xs
xsm
sm
md
lg

3 ปธ.องค์กรอิสระ ชี้ รธน.60 เพิ่มดูแลสิทธิ ปชช. รับร่างมาตรฐานจริยธรรมกลางเสร็จแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กสม.จัดสัมมนา 3 ประธานองค์กรอิสระร่วมวง ย้ำรัฐธรรมนูญ 60 ดูแลสิทธิประชาชนมากขึ้น มาตรฐานจริยธรรมกลางร่างเสร็จแล้ว ส่ง “ครม. -สนช." ให้ความเห็น เชื่อบังคับใช้ทัน 1 ปี หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้

วันนี้ (22 ก.ย.) ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ วันนี้ (22 ก.ย.) สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดสัมมนาเรื่อง “แนวทางมาตรฐานทางจริยธรรม กับการสร้างเสริมความสุจริต สิทธิมนุษยชนและธรรมาภิบาล” โดยมีนายวัส ติงสมิตร ประธาน กสม. พล.อ.วิทวัส รัชตนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช.ร่วมสัมมนา

นายวัสกล่าวว่า อำนาจตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มีความก้าวหน้าที่ กสม.สามารถเสนอแนะไปยังบริษัทเอกชนได้ด้วยในกรณีที่มีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยต้องปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองสิทธิมนุษยชนหากฝ่าฝืน กสม.ก็มีข้อเสนอแนะและกำหนดการเยียวยาได้ อย่างไรก็ตาม อำนาจตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ กสม.เคยสามารถยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองได้ ไม่มีในรัฐธรรมนูญปี 2560 แต่ในรัฐธรรมนูญปี 2560 มีความแปลกอย่างหนึ่ง คือ บางเรื่องกำหนดตามหลักการปารีส แต่บางเรื่องก็กำหนดตามความต้องการของตัวเอง ทำให้การออกแบบบางครั้งดูสับสน ส่วนร่างมาตรฐานจริยธรรมกลางที่รัฐธรรมนูญมาตรา 219 กำหนดให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญและประธานองค์กรอิสระร่วมกันจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หัวหน้าส่วนราชการขององค์กรอิสระ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน รวมถึง ส.ส., ส.ว. และคณะรัฐมนตรีด้วยนั้น ร่างเสร็จตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีอยู่ 4 หมวด 28 ข้อ คือ หมวด 1 มาตรฐานจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ หากทำผิดถือว่าร้ายแรง เช่น การไม่ปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริต มีผลประโยชน์ขัดกัน ไม่รับของขวัญของกำนัล เว้นแต่เป็นการให้โดยธรรมจรรยา

หมวด 2 มาตรฐานจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก เช่น ไม่ดำเนินการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและส่วนรวม ต้องยึดมั่นหลักนิติธรรม ประพฤติตนอยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีของประชาชน ต้องไม่มีพฤติกรรมล่วงละเมิด หรือคุกคามทางเพศจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้รับความเสียหาย หมวด 3 เป็นเรื่องจริยธรรมทั่วไป เช่น ปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างเต็มกำลังความสามารถ ยึดมั่นความชอบธรรม ตรวจสอบได้ หมวด 4 การฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามหมวด 2 และ 3 จะถือว่าร้ายแรงหรือไม่ให้ดูที่เจตนา ในขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดทำต้องรับฟังความเห็นจากรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีให้ตอบกลับมาภายใน 45 วัน นับจากที่ได้รับเรื่อง โดยจะต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี หลังรัฐธรรมนูญปี 60 ประกาศใช้ คือต้องทำให้เสร็จไม่เกินวันที่ 6 เมษายน 2561

ด้าน พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 เรื่องของมาตรฐานจริยธรรมได้เปลี่ยนแปลงไปจากปี 2550 ที่กระบวนการถอดถอน ป.ป.ช.จะเป็นผู้ดำเนินการไต่สวน เมื่อได้ข้อสรุปก็ส่งเรื่องไปที่ประธานวุฒิสภาดำเนินการถอดถอน แต่ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้ส่งเรื่องไปยังศาลตามประเภทความผิด โดยการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช.ขณะนี้มีเรื่องไต่สวนค้างอยู่ 2,100 เรื่อง อยู่ในระหว่างแสวงหาข้อเท็จจริงอีกกว่าหนึ่งหมื่นเรื่อง และมีการตั้ง ป.ป.ช.ทั้ง 9 คน เป็นองค์คณะไต่สวนรวม 40 เรื่อง ทั้งนี้มีการวางแนวทางเร่งรัดการไต่สวนให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ส่งศาล และคาดหมายว่ากระบวนการทั้งหมดน่าจะแล้วเสร็จภายใน 3 ปี คือถ้าใครทำผิดติดคุกเร็วขึ้น ส่วนเรื่องสิทธิประชาชนนั้นตามรัฐธรรมนูญปี 60 ก็เพิ่มช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงและตรวจสอบได้มากขึ้น โดยในส่วนของมาตรฐานจริยธรรมตามรัฐธรรมนูญ 60 นั้น หากมีการฝ่าฝืนก็จะต้องส่งมาที่ป.ป.ช.พิจารณาว่ามีการกระทำผิดอย่างไร หากร้ายแรงก็ต้องส่งดำเนินคดีอาญาด้วย

ขณะที่พล.อ.วิทวัส กล่าวว่า หน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน คือการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน แต่จะไม่ทำงานทับซ้อนกับกรรมการสิทธิมนุษยชนและ ป.ป.ช. หากมีเรื่องที่เกี่ยวพันไปถึงหน่วยงานใดจะส่งเรื่องต่อไปให้ดำเนินการ การทำงานของผู้ตรวจการแผ่นดินนั้นแต่ละคนจะมีอำนาจอิสระ เว้นแต่เรื่องสำคัญที่ต้องใช้มติที่ประชุม เช่นเรื่องที่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครอง ทั้งนี้รัฐธรรมนูญปี 60 ยังให้อำนาจกับผู้ตรวจการแผ่นดินในการตรวจสอบการใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐ เพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องแก้ไขภายใน 120 วัน หากทำไม่ได้ต้องแจ้งผู้ตรวจการแผ่นดินภายใน 60 วัน หากยังหลีกเลี่ยงไม่ดำเนินการก็จะส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.เพื่อพิจารณาตรวจสอบเรื่องผิดวินัยร้ายแรง ถือว่าเป็นฤทธิ์มีดสั้น แม้จะไม่ตายที่ผู้ตรวจการแผ่นดินแต่ก็ตายที่ ป.ป.ช. สำหรับมาตรฐานจริยธรรมที่กำหนดใหม่จะเป็นต้นแบบในการกำหนดมาตรฐานจริยธรรมของทุกองค์กรที่ต้องไปกำหนดในหน่วยงานของตัวเอง แต่บางองค์กรอาจต้องมีจริยธรรมมากกว่าองค์กรอื่น เช่น ตุลาการ หรือแพทย์







กำลังโหลดความคิดเห็น