xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” ชี้ยึดทรัพย์ “ปู” คนละส่วนกับคดีในศาลฎีกา ยันแค่ฟรีซ รับถอนแล้ว 5 บัญชีรวมเงินหลักแสน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
รองนายกรัฐมนตรี ชี้บังคับคดีทางปกครองคนละส่วนกับคดี “ยิ่งลักษณ์” ในศาลฎีกา เผยเงินฝาก อสังหาริมทรัพย์แค่อายัดไว้ยังไม่ยึด รับกรมบังคับคดีถอนเงินแล้ว 5 บัญชี รวมเงินหลักแสน จากที่ยึดไว้ 16 บัญชี ชี้หากศาลปกครองสั่งทุเลาก็ต้องหยุด แต่ให้เบรกไว้รอคำพิพากษาก่อนแล้ว ยังไม่ได้ตรวจทรัพย์ที่อยู่กับคนอื่น

วันนี้ (27 ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกรมบังคับคดีอายัดเงินฝากในธนาคารของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าต้องเข้าใจก่อนว่ามีอยู่หลายคดี คดีอาญาของนักการเมืองนั้นไปขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่จะตัดสินในวันที่ 25 ส.ค.นี้ หากศาลฎีกาฯ ตัดสินว่ามีความผิดก็จะนำไปสู่การดำเนินคดีแพ่งต่อไป เรื่องการยึดทรัพย์ที่สื่อถามจากนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมานั้น นายกรัฐมนตรีคงเข้าใจว่าเป็นการยึดทรัพย์ในคดีที่อยู่ในศาลฎีกาแผนกของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ความจริงยังยึดไม่ได้จนกว่าศาลจะตัดสิน แล้วรอดูผลออกมาก่อนจะตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร

นายวิษณุกล่าวว่า แต่ในส่วนของการบังคับคดีปกครองที่พูดกันมาเป็นปีก่อนหน้านี้แล้ว จากการออกคำสั่งทางปกครองออกไปแล้วนั้น หลายคนพยายามมาถามตนว่าทำไปถึงไหนแล้ว จะยึดอะไร อย่างไรบ้าง ซึ่งตนก็บอกแล้วว่าถ้าพบก็ยึดและมีอายุความ 10 ปี จึงถือเป็นคนละส่วน ซึ่งถ้าพบก็ต้องดำเนินการยึดทรัพย์เลยมิฉะนั้นเจ้าหน้าที่จะถือว่าบกพร่อง ทั้งนี้ กระทรวงการคลังในฐานะเจ้าหนี้ของเรื่องดังกล่าวได้ตรวจสอบพบว่ามีทรัพย์สินบางส่วน จึงได้นำทรัพย์สินดังกล่าวออกมาแยกเป็น 2 ส่วน คือ 1. สังหาริมทรัพย์ ได้แก่ เงินฝากในธนาคารต่างๆ ที่ตอนนี้ตรวจพบแล้วว่ามีอยู่ 10-20 ธนาคาร รวมแล้วเป็นจำนวนเงินไม่มาก จำเป็นต้องถูกอายัดไว้ก่อน ถูกฟรีซเอาไว้ เพื่อไม่ให้มีการจำหน่ายจ่ายโอน แต่ยังไม่ถูกยึดมาเป็นของหลวง ในกรณีผู้ต้องหารายอื่นๆ ก็ถูกดำเนินการในลักษณะเดียวกันได้

2. อสังหาริมทรัพย์ คือที่ดิน บ้าน คอนโดมิเนียม เป็นต้น ก็ได้ถูกตรวจพบว่ามีประมาณ 37 รายการ โดยหน่วยงานเจ้าของเรื่องทราบดีว่ามีมูลค่าจำนวนหนึ่ง แต่ขอไม่ระบุตัวเลข ซึ่งกรมบังคับคดีได้ประสานงานกับกรมที่ดินเพื่อขอฟรีซทรัพย์นั้นไว้เช่นกัน เพื่อไม่ให้มีการทำธุรกรรม จำหน่าย จ่ายโอน แต่ยังไม่ถูกยึดเข้ารัฐเช่นกัน และยังไม่ถูกนำมาขายทอดตลาด และยังเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลนั้นอยู่เช่นเดิม เพียงแต่กรมบังคับคดีแจ้งให้กรมที่ดินทราบว่ามีรายการใดบ้างที่ถูกตรวจพบ

ผู้สื่อข่าวถามว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ระบุว่าเงินในบัญชีได้ถูกอายัดและถูกถอนออกจากบัญชีไปแล้ว นายวิษณุกล่าวว่า เงินที่ถูกอายัดไว้นั้นมี 16 บัญชี โดย 5 บัญชีรวมแล้วมีเงินเป็นหลักแสนบาท ซึ่งถูกกรมบังคับคดีถอนออกมาก่อนถือเป็นอำนาจตามกฎหมาย แต่ยังไม่ได้ถูกส่งเข้าคลังทันที ทรัพย์ยังอยู่ที่กรมบังคับคดี เนื่องจากเป็นการยึดตามคำสั่งทางคดีปกครอง อย่างไรก็ตาม ที่เหลืออีก 11 บัญชีนั้นยังไม่มีการแตะต้องแต่อย่างใด

เมื่อถามว่า หากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรวงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่มีความผิด จะได้รับเงินที่ถูกกรมบังคับคดีถอดออกไปนั้นกลับคืนหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เป็นคนละส่วนกัน ระหว่างคำตัดสินของศาลดังกล่าวในวันที่ 25 ส.ค. กับคดีแพ่ง ขณะเดียวกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ไปยื่นขอทุเลาการบังคับคดี แต่ตอนนั้นศาลไม่รับด้วยเหตุว่าขณะนั้นยังไม่มีการยึดทรัพย์ใดๆ จึงไม่ต้องทุเลาการบังคับคดี แต่ขณะนี้ได้เริ่มมีการบังคับคดีแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็มีสิทธิไปยื่นขอทุเลาการบังคับคดีต่อศาลปกครองได้ ถือเป็นผลดีต่อตัวเขาเอง จากนั้นอยู่ที่ศาลปกครองจะทุเลาการบังคับคดีหรือไม่ และหากศาลปกครองสั่งทุเลาการบังคับคดีดังกล่าวแล้ว ทางกรมบังคับคดีก็ต้องหยุดการดำเนินการทั้งหมด ทั้งสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์

นายวิษณุกล่าวว่า แต่ถ้าศาลปกครองสั่งไม่ทุเลาทางกรมบังคับคดีก็ดำเนินการต่อไปได้ตามกฎหมาย แต่ได้มีการหารือกันแล้วว่าจะยังไม่ทำอะไรอีกในช่วงนี้ จนกว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะมีคำตัดสินในวันที่ 25 ส.ค. อย่างน้อยการทำเช่นนี้ได้ทำให้รู้ว่าทรัพย์สินทั้งหมดในชื่อของน.ส.ยิ่งลักษณ์ มีทรัพย์อะไรบ้าง อยู่ที่ใดบ้าง และมีมูลค่าเท่าใด ส่วนทรัพย์สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่อาจอยู่ในชื่อบุคคลอื่นทางกรมบังคับคดียังไม่เข้าไปตรวจสอบ ส่วนจะไปดำเนินการตรวจสอบเมื่อใดนั้นตนไม่ทราบ

เมื่อถามว่า อาจถูกมองว่ากรมบังคับคดีใช้เวลาในการสืบทรัพย์นาน แต่เพิ่งมาสืบพบในช่วงเวลาที่ใกล้จะตัดสินคดีในวันที่ 25 ส.ค. นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ได้เกี่ยวกัน เพราะอยู่ที่ว่ากรมบังคับคดีจะสืบทรัพย์พบเมื่อใด เมื่อสืบพบก็ต้องดำเนินการโดยทันทีตามกฎหมาย ถือเป็นเรื่องปกติ ทั้งนี้ กระทรวงการคลังไปแจ้งกรมที่ดิน ธนาคารต่างๆ ตั้งแต่ยังไม่รู้ว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะนัดวันอ่านคำพิพากษาในวันใด เมื่อออกมาเป็นอย่างนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไร
กำลังโหลดความคิดเห็น