ไบโอไทย เปิดรายละเอียดกลุ่มเกษตรกร ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด หากมีการเก็บค่าน้ำจากภาคเกษตรกร พบกลุ่มพืชไร่ “อ้อย” ที่ใช้ปริมาณน้ำ 1,626 ลบ.เมตร/ไร่ จะต้องชำระค่าน้ำ 813 บาท/ไร่ ส่วนกลุ่มพืชผัก “หน่อไม้ฝรั่ง” ที่ใช้น้ำ 2,538 ลบ.ม./ไร่ จะต้องชำระค่าน้ำ 1,269 บาท/ไร่ ชี้ “กลุ่มล็อบบี้นโยบาย” จ่อได้ประโยชน์ ด้าน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ นัดแถลงข่าว ย้ำไม่มีแนวคิดเก็บค่าน้ำเกษตรกรพรุ่งนี้ หลัง “บิ๊กฉัตร” ย้ำ รัฐบาล - นายกฯ ไม่มีแน่นอน
วันนี้ (1 ต.ค.) มีรายงานว่า เช้าวันนี้ เพจเฟซบุ๊ก ไบโอไทย “มูลนิธิชีววิถี” เผยแพร่รายละเอียดของกลุ่มเกษตรกร ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด หากมีการเก็บค่าน้ำจากภาคเกษตรกร ตามที่มีการเสนอข่าวว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เตรียมออก พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ พ.ศ… ซึ่งหากมีผลบังคับผู้ที่ทำการเกษตร และเลี้ยงสัตว์เพื่อการพาณิชย์ อาจต้องจ่ายค่าน้ำไม่เกิน 50 สตางค์ต่อลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) นั้น
โดยพบว่า กลุ่มพืชไร่ อ้อย ที่ใช้ปริมาณน้ำ 1,626 ลบ.เมตร/ไร่ จะต้องชำระค่าน้ำ 813 บาท/ไร่ ส่วนกลุ่มพืชผัก หน่อไม้ฝรั่ง ที่ใช้น้ำ 2,538 ลบ.ม./ไร่ จะต้องชำระค่าน้ำ 1,269 บาท/ไร่
ไบโอไทย ระบุว่า กฎหมายเก็บค่าน้ำจากภาคเกษตร ซึ่งมาจากการผลักดันของธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย กลุ่มล็อบบี้นโยบายการเกษตรในประเทศอุตสาหกรรม ที่พบว่า ราคาสินค้าเกษตรของตนไม่สามารถแข่งขันกับประเทศกำลังพัฒนา/เศรษฐกิจเกิดใหม่ได้รวมทั้งนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักในประเทศไทยจำนวนหนึ่ง กำลังเข้าใกล้ความจริงมากที่สุด
การใช้ทรัพยากรน้ำอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ การสร้างความเป็นธรรมในการใช้ทรัพยากรเป็นเรื่องจำเป็น แต่ต้องไม่อยู่บนพื้นฐานของการทำให้ทรัพยากรน้ำกลายเป็นสินค้า และผลักภาระทั้งหมดของผู้ที่เกี่ยวข้องและได้ประโยชน์จากระบบเกษตรและอาหารไปยังเกษตรกรรายย่อย
สำหรับชาวนาที่ต้องอาศัยน้ำชลประทานในการทำนา การเก็บค่าน้ำเหมือนถูกหักหลัง เนื่องจากรัฐเองเป็นคนผลักดันให้พวกเขาเปลี่ยนจากการทำนารอบเดียวโดยอาศัยน้ำฝนมาเป็นการทำนาหลายครั้ง จากการเปลี่ยนพันธุ์ข้าว สร้างระบบชลประทานเพื่อส่งเสริมการผลิตตามแนวทางการปฏิวัติเขียว แต่แล้วในที่สุดรัฐกลับหักหลังพวกเขาโดยเก็บค่าน้ำเพื่อทำนา นอกเหนือจากที่ต้องเพิ่มต้นทุนจากการใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีเพิ่มมากขึ้นๆเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ต้องการ ในขณะเดียวกัน ชุมชนชาวนาไม่สามารถกลับไปสู่วิถีการเกษตรแบบเดิมได้อีก เพราะการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานและการทำลายระบบนิเวศเกษตรเดิมโดยรัฐเอง
ผู้เกี่ยวข้องอ้างว่า ร่าง พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ กำลังอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น แต่ภายใต้บรรยากาศทางการเมืองที่เป็นอยู่ ร่างกฎหมายแย่ๆสามารถโผล่พรวด 3 วาระรวดและออกมาบังคับใช้โดยที่เราไม่ทันตั้งตัวหลายต่อหลายฉบับ
เสียงของเกษตรกรและผู้ที่ได้รับผลกระทบจะมีความหมายเพียงใด ?
มีรายงานด้วยว่า ขณะที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.
ฉบับดังกล่าวกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของ สนช. จริง แต่ยังไม่มีการหยิบหยกมาตรการเก็บค่าใช้น้ำจากเกษตรกรมาหารือกัน จึงเป็นการด่วนสรุปเร็วเกินไปว่าจะเก็บค่าใช้น้ำจากเกษตรกร และรัฐบาลชุดนี้ไม่มีแนวคิดจะเก็บค่าน้ำกับเกษตรกรอย่างแน่นอน เพราะเป็นการเพิ่มภาระให้กับเกษตรกร สวนทางกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดต้นทุนให้กับเกษตรกร
นอกจากนี้ ที่ผ่านมา การประชุมของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในทุกๆ ครั้ง ได้เน้นย้ำเสมอไม่ให้เพิ่มภาระให้กับเกษตรกรด้วยการเก็บค่าใช้น้ำ
ขณะที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้บรรจุ ร่าง พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ ในชั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณา ซึ่งคาดว่าน่าจะเสร็จเรียบร้อยในต้นปี 2561 โดยหลักการและสาระสำคัญ คือ ต้องการให้บริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ที่เดียวกัน โดยจะลดค่าใช้จ่าย เพื่อลดต้นทุนให้กับเกษตรกร และเพิ่มกำไรในผลผลิต ยกเว้นเกษตรกรรายใหญ่ที่มีพื้นที่เป็นหลักพันหลักหมื่นไร่ว่า สมควรเก็บหรือไม่ รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรม ที่ปัจจุบันเก็บอยู่ตามกฎหมายน้ำบาดาล
มีรายงานว่า วันที่ 2 ต.ค. นี้ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ สมาชิก สนช. ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ จะได้แถลงข่าวในเรื่องนี้อีกครั้ง