xs
xsm
sm
md
lg

พันธมิตรฯ แถลงจี้ ป.ป.ช.อุทธรณ์คดี 7 ตุลาฯ พร้อมขอส่งทีมกฎหมายร่วมทำงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พันธมิตรฯ” แถลงจี้ ป.ป.ช.ประชุุมยื่นอุทธรณ์คดีสลายชุมนุม 7 ตุลาฯ 51 พร้อมขอขยายเวลาดำเนินการอุทธรณ์ออกไป 1 เดือน หลังคำพิพากษาฉบับเต็มเพิ่งออก เพื่อความละเอียดรอบคอบ และขอให้ทีมกฎหมายพันธมิตรฯ ร่วมทำงานกับทีมกฎหมาย ป.ป.ช. มอบหมาย “วีระ สมความคิด” ยื่นหนังสือถึง ป.ป.ช.จันทร์ที่ 28 ส.ค.นี้




เมื่อเวลาประมาณ 11.30 น.วันนี้ ภายหลังจากการหารือของอดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่บ้านพระอาทิตย์ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกพันธมิตรฯ ได้อ่านแถลงการณ์ฉบับที่ 2/2560 คณะทำงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เรื่อง เรียกร้องรักษาความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมและความมั่นคง จากการเพิกเฉยการอุทธรณ์คดีการสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ถึงการปล่อยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลบหนีอาญาแผ่นดินโดยในประเด็นการอุทธรณ์คดีการสลายการชุมนุมวันที่ 7 ตุลาคม 2551 นั้น มีใจความว่า

จากการที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ร่วมกันสลายการชุมนุมและไม่ดำเนินการระงับยับยั้งเป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 83

“ต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้พิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ โดยสรุปว่าจำเลยทั้ง ๔ ไม่ได้มีเจตนาพิเศษเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปทำร้ายผู้ชุมนุมให้ได้รับอันตรายแก่กายและเสียชีวิต จำเลยทั้ง ๔ จึงไม่มีความผิดฐานเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด

ต่อมาเมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๐ คณะทำงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ออกแถลงการณ์ในฉบับที่ ๑/๒๕๖๐ เรียกร้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้ทำการอุทธรณ์คดีดังกล่าวต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้ทันภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่มีการพิพากษาดังกล่าว

บัดนี้เวลาได้ผ่านไป ๒๔ วันแล้ว ยังไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจะได้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งๆที่ได้รับคำพิพากษาฉบับเต็มและคำวินิจฉัยส่วนตนในคดีดังกล่าวตั้งแต่วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ผู้เสียหาย ทนายความ และพี่น้องประชาชนมีความเป็นห่วงว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติอาจจะไม่เอาจริงเอาจังในการอุทธรณ์คดีดังกล่าวนี้ให้ทันเวลา หรือไม่ดำเนินการอุทธรณ์อย่างรัดกุมและมีประสิทธิภาพหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในสังคมต่างรับทราบว่ามีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติบางคนมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจำเลยในคดีดังกล่าวนี้

หากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ดำเนินการด้วยการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ด้วยการไม่อุทธรณ์ก็ดี อุทธรณ์ไม่ทันเวลาก็ดี หรืออุทธรณ์ด้วยเนื้อหาที่ขาดความละเอียดรอบคอบก็ดี ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม สร้างบาดแผลร้าวลึกในจิตใจของประชาชนจนไม่สามารถจะเกิดความปรองดองในสังคมไทยได้

ทั้งนี้เมื่อคำพิพากษาฉบับเต็มในคดีดังกล่าวได้เผยแพร่มาแล้ว ก็พบอย่างชัดเจนว่าคำตัดสินในคดีดังกล่าวไม่เป็นเอกฉันท์ และคำพิพากษาเสียงข้างน้อยก็มีเนื้อหา รายละเอียด และน้ำหนักอยู่มาก จึงเป็นเหตุอันสมควรที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจะต้องอุทธรณ์เพื่อความเป็นธรรมให้กับผู้ที่เสียชีวิต พิการ และบาดเจ็บ จากการสลายการชุมนุมดังกล่าว

ทั้งนี้ เนื่องจากตามบทบัญญ้ติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๑๙๕ วรรคสี่ ได้บัญญัติว่า

"คำพิพากษาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่างทางการเมืองมีคำพิพากษา"

ประกอบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๕ วรรคสองและวรรคสามบัญญัติว่า

“สิทธิหรือเสรีภาพใดที่รัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ หรือให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ แม้ยังไม่มีการตรากฎหมายนั้นขึ้นใช้บังคับ บุคคลหรือชุมชนย่อมสามารถใช้สิทธิหรือเสรีภาพนั้นได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้”


ดังนั้น แม้จะยังไม่มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐ ประกาศใช้ ให้คู่ความสามารถใช้สิทธิในการอุทธรณ์คดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาได้ แต่ก็ไม่ได้ตัดสิทธิให้คู่ความยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดังนั้นคดีนี้จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติในการยื่นอุทธรณ์คดีดังกล่าวจนถึงที่สุดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คณะทำงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทนายความ ผู้เสียหาย และผู้ที่เกี่ยวข้องจึงมีมติดังนี้

๑.เรียกร้องขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้จัดประชุมเพื่อลงมติอุทธรณ์คดีการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑

๒.อาศัยกรณีที่คำพิพากษาฉบับเต็มและคำวินิจฉัยส่วนตนที่เพิ่งออกมาในวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๐ จึงย่อมทำให้การอุทธรณ์อย่างละเอียดรอบคอบ ไม่สามารถที่จะดำเนินการได้จริงในทางปฏิบัติให้ทันเวลาภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันพิพากษา หรือเสียสิทธิที่จะใช้เวลาให้ครบ ๓๐ วันในการเขียนคำอุทธรณ์นับแต่วันที่รับทราบคำพิพากษาฉบับเต็มตั้งแต่วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๐ อีกทั้งคณะทำงานด้านกฎหมายของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต้องการระยะเวลาเพื่อที่จะนำส่งข้อท้วงติงและการเสนอการอุทธรณ์ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในคดีสำคัญนี้ จึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในการขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก ๑ เดือน

๓.เพื่อความเชื่อมั่นในการทำงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และเพื่อให้การอุทธรณ์เป็นไปด้วยความละเอียดรอบคอบและมีข้อที่สมบูรณ์ในทางกฎหมายจากผู้เสียหายโดยตรง จึงขอเรียกร้องให้คณะทำงานและทีมกฎหมายของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานของทีมกฎหมายของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติมอบหมายให้นายวีระ สมความคิด เป็นตัวแทนส่งหนังสือให้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ในวันจันทร์ที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๐ เวลา ๑๐.๐๐ น.”










กำลังโหลดความคิดเห็น