xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนอด! ศาลปกครองสูงสุดสั่งงดจ่ายค่าโง่คลองด่านร่วม 6 พันล้าน รอพิจารณาคดีใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
ศาลปกครองสูงสุด ยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลาง สั่งงดการบังคับคดีจ่ายค่าเสียหายกรณียกเลิกสัญญาเอกชนในโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน งวด 2, 3 รอการพิจารณาคดีใหม่ ชี้ หากที่สุดฝ่ายรัฐแพ้ซ้่ำ ก็ไม่ยากแก่การบังคับให้ต้องจ่ายค่าเสียหาย

วันนี้ (14 ก.ย.) ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลางให้งดการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ให้รัฐต้องจ่ายค่าเสียหายกรณีการยกเลิกสัญญากับเอกชนในโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านจำนวนตามคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการจำนวน 4,761,872,349.06 บาท และ 32,576,783.10 เหรียญสหรัฐฯ (รวมทั้งสิ้นประมาณ 5,800 ล้านบาท) ไว้ในระหว่างที่ศาลปกครองพิจารณาคดีใหม่

ทั้งนี้ คดีคำสั่งดังกล่าวสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 59 กระทรวงการคลังได้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 21 เม.ย. รับคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ดังกล่าวไว้พิจารณา และมีคำสั่งเรียกให้บริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด พร้อมพวกรวม 6 ราย ซึ่งเป็นผู้ที่รับจ้างออกแบบและร่วมก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย ทำคำให้การแก้คำร้อง ขณะเดียวกัน กระทรวงคลังและ กรมควบคุมมลพิษ ก็ได้ยื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งงดการบังคับคดี หรือระงับการจ่ายค่าเสียหายงวดที่ 2 - 3 ไว้จนกว่าศาลจะพิจารณาคดีใหม่แล้วเสร็จ ซึ่งศาลปกครองกลางก็ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 29 พ.ค. งดการบังคับคดีตามที่ทั้งสองหน่วยงานร้องขอ ทำให้ บริษัท วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้างและพวก ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

สำหรับเหตุผลศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลาง ระบุว่า เมื่อศาลปกครองกลางเป็นศาลปกครองชั้นต้นที่ได้พิจารณาพิพากษาคดีนี้ ศาลปกครองกลางจึงมีอำนาจพิจารณาคำของดการบังคับคดีของกระทรวงการคลัง ผู้ร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ และกรมควบคุมมลพิษ ผู้คัดค้านได้ ที่บริษัท วิจิตรภัณฑ์ฯ และพวก อ้างว่า ศาลปกครองชั้นต้นไม่อาจงดการบังคับคีดได้ จึงไม่อาจรับฟังได้ ส่วนมีเหตุอันสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งงดการบังคับคดีตามคำร้องกระทรวงการคลัง และกรมควบคุมมลพิษหรือไม่ เห็นว่า เมื่อคดีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในระหว่างการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำสั่งรับคำขอให้พิจารณาพิพากษาคดีใหม่ตามคำขอของกระทรวงการคลัง และกรมควบคุมมลพิษ และมีคำสั่งเรียกให้บริษัทวิจิตรภัณฑ์และพวกทำคำให้การแก้คำขอพิจารณาคดีใหม่แล้ว ฉะนั้น คดีจึงอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีใหม่ ซึ่งหากมีการบังคับดคีต่อไปแล้วและในชั้นสุดท้าย กระทรวงการคลังกับกรมควบคุมมลพิษเป็นฝ่ายชนะคดี การบังคับคดีก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป กรณีจึงมีเหตุผลสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ก่อนได้ตามนัยมาตรา 75/1 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. จัดต้้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 ประกอบมาตรา 292 วรรคหนึ่ง (2) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

สำหรับข้ออ้างของบริษัท วิจิตรภัณฑ์ฯ กับพวก ที่ว่า หากศาลปกครองสูงสุดเห็นควรงดการบังคับคดี บริษัท วิจิตรภัณฑ์ฯ กับพวก ขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้กระทรวงคลัง และกรมควบคุมมลพิษนำเงินงวดที่ 2 และงวดที่ 3 ที่จะต้องชำระตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดมาวางต่อศาล เพื่อที่จะไม่เป็นการยากแก่การบังคับคดีในภายหลังได้นั้น เห็นว่า ทั้งกระทรวงคลัง และ กรมควบคุมมลพิษต่างก็เป็นหน่วยงานของรัฐมีความน่าเชื่อถือในการปฏิบัติตามีคำพิพากษา ซึ่งจะไม่เป็นการยากแก่การบังคับคดีในภายหลัง กรณีจึงไม่จำเป็นต้องมีคำสั่งให้กระทรวงคลัง และ กรมควบคุมมลพิษ นำเงินที่ต้องชำระตามคำพิพากษาชองศาลปกครองสูงสุดมาวางต่อศาลแต่อย่างใด ดังนั้น การที่ศาลปครองกลางมีคำสั่งให้การบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดนั้นศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย

สำหรับค่าเสียหายกรณีการยกเลิกสัญญาก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาเมื่อปี 2557 ให้รัฐต้องจ่ายตามคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการนั้นรวมกว่า 9 พันล้าน โดยกรมควบคุมมลพิษได้มีการจ่ายงวดแรกไปแล้ว โดยก่อนหน้านี้ กรมควบคุมมลพิษได้มีการชำระเงินงวดแรกให้บริษัทไปเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 58 เป็นเงิน 3,174,581,566.04 บาท และ 21,713,855.40 ดอลลาร์สหรัฐฯ

ต่อมา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พร้อมกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้มีหนังสือขอให้สำนักงาน ปปง. ใช้อำนาจยึดหรืออายัดทรัพย์สินผู้ร่วมกระทำความผิดคดีคลองด่าน รวมทั้งสิทธิในการรับเงินค่าเสียหายจากการยกเลิกโครงการ ทำให้เงินงวดที่ 2 และงวดที่ 3 จำนวนงวดละ 2,380,936,174.53 บาท และ 16,288,391,55 เหรียญสหรัฐฯ รวมเกือบ 6 พันล้านบาท ไม่มีการจ่าย และถ้าเป็นไปตามคำสั่งก็จะต้องรอผลการพิจารณาคดีใหม่ที่ศาลปกครองรับไว้พิจารณาวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น