xs
xsm
sm
md
lg

“บุญทรง” แห้วรอบสาม ศาล ปค.ยกคำร้องขอทุเลาคำสั่งอายัดทรัพย์ ชี้เจ้าตัวไม่เดือดร้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ (แฟ้มภาพ)
อดีต รมว.พาณิชย์ เผยยื่นศาลปกครองรอบที่ 3 ขอทุเลาคำสั่งอายัดทรัพย์ทุจริตจำนำข้าว หลังถูกกรมบังคับคดีอายัดเพิ่มที่ดิน-บัญชีเงินฝาก 8 บัญชี เปิดคำสั่งศาลปกครองยกคำขอทุเลาฯ อายัดล่าสุด ชี้เอาที่ดินจำนองแล้ว เงินสด เงินฝาก นาฬิกาข้อมือที่แจ้ง ป.ป.ช. ถอน-ขายใช้หมด จึงฟังไม่ได้ว่าถ้าไม่ทุเลาจะเดือดร้อนเสียหายจนยากเยียวยาภายหลัง

วันนี้ (27 ก.ค.) นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มอบหมายให้ทนายความไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอทุเลาคำสั่งอายัดทรัพย์ใหม่อีกครั้ง กรณีมีคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ที่ 453/2559 ลงวันที่ 19 กันยายน 2559 ให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐในโครงการรับจำนำข้าว หลังจากที่กรมบังคับคดีมีการอายัดทรัพย์สินเพิ่มเติมทั้งที่ดินและบัญชีเงินฝากอีก 8 บัญชี รวมถึงทรัพย์สินของภรรยาด้วย ทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาในภายหลัง โดยไม่ถือว่าเป็นการยื่นซ้ำ เนื่องจากศาลปกครองได้แจ้งไว้ว่าหากมีกรณีที่ถูกอายัดทรัพย์เพิ่มสามารถยื่นคำร้องขอทุเลาคำสั่งอายัดทรัพย์สินนั้นมาที่ศาลปกครองใหม่ได้

ทั้งนี้ การยื่นคำขอทุเลาคำสั่งอายัดทรัพย์ของนายบุญทรงรอบนี้ ถือเป็นครั้งที่ 3 โดยก่อนหน้านี้ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งยกคำขอทุเลาฯ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 ก.พ. ด้วยเหตุผลว่าขณะนั้นกระทรวงการคลังและกรมบังคับคดียังไม่ได้มีการยึดอายัดทรัพย์สินจริง ต่อมานายบุญทรงได้มีการยื่นคำขอทุเลาฯ ครั้งที่ 2 วันที่ 28 ก.พ.เมื่อกรมบังคับคดีเริ่มมีการยึดอายัดทรัพย์ ซึ่งศาลปกครองกลางก็ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมาโดยยกคำร้องขอเช่นเดิม เป็นการยกคำขอใน 4 คำร้องของนายบุญทรงที่ถูกเรียกค่าเสียหาย 1,770 ล้านบาท นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ, นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และนายอัฐฐิติพงศ์ ทีปวัชระ อดีตผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ ที่ถูกเรียกค่าเสียหายรายละประมาณ 4 พันล้านบาท รวมความเสียหายทั้งหมดกว่า 2 หมื่นล้านบาท ด้วยเหตุผลในลักษณะเดียวกันว่ายังไม่ปรากฏว่ามีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินเพื่อขายทอดตลาด จึงไม่มีเหตุทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาในภายหลัง

ทั้งนี้ ในคำสั่งยกคำขอทุเลาของนายบุญทรงนั้น นายบุญทรงระบุเหตุผลในการยื่นคำขอทุเลาฯ ว่าถูกอายัดบัญชีและทรัพย์สินตามที่เคยยื่นไว้ต่อ ป.ป.ช.และชี้แจงต่อศาลว่าไม่ได้ประกอบอาชีพและไม่มีรายได้อื่น ส่วนเงินสด เงินฝาก นาฬิกาข้อมือทั้งของตัวเองและภริยาที่ยื่นทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.ก็ได้ถอนและนำทรัพย์เหล่านั้นออกจำหน่ายนำเงินมาใช้จ่ายจนหมดสิ้นแล้ว อีกทั้งมีภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเดือนละประมาณ 1 แสนบาท แต่จากการไต่สวนของศาลพบว่ากรมบังคับคดีใช้มาตรการบังคับทางปกครองโดยอายัดเฉพาะสิทธิเรียกร้องในบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย สาขารัฐสภา บัญชีเลขที่ 089-1-03761 ซึ่งก็มีเงินอยู่เล็กน้อยเพียง 2,744.46 บาทเท่านั้น ไม่ปรากฏว่ามีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินอย่างอื่นของนายบุญทรงเพื่อขายทอดตลาด อีกทั้งนายบุญทรงอาศัยอยู่กับมารดาจึงไม่ใช่ทรัพย์สินของนายบุญทรง ทั้งยังไม่ปรากฏว่านายบุญทรงครอบครองอสังหาริมทรัพย์ที่จะถูกยึดหรืออายัดเพื่อขายทอดตลาด มีเพียงที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 662 ต.สมอโคต อ.บ้านตาก จ.ตาก ของภรรยานายบุญทรงที่ซื้อมาตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งอาจเป็นสินสมรส มูลค่าประมาณ 2.5 แสนบาท แต่ที่ดินดังกล่าวก็มีการจำนองต่อบุคคลภายนอกไปแล้ว ในขณะที่เงินสด เงินฝาก นาฬิกาข้อมือ ที่แสดงทรัพย์สินไว้ต่อ ป.ป.ช.ก็มีการถอนเงินฝากและนำทรัพย์สินออกจำหน่ายเพื่อนำเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นหมดสิ้นแล้ว จึงฟังไม่ได้ว่าหากศาลไม่มีคำสั่งทุเลาการยึดอายัดทรัพย์ดังกล่าวไว้ก่อนจะทำให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายร้ายแรงแก่นายบุญทรงจนยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง จึงให้ยกคำร้อง

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาแนวทางที่กรมบังคับคดี และกระทรวงการคลัง ชี้แจงคัดค้านการขอทุเลาคำสั่งอายัดทรัพย์ในกรณีนายบุญทรงกับพวก ก็คาดว่าที่ศาลปกครองกลางแจ้งให้หน่วยงานดังกล่าวทำคำชี้แจงคัดค้านคำขอทุเลาคำสั่งอายัดทรัพย์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีมีคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ ที่ 453/2559 ลงวันที่ 19 กันยายน 2559 ให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐในโครงการรับจำนำข้าว 3.5 หมื่นล้าน กลับมาภายใน 15 วันนับแต่วันที่ 24 ก.ค.นั้น ทั้งกรมบังคับคดี และกระทรวงการคลังน่าจะอ้างเหตุผลคัดค้านเช่นเดียวกับที่ใช้อ้างในกรณีของนายบุญทรงกับพวก ว่าคำสั่งกระทรวงพาณิชย์และการอายัดทรัพย์นั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว หากมีการทุเลาคำสั่งอายัดทรัพย์อาจทำให้เกิดการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินจนไม่สามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนให้รัฐได้เนื่องจากมูลค่าความเสียหายสูงมาก อีกทั้งแม้ว่าศาลจะมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายหน่วยงานรัฐก็สามารถเยียวยาได้ ไม่ได้ทำให้เกิดเหตุที่ยากแก่การเยียวยาในภายหลังแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น