เลขาฯ ศอตช.นำคณะลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงการออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบในพื้นที่ภูเรือกว่า 200 ไร่ ย้ำต้องเร่งดำเนินการหวังเป็นพื้นที่ต้นแบบแก้ปัญหา เผยที่ 4 แปลงปัญหาใช้เวลาตรวจสอบประมาณ 1 ปี
วันนี้ (21 ส.ค.) ที่ อ.ภูเรือ จ.เลย นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการ ป.ป.ท.ในฐานะเลขาธิการ ศอตช. ร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดเลย สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้เขต 6 (อุดรธานี) หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ 7 (ภูเรือ) และอำเภอภูเรือ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ท.ร่วมกันลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบเรื่องข้อเท็จจริง หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนการออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบในเขตพื้นที่ป่าภูเขาหนองปาด (ภูพ้อย) ต.ปลาบ่า อ.ภูเรือ จ.เลย โดยนายประยงค์กล่าวว่า เมื่อปี 2533 บริเวณดังกล่าวได้เคยมีการออกเอกสารสิทธิ น.ส.3 ก.มาแล้วจำนวน 51 แปลง เป็นเนื้อที่ 2296 ไร่ ต่อมาเมื่อปี 2547 กรมที่ดินได้มีคำสั่งที่ 2529/2547 เรื่องการเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ลงวันที่ 14 ก.ย. 2547ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ดังกล่าว จำนวน 49 แปลง เนื่องจากไม่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินจริง ประกอบกับที่ดินที่ออก น.ส.3 ก.เป็นที่ภูเขาหนองปาด ที่ศาลได้มีคำสั่งให้เพิกถอนการออกโฉนดเพราะไม่ได้เป็นที่ดินทำกินตามที่กฎหมายกำหนด และเป็นพื้นที่ภูเขา ตนก็ไม่เข้าใจว่าทำทั้งที่ศาลมีคำสั่งออกมาแล้วห้ามออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน แต่ต่อมาในวันที่ 27 มิ.ย. 2560 กลับมีการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยวิธีการเดินสำรวจและออกโฉนดที่ดินทับซ้อนกับพื้นที่เดียวกันกับกรมที่ดินเคยมีคำสั่งให้เพิกถอน น.ส.3 ก.มาแล้วจำนวน 6 แปลง เนื้อที่ 280-0-26 ไร่ โดยเป็นการออกโฉนดที่ดินแบบเดินสำรวจ ตามมาตรา 58 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน หลังจากนั้นเพียง 3 วันก็ได้โอนขายที่ดินทั้ง 6 แปลงดังกล่าวให้แก่บุคคลรายเดียว
ทั้งนี้ ตนในฐานะเลขาธิการ ศอตช.จึงเห็นควรว่าต้องรีบเร่งดำเนินการตรวจสอบเพื่อป้องกันไม่ให้มีการออกโฉนดขยายพื้นที่มากกว่านี้ เพราะภูเป็นเขตแหล่งป่าใหญ่ของชาติ และหวังว่าจะให้พื้นที่นี้เป็นต้นแบบการแก้ปัญหาของชาติ อย่างไรก็ตาม ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นหน้าที่ของ ป.ป.ท.ต้องรับไปดำเนินการหากพบว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐได้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินทั้ง 6 แปลง อันเป็นการกระทำทุจริตในภาครัฐแล้วจะนำเสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ท. เพื่อดำเนินการตาม พ.ร.บ.มารตการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551
สำหรับการลงพื้นที่ของชุดปฏิบัติการ ศอตช.ในครั้งนี้ นอกจากเป็นการตรวจสอบเพื่อดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดแล้ว ยังเป็นการขยายผลเพื่อป้องกันมิให้มีการนำรูปแบบการออกเอกสารสิทธิในลักษณะเดียวกันนี้ไปใช้ในการออกเอกสารสิทธิในพื้นที่ที่เคยถูกเพิกถอน น.ส.3 ก.ในพื้นที่อื่นอีกด้วย
“ตอนนี้ผมยังไม่สามารถระบุได้ว่า ที่ดิน 4 แปลงที่ทับพื้นที่ น.ส.3 ก.ที่ถูกเพิกถอนก่อนหน้าเป็นการออกโฉนดโดยมิชอบหรือไม่ ต้องมีกระบวนการตรวจสอบ หากพบว่ามีเจ้าหน้าของรัฐเข้าไปเกี่ยวในการออกโฉนดที่ดินจะดำเนินการ การตรวจสอบอาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปี” นายประยงค์กล่าว
พ.อ.สมศักดิ์ แจ่มพันธ์ รอง กอ.ร.มน.จ.เลย กล่าวว่า จากการที่ตนได้ส่งชุดสำรวจลงไปตรวจสอบในพื้นที่ดังกล่าวพบว่ามีการก่อสร้างบ้าน 4 หลังในพื้นที่ 4 แปลง และมีการตัดไม้ในบริเวณป่าดังกล่าวมากองไว้เต็มพื้นที่ แต่กลับไม่เจ้าของบ้านนอกจากคนดูแลสวนเท่านั้น โดยคนดูแลสวนได้ยืนยันว่าจะไม่มีรื้อถอนบ้านออกจากพื้นที่ และอ้างว่าที่ดินดังกล่าวมีหลักฐาน น.ส.ล.(หนังสือสำคัญที่หลวง) ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนที่มีการร้องเรียนว่ามีผู้ครอบครองที่ดินกว่าในพื้นที่ 3,000 ไร่นั้น ตนยังไม่ทราบรายชื่อผู้ครอบครองและจำนวนที่ดินที่แท้จริง ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบอีกครั้งก่อน
ด้านนายปิยภูมิ ถวิลไพร นักวิชาการที่ดินชำนาญการอำเภอภูเรือ จ.เลย กล่าวว่า โฉนดที่ดินที่ถูกศาลสั่งเพิกถอนเนื่องจากเป็นการนำหลักฐาน น.ส.2 ปลอมมาออกโฉนด ดังนั้น ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นที่ดินเปล่าไม่มีผู้ครอบครอง ทำให้ออกโฉนดได้ตามกฎกระทรวงฯ ฉบับที่ 43 หมวด 3 ข้อ 14 อย่างไรก็ตาม เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เพราะตนมารับตำแหน่งเพียง 2 วัน โดยหลักฐานในจอง น.ส.2 อยู่ในพื้นที่หมู่ 3 ต.หนองบัว ไม่ได้อยู่ในพื้นที่โครงการจัดให้ชาวนาชาวไร่ ตามมติ ครม.งบประมาณปี 2532 นั้น กำหนดเป็นพื้นที่หมู่ 7 ต.หนองบัว หรือที่เรียกกันว่าใบจองบินมา
นายกิตติ ยุทธคุณ นายอำเภอภูเรือ จ.เลย กล่าวว่า พื้นที่ 4 แปลงดังกล่าวมีทั้งในส่วนที่เป็นพื้นที่ก่อสร้างวัดซึ่งยังเป็นไม่ได้จดทะเบียนเป็นวัด จำนวน 2 แปลง เนื้อที่ 80 ไร่ และพื้นที่ที่เหลือก็ยังไม่ได้มีการดำเนินการก่อสร้างสิ่งถาวรแต่อย่างใด