xs
xsm
sm
md
lg

ก่อนจะเน่ามากกว่านี้ จนท.เทศบาลฯ เร่งพ่นสารชีวภาพแก้ปัญหาน้ำเน่าในคูเมือง(ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - เจ้าหน้าที่เทศบาลฯ ทำการฉีดพ่นสารชีวภาพกำจัดสาหร่ายและปรับสภาพน้ำในคูเมืองเชียงใหม่ ระหว่างการรอระบายน้ำเก่าทิ้งและเติมน้ำใหม่ หลังประสบปัญหาสาหร่ายสีเขียวขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วช่วงอากาศร้อนจัดจนน้ำกลายเป็นสีเขียวขุ่นข้นและเน่าเหม็น


จากกรณีสภาพน้ำในคูเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่ช่วงแจ่งกะต๊ำ ยาวไปจนถึงบริเวณของแจ่งกู่เฮือง ที่มีลักษณะเป็นสีเขียวเข้ม อีกทั้งส่งกลิ่นเหม็นคาวโดยเฉพาะในช่วงกลางวันที่มีสภาพอากาศร้อน นอกจากนี้ยังพบว่ามีปลาลอยตายด้วย

ทำให้ล่าสุดทางเทศบาลนครเชียงใหม่ได้ขอความร่วมมือจากสำนักงานชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ และโครงการชลประทานเชียงใหม่ ในการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นมีแผนจะระบายน้ำที่คุณภาพต่ำออกแล้วผันน้ำใหม่จากคลองชลประทานแม่แตงเข้ามาแทนที่ประมาณ 200,000 ลูกบาศก์เมตร ส่วนระยะยาวจะมีการทำ MOU และทำงานร่วมกันต่อไป

รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้ (12 พ.ค.) เจ้าหน้าที่เทศบาลนครเชียงใหม่ นำโดย นายวิสาขะ ปัญญาช่วย ผู้อำนวยการส่วนช่างสุขาภิบาล เทศบาลนครเชียงใหม่ ทำการฉีดพ่นสารชีวภาพเพื่อกำจัดสาหร่ายและปรับสภาพน้ำ โดยดำเนินการจะฉีดพ่นวันเว้นวัน เพื่อสังเกตผล

สารเคมีดังกล่าวคือสารชีวภาพกำจัดคลอโรฟิลล์ และสารไบโอฟิช ปรับสภาพน้ำที่มีผลต่อพืชในน้ำเท่านั้น ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต สัตว์และมนุษย์ สามารถนำมาล้างหน้า หรือแม้แต่อมไว้ในปากได้โดยไม่มีพิษต่อร่างกาย ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่เทศบาลฯ ได้มีการสาธิตการนำสารเคมีสดๆ มาทาถูทั่วแขนและใบหน้าเพื่อพิสูจน์และสร้างความมั่นใจให้ด้วย

สำหรับสาหร่ายสีเขียวที่เป็นต้นเหตุของน้ำเสียในคูเมืองเชียงใหม่นั้นเริ่มปรากฏให้เห็น 3 ปีที่ผ่านมาในช่วงหน้าร้อน มีลักษณะเป็นตะกอนเหนียว ปกคลุมพื้นผิวน้ำกลายเป็นแผ่นสีเขียวแพร่กระจายไปทั่วคูเมือง โดยเฉพาะตั้งแต่บริเวณช่วงแจ่งกะต๊ำ ยาวไปจนถึงบริเวณของแจ่งกู่เฮือง หรือคูเมืองด้านทิศใต้ ตั้งแต่บริเวณมุมคูเมืองฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงคูเมืองฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ เป็นระยะทางกว่า 1.5 กม.

อีกทั้งยังมีปลาตายลอยอืด บางจุดมีเศษกิ่งไม้ใบไม้และขยะหมักหมม และมีกลิ่นเหม็นคาว

โดยตามข้อมูลจากเทศบาลนครเชียงใหม่ พบว่าสาหร่ายดังกล่าวมีอยู่ปกติในธรรมชาติ แต่เนื่องจากภาวะภัยแล้ง ทำให้หลายปีที่ผ่านมามีการผันน้ำใหม่เข้าคูเมืองน้อยลง และปัจจัยจากปุ๋ยและสารเร่งดอกจากต้นไม้ไหลลงน้ำ และแสงแดดที่เหมาะสม ส่งผลให้สาหร่ายเจริญเติบโตได้ดี

ในปีนี้ได้เคยปรากฏสาหร่ายสีเขียวลอยแพมาแล้วครั้งหนึ่ง ช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ได้มีการแก้ไขโดยการฉีดคลอรีนและผันน้ำใหม่เข้ามาปริมาณ 5 หมื่นลูกบาศก์เมตร แก้ไขสถานการณ์ไปได้ช่วงหนึ่ง ก่อนที่จะกลับมาปรากฏอีกครั้งในปริมาณมากกว่าเดิม


กำลังโหลดความคิดเห็น