xs
xsm
sm
md
lg

ศาลยกคำร้องซ้ำ-สัญญาณลบ “ยิ่งลักษณ์” ย่ำรอย “พี่แม้ว” !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา



ยังเป็นเรื่องราวต่อเนื่องกันอีกระยะ ก่อนที่จะถึงขั้น “พีก” สุดในวันที่ 25 สิงหาคม สำหรับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกฟ้องเป็นจำเลยในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จากโครงการรับจำนำข้าว ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ปล่อยปละละเลยจนทำให้เกิดความเสียหายที่มีการประเมินมูลค่าประมาณกว่า 5 แสนล้านบาท โดยศาลฎีกาฯนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 25 สิงหาคมดังกล่าว

ตามลำดับเหตุการณ์ที่ผ่านมา คือ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ได้เสร็จสิ้นการแถลงปิดคดีด้วยวาจาไปแล้วเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม จากนั้นก็จะมีการยื่นคำแถลงเป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันที่ 12 สิงหาคมตามลำดับ

นั่นเป็นตารางเวลาที่กำหนดเอาไว้ล่วงหน้า คงไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้แล้ว แม้ว่าที่ผ่านมาฝ่ายจำเลยคือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะพยายามยื้อเวลาด้วยการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองขอให้เพิกถอนคำสั่งและกระบวนการพิจารณาที่ผิดระเบียบที่ไม่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 212 โดยศาลยกคำร้อง เนื่องจากศาลเห็นว่าก่อนที่จะส่งศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรมมีอำนาจวินิจฉัยก่อนว่าเข้าข้อกำหนดในการส่งหรือไม่ ไม่ใช่ว่าต้องส่งทุกกรณี ดังแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10660/2553

ซึ่งกรณีดังกล่าวนี่แหละน่าสนใจนอกเหนือจากการพิจารณายกคำร้องในลักษณะเดียวกันเป็นครั้งที่สองแล้ว โดยก่อนหน้านี้ ทีมทนายความของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการพิจารณาของศาลฎีกาฯมาแล้ว และให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความก่อน แต่ศาลยกคำร้อง และมายื่นซ้ำอีกครั้งเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมจนนำมาซึ่งการยกคำร้องล่าสุดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมา

ครั้งล่าสุดมีการอ้างเหตุผล 4 - 5 ประการ โดย ประการแรกเธออ้างถึงคู่ความที่เห็นโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลต้องตามมาตรา 5 ต้องให้ศาลส่งตีความ และระหว่างรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และให้ศาลรอการพิพากษาคดีเอาไว้ชั่วคราว และยังอ้างว่าศาลฎีกาฯไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่ไม่ส่งตีความ (ยกคำร้อง)

ประการที่ 2 อ้างว่า ศาลฎีกาฯไม่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคำร้องที่จำเลย (ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) โต้แย้งแล้วสั่งยกคำร้องเสียเอง

ประการที่ 3 อ้างตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 วรรค 2 ว่า มีแต่ศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้นที่มีอำนาจรับหรือไม่ร้บวินิจฉัย ศาลอื่นไม่มีอำนาจในการสั่งไม่รับเรื่องไว้พิจารณาแต่อย่างใด

ประการที่ 4 อ้างว่า ศาลรัฐธรรมนูญเคยออกข้อกำหนด ตามข้อ 17 ย้ำว่า ศาลอื่นไม่มีอำนาจพิจารณาคำร้องโต้แย้ง และประการที่ 5 ว่าจำเลยมีความจำเป็นต้องร้องโต้แย้งตามมาตรา 212 เพื่อให้ศาลที่นั่งพิจารณา (ศาลฎีกาฯ) ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและศาลที่นั่งพิจารณาจึงไม่ควรวินิจฉัยเสียเองเพราะอาจขัดต่อหลักนิติธรรมและการดำรงไว้ซึ่งความเป็นกลาง พร้อมทั้งอ้าง “สิทธิในกระบวนการยุติธรรม ที่จะเสียไป” หากไม่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

หากโฟกัสกันเฉพาะประเด็นท้ายๆ โดยเฉพาะข้อที่ 5 ที่เหมือนกับการ “บีบศาล” กันโดยตรง เพราะข้ออ้างที่ว่าศาลอื่นไม่มีอำนาจในการวินิจฉัยเอง นอกเหนือจากศาลรัฐธรรมนูญ เพราะจะทำให้ขัดต่อหลักนิติธรรมและการดำรงไว้ซึ่งความเป็นกลาง ยังทำให้ “สิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่จะเสียไป”

แน่นอนว่า เมื่อศาลฎีกาฯยกคำร้องอีกครั้งย่อมส่งผลย้อนกลับมาที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทันที ประการแรกเป้าหมายที่ต้องการเร่งด่วนคือต้องการยื้อคำตัดสินของศาลฎีกาฯออกไป เมื่อยกคำร้องก็ต้องเข้าสู่โหมดเดิมคือวันนัดตัดสินในวันที่ 25 สิงหาคม เวลา 9.00 น. เป็นไปตามเดิม

ขณะเดียวกัน ประเด็นต่อเนื่องที่น่าจับตา ก็คือ ประเด็น “โต้แย้งอำนาจศาล” ซึ่งหากพิจารณาแนวทางแบบนี้ถือว่าเคยเกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคของพี่ชายเธอ คือ ทักษิณ ชินวัตร เกือบทุกคดีที่เขาถูกฟ้องเป็นจำเลยในศาล ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองส่วนใหญ่ขาจะสู้ในประเด็น “ศาลไม่มีอำนาจในการพิจารณา” ในคดีที่เขาถูกฟ้อง หากจำกันได้คดีที่เขาถูกฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาท รวมไปถึงคดีที่ดินรัชดาฯก็โต้แย้งในแบบเดียวกัน แต่ในที่สุดศาลก็ยืนยันถึงอำนาจการในการพิจารณาทุกครั้ง และผลที่ตามมาคือพ่ายแพ้ ถูกตัดสินมีความผิดตามฟ้องทุกคดี

ดังนั้น เมื่อกลับมาพิจารณาเปรียบเทียบคดีรับจำนำข้าวของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เธอก็โต้แย้งในเรื่องของอำนาจการพิจารณาของศาลเช่นเดียวกัน รวมทั้งยื่นคำร้องให้เพิกถอนคำสั่งและกระบวนการพิจารณาตามมาตรา 212 ของรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่สำเร็จ ถูกยกคำร้องถึงสองครั้ง แม้ว่ายังไม่ถึงวันดีเดย์ คือ 25 สิงหาคม แต่แนวโน้มที่ออกมาก่อนแบบนี้มันมีผลออกมาในเชิงลบ ส่วนจะย่ำรอยเดิมของ “พี่ชาย” หรือไม่ชวนติดตามนัก !!
กำลังโหลดความคิดเห็น