xs
xsm
sm
md
lg

อาชีวะหนุนเด็กปลูกข้าวปลอดสารเคมี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อาชีวะหนุนเด็กเรียนรู้การปลูกข้าวปลอดภัยไร้สารเคมี สร้างเครือข่ายการเรียนรู้เสริมศักยภาพชุมชน สร้างความยั่งยืนในวิถีอาชีพ

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดยวิทยาลัยเทคนิคนครนายก สถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 3 จัดกิจกรรมทำแปลงนาสาธิตและจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้โครงการ “หมู่บ้านวิทย์ฯ ข้าวปลอดภัย ชุมชนเกาะไม้ลาย อ.บ้านนา จ.จังหวัดนครนายก”

ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า สอศ. เห็นการเจ็บป่วยด้วยโรคจากสารกำจัดศัตรูพืชในไทย จากสถิติข้อมูลประชากรกลุ่มวัยแรงงานของประเทศไทย เมื่อพิจารณาถึงปัญหาความไม่ปลอดภัยในการทำงาน พบว่า แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ได้รับสารเคมีเป็นพิษมากที่สุด ร้อยละ 62.7 รองลงมาคือ เครื่องมือเครื่องจักรที่เป็นอันตราย ร้อยละ 17.2 (ที่มา : สำนักงานสถิติแห่งชาติ 2557) จึงมอบให้คลินิกเทคโนโลยี วิทยาลัยเทคนิคนครนายก จัดกิจกรรมในครั้งนี้ขึ้น เพื่อเผยแพร่ความรู้แก่นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชนในชุมชน ให้ตระหนักถึงพิษภัยของสารกำจัดศัตรูพืช ถ่ายทอดความรู้เรื่องการลดการใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีกำจัดแมลง โดยอาศัยหลักการเรื่องเกษตรกรรมธรรมชาติ โดยสร้างหมู่บ้านต้นแบบในการปลูกข้าวปลอดสารพิษ และสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพชุมชน และสร้างความยั่งยืนในวิถีอาชีพ อันจะเป็นการลดรายจ่าย สร้างรายได้ และช่วยให้คนในชุมชนได้บริโภคข้าวที่ปลอดภัย ห่างไกลจากโรคต่างๆ พร้อมส่งเสริมให้ผลิตเพื่อจำหน่ายตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

นายวิวรรธน์ วิไลลักษณ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคนครนายก กล่าวว่า นักเรียน นักศึกษา คลินิกเทคโนโลยี วิทยาลัยเทคนิคนครนายก จำนวน 70 คน ร่วมถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรในชุมชน จำนวน 50 คน ในการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และหลักเกษตรกรรมธรรมชาติมาประยุกต์ใช้กับการปลูกข้าว ด้วยการดำนาปลูกข้าวต้นเดียว พันธุ์ข้าวเจ้าหอมดำสูตะบุตร แบบตีตารางปาเป้า สลับกับการปลูกพืชหมุนเวียนหลังการเก็บเกี่ยว ในแปลงนาสาธิตจำนวน 5 ไร่ พร้อมปล่อยแหนแดง เพื่อสร้างไนโตรเจนแก่ดินซึ่งช่วยลดต้นทุนการทำนา ค่าเมล็ดพันธุ์ข้าว ค่าปุ๋ยเคมี ค่าสารเคมีกำจัดศัตรูข้าว เพิ่มมูลค่าของข้าวที่ผลิตได้ เพราะเป็นข้าวปลอดสารพิษ ทำให้ประชาชนย้ายกลับคืนถิ่นสู่การประกอบอาชีพเกษตรกรตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ส่วนด้านสุขภาพของผู้ปลูกข้าวจะดีขึ้นจากการลดหรือหยุดใช้สารเคมีในการทำนา และผู้บริโภคปลอดภัยจากการรับประทานอาหารปลอดสารเคมี

ทั้งนี้ การปลูกข้าวแบบต้นเดียว คือ การปลูกระยะห่าง 30x30 ซม. การปลูกพืชในระบบนี้จะเน้นเรื่องการใช้สารชีวภาพเป็นปัจจัยการผลิตและใช้น้ำน้อยเพื่อให้ดินชื้นเท่านั้น เมื่อดำนาผ่านไป1เดือน จะปล่อยให้น้ำแห้ง ดินแตกระแหง โดยการปลูกแบบต้นเดียวจะทำให้ข้าวแตกกอมากกว่าวิธีปกติ เพราะต้นข้าวจะไม่แย่งอาหารแข่งกันเอง ผลผลิตที่ได้จึงมากกว่าการปลูกด้วยวิธีปกติ นอกจากนี้ ยังช่วยลดการใช้น้ำ ลดต้นทุนการผลิต และทำให้ต้นข้าวแข็งแรง ต้านทานโรคและแมลงมากขึ้นอีกด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น