xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ถาม “เทือก” หนุน “บิ๊กตู่” ต้องตั้งพรรคใหม่หรือไม่ รับกระทบฐานเสียงเดียวกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
หัวหน้า ปชป.เผยยังไม่ได้คุย “พิชัย” ปมรัฐบาลแห่งชาติ ย้ำผู้สนับสนุนพรรคกังวล กปปส.ตั้งพรรค เหตุฐานเสียงเดียวกัน ถาม “สุเทพ” หนุน “ประยุทธ์” นั่งนายกฯ ต่อ ต้องตั้งพรรคใหม่หรือไม่ จี้ยึดโรดแมปอย่าบิดพลิ้ว มองสัมพันธ์ต่างชาติยังไม่ปกติจนกว่ามีเลือกตั้ง นักลงทุนไม่มั่นใจเพราะหวั่นใช้ ม.44

วันนี้ (14 ก.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ยังไม่ได้คุยกับนายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เกี่ยวกับข้อเสนอรัฐบาลแห่งชาติ และความจริงวันเสาร์ที่ 16 ก.ย.นี้ก็ตั้งใจที่จะไปกราบเนื่องในวันคล้ายวันเกิดท่าน ทั้งนี้ นายพิชัยเคยเสนอเกี่ยวกับการแก้ความขัดแย้งหลายครั้งโดยให้พรรคการเมืองจับมือกัน แต่ล่าสุดดูเหมือนจะบวกทหารเข้าไปด้วย

เมื่อถามว่ามีความกังวลในท่าทีของ กปปส.ที่จะตั้งพรรคการเมืองใหม่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า คนกังวล คือผู้สนับสนุน เพราะว่าหลายคนเป็นผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ แล้วก็เคยร่วมสนับสนุนเคลื่อนไหวอยู่กับ กปปส. พอมีข่าวเรื่องการตั้งพรรคย่อมต้องกังวล ไม่สบายใจเป็นธรรมดา

ถามต่อว่า กรณีฐานเสียงเดียวกันเกรงว่าจะเลือกกันไม่ถูกหรือไม่ และโอกาสในการตั้งพรรคมีมากหรือน้อย นายอภิสิทธิ์ชี้แจงว่า “ที่กังวลก็จะเป็นแบบนั้นแหละครับ แต่ว่าเป็นเรื่องการตัดสินใจของแต่ละบุคคล แต่ละกลุ่มไป ส่วนโอกาสตั้งพรรคใหม่ ถามผมไม่ได้” กล่าว และว่าการที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิ กปปส.แสดงท่าทีว่าประสงค์จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หลังเลือกตั้ง จึงอยู่ที่ว่าท่านจะมองว่าการที่จะทำงานนี้ การตั้งพรรคนั้นเป็นวิธีการที่เหมาะสมหรือไม่ เป็นเรื่องที่นายสุเทพจะต้องพิจารณา

นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า วันนี้เราจะยึดตามกรอบโรดแมป ตามกฎหมายกำหนดไว้ ผู้ที่มีหน้าที่เดินตามนี้ อย่าบิดพลิ้ว ขณะเดียวกันก็ทำงานเพื่อให้มีการเลือกตั้ง ทั้งนี้ เมื่อคำนวณแล้วจะเกิดขึ้นช่วงปีหน้า ปลายปีหน้า มันให้คำตอบแก่สังคมที่ดีที่สุด

นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงกรณีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย กับจุดประกายทางเศรษฐกิจว่า รัฐบาลตั้งใจดี มีนโยบายหลายเรื่องทิศทางถูกต้อง แต่ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า 1. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยังไม่กลับเข้าสู่สภาวะหรือระดับปกติจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง หลายประเทศมีการกำหนดระดับความสัมพันธ์ เศรษฐกิจเราก็เป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาต่างประเทศ เพราะฉะนั้นตรงนี้ปฏิเสธไม่ได้ 2. นักลงทุนมองว่าประเทศไทยเป็นสภาวะชั่วคราว ไม่ใช่ระบบถาวร อีกทั้งมองว่าการมีมาตรา 44 ทำให้เขาไม่สามารถมั่นใจได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเราอาจจะใช้มาตรา 44 แก้กฎหมายออกคำสั่งทางฝ่ายบริหาร รวมไปถึงแม้กระทั่งมีผลในเชิงอำนาจทางตุลาการยังได้เลย อันนี้ก็เป็นปัญหา และ 3. ระบบปัจจุบันที่ไม่มีผู้แทนของประชาชน บรรยากาศที่ยังไม่สามารถทำให้เกิดการมีส่วนร่วมตามปกติ ประกอบกับการตอบสนองความต้องการของประชาชนยังยาก เศรษฐกิจฟื้นแต่คนทั่วไปไม่ฟื้น
กำลังโหลดความคิดเห็น