทรวงการคลัง เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการประเมินผลการจัดประชารัฐสวัสดิการผ่านบัตร สวัสดิการแห่งรัฐ การใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการของประชาชน ในช่วง 3 เดือนแรก
”ให้นำข้อมูลสัดส่วนการใช้จ่ายของประชาชนในแต่ละประเภทสินค้าและบริการ มาประกอบการปรับปรุงสัดส่วนการจัดสรรเงินช่วยเหลือในส่วนของค่าใช่จ่ายในครัวเรือนและค่าใช้จ่าย ในการเดินทางให้แก่ประชาชนให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ให้รายงานผลการดำเนินการ ให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็วด้วย”
มีรายงานด้วยว่า ขณะที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้าน ได้มอบหมายให้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง และ สำนักงบประมาณ ไปหาทางเพิ่มวงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) อีก 200 - 300 บาท จากเดิม 300 บาท เป็น 500 บาท โดยนายสมคิด คาดการณ์ว่า ระยะเวลาที่อาจจะเพิ่มวงเงินในบัตรคนจน อาจให้ทันการเปิดเรียนในภาคเรียนที่ 1/2561 เช่น อาจจะเพิ่มวงเงินในการซื้อชุดนักเรียนให้กับบุตรหลานในช่วงเปิดเทอม
“เฉพาะวงเงินสำหรับการใช้ซื้อสินค้าที่จำเป็น อาจดึงงบประมาณที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน หรือดำเนินการไม่ทันตามกรอบเวลามาใช้ ส่วนจะเป็นจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นมาเท่าใดต้องไปพิจารณาความเหมาะสมก่อน เพื่อให้เงินไปส่งตรงไปถึงคนมีรายได้น้อยจริงๆ” รายงานข่าวระบุและว่า นายสมคิด ยังสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาแนวทางทางช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเพิ่มเติมในปี 2561 เช่น ส่งเสริมอาชีพผู้มีรายได้น้อยให้สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้มากขึ้น หาทางส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนผลิตสินค้าป้อนร้านค้าประชารัฐ โดยเน้นผลิตสินค้าที่คนมีรายได้น้อยต้องการ เช่น ข้าวสาร น้ำมันพืช หรือไข่ไก่ ไข่เป็ด เป็นต้น
มีรายงานอีกว่า สำหรับคนกรุงเทพฯ และ ปริมณฑล ที่ไม่ได้รับบัตรในครั้งแรก จำนวนกว่า 1 ล้าน 3 แสนใบ สามารถไปรับได้ ณ จุดที่ลงทะเบียนไว้ตั้งแต่วันที่ 17 ต.ค. 60 ขณะเดียวกัน กรมบัญชีกลางได้เร่งประสานงานติดตั้งเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (เครื่องอีดีซี) ในร้านธงฟ้าประชารัฐ และสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. จำนวน 8 พันจุดทั่วประเทศ.