xs
xsm
sm
md
lg

สตง.เบรก “เน็ตชายขอบ” 1.3 หมื่นล้าน กสทช.ไม่สน เดินหน้าเปิดประมูลแบ่งเค้ก 8 สัญญา ชงบอร์ดอนุมัติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สตง. ติดเบรกโครงการเน็ตหมู่บ้านชายขอบของ กสทช. หรือ USO มูลค่า 13,000 ล้าน ชี้ ซ้ำซ้อนเน็ตประชารัฐ ผูกปมปัญหาในอนาคต หวั่นรัฐต้องอุ้มเอกชนหลังสิ้นสัญญา 5 ปี แต่ กสทช. ไม่สนใจเดินหน้าประมูลไปเมื่อ 1 - 2 ส.ค. แบ่งเค้ก 8 สัญญา จ่อชงบอร์ด กสทช. อนุมัติก่อนเซ็นวันนี้ “กูรูไอที” ติง “ทีโอที” เอาคลื่น 2100 ไปใช้ประมูลแล้วคว้าถึง 3 สัญญา จะกระทบลูกค้า “เอไอเอส” ในอนาคต

วันนี้ (8 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 60 ที่ผ่านมา สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ ตผ 0027/3165 ถึง นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เกี่ยวกับโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หรือโครงการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ซึ่งใช้งบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (USO) ของทาง กสทช. โดยได้ตั้งข้อสังเกตหลายประเด็นที่ไม่สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) รวมทั้งบทบัญญัติเกี่ยวกับนโยบายแห่งรัฐที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ กสทช. พิจารณาทบทวนการดำเนินโครงการ USO ดังกล่าว

โดยหนังสือ สตง. ได้ระบุว่า โครงการ USO ในส่วนของโซน C+ จำนวน 3,920 หมู่บ้านของ กสทช. ที่ใช้งบประมาณจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมของผู้ประกอบการ ตามแผน USO 3 วงเงินประมาณ 2 หมื่นล้านบาทนั้น มีรูปแบบการดำเนินการที่อาจก่อให้เกิดปัญหาในอนาคต อาทิ การลงทุนด้านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) และการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Service) ซึ่ง กสทช. กำหนดรูปแบบการดำเนินการโดย กสทช. เป็นผู้ลงทุนสายเคเบิลใยแก้วนำแสงเข้าไปยังหมู่บ้านเป้าหมาย เพื่อให้บริการ Free WIFI (ในทางเทคนิคเรียกว่า Last Mile) โดยให้ผู้เข้าร่วมประกวดราคาลงทุนในส่วนของโครงข่ายแกนหลัก (Backbone Network) ซึ่งรูปแบบแตกต่างจากการลงทุนของกระทรวงดิจิทัลฯ ในโครงการเน็ตประชารัฐ ที่ทางกระทรวงลงทุน Backbone Network และให้ผู้ให้บริการลงทุนในส่วนของ Last Mile ที่จะเดินสายเข้าไปในหมู่บ้าน

หนังสือ สตง. ระบุอีกว่า ตามเงื่อนไขสัญญาของ กสทช. กับผู้ให้บริการ ระบุไว้ชัดเจนว่า เมื่อสิ้นสุดสัญญาจ้าง 5 ปี ผู้ให้บริการต้องโอนทรัพย์สินทั้งหมดให้กับ กสทช. แต่ในรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ไม่ได้ให้อำนาจ กสทช. ในการดูแลและบริหารจัดการทรัพย์สินโครงข่ายได้ เป็นเหตุให้ท้ายที่สุด กสทช. ต้องส่งมอบทรัพย์สินโครงข่ายให้กับรัฐเพื่อบริหารจัดการต่อ ซึ่งก็คือ กระทรวงดิจิทัลฯ จึงอาจเกิดปัญหาการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพในอนาคต เนื่องจาก Backbone Network ของโครงการ USO เป็นของผู้ให้บริการ แต่ Last Mile นั้น ทาง กสทช. ต้องโอนให้กระทรวงดิจิทัลฯ และเมื่อสิ้นสุดสัญญาจ้าง 5 ปี หากเอกชนเห็นว่าไม่สามารถทำกำไรได้ ก็อาจจะไม่บริหารต่อ ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชนผ็ใช้บริการ หรือาจใช้ความเดือดร้อนของประชาชนมาเป็นเงื่อนไขต่อรองให้รัฐช่วยเหลือสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่อไป ก็จะเป็นภาระทางงบประมาณแผ่นดินอีก สตง. จึงมีความเห็นให้ กสทช. คำนึงถึงผลกระทบ นโยบายรัฐบาล และมติ ครม. ในการพิจารณาทบทวนการดำเนินโครงการนี้

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า สตง. ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ ตผ 0027/3189 ลงวันที่ 24 ก.ค. 60 ในเรื่องเดียวกันส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งรับผิดชอบ โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ (โครงการเน็ตประชารัฐ) ที่อาจมีความซ้ำซ้อนกับโครงการ USO ของ กสทช. ด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 1 - 2 ส.ค. ที่ผ่านมา กสทช. ก็ยังเดินหน้าเปิดประมูลโครงการ USO จำนวน 3,920 หมู่บ้าน แบ่งเป็น 8 สัญญา วงเงิน 13,614.61 ล้านบาท โดย นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ได้ออกมาเปิดเผยผลประมูลเบื้องต้น ว่า มีการเสนอราคาต่ำสุด 12,989.68 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 624.93 ล้านบาท หรือ 4.59% โดย บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (ทีโอที) ได้ 3 สัญญา กลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ทรู) ได้ 3 สัญญา บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (แคท) ได้ 1 สัญญา และ บริษัท อินเตอร์ลิงค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) (ไอเน็ต) ได้ 1 สัญญา ขณะที่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (เอไอเอส) ที่เข้าร่วมประมูลนั้นไม่ได้แม้แต่สัญญาเดียว

นายฐากร ระบุอีกว่า เตรียมเสนอผลการประมูลโครงการ USO ดังกล่าวให้บอร์ด กสทช. พิจารณาในวันที่ 9 ส.ค. 60 นี้ เพื่อให้ทันลงนามสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างภายในเดือน ส.ค. นี้ และเริ่มทยอยติดตั้งในเดือน ก.ย. และภายในเดือน ธ.ค. 2560 ซึ่งจะต้องติดตั้งได้ไม่น้อยกว่า 15% หรือราว 600 หมู่บ้าน และจะติดตั้งให้ครบ 3,920 หมู่บ้าน ภายในเดือน ก.ย. 2561 ด้วย

อีกด้านแหล่งข่าวด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร ระบุว่า มีการตั้งข้อสังเกตมาก่อนหน้านี้แล้วว่าโครงการ USO ของ กสทช. นั้น มีหลายส่วนที่ซ้ำซ้อนกับโครงการเน็ตประชารัฐ ก็ได้มีการเสนอให้พิจารณาทบทวน เพื่อให้ทั้ง 2 โครงการ มีความสอดคล้องและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งในส่วนของโครงการเน็ตประชารัฐในความรับผิดชอบของกระทรวงดิจิทัลฯ ที่จะเป็นแกนหลักในภาพรวมของโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ มีปัญหาล่าช้ากว่ากำหนด จนส่งผลให้มีการปรับเปลี่ยนปลัดกระทรวงไปหลายราย อีกทั้งโครงการเน็ตประชารัฐ จำนวน 19,652 หมู่บ้าน ที่แบ่งเป็นพื้นที่ชนบท 15,732 หมู่บ้าน และพื้นที่ชายขอบ 3,920 หมู่บ้าน ซึ่งแบ่งมาให้ กสทช. รับผิดชอบนั้นก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ในส่วนของ 15,732 หมู่บ้านในชนบท แต่ กสทช. กลับพยายามเร่งโครงการหมู่บ้านชายขอบ 3,920 แห่งก่อน ทั้งที่ผลการศึกษาที่ กสทช. ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยรัฐแห่งหนึ่งทำนั้นก็มีประเด็นท้วงติงในหลายจุด โดยเฉพาะการเลือกสำรวจข้อมูลจากจำนวนเสาสัญญาณเดิมของทีโอที แต่ไม่นำข้อมูลเสาสัญญาณของผู้ให้บริหารรายอื่นมาประกอบ ส่งผลให้มีจำนวนหมู่บ้านชายขอบถึง 3,920 หมู่บ้าน และมีการตั้งวงเงินงบประมาณไว้ถึง 13,000 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับวงเงินงบประมาณ 15,000 ล้านบาท ของเน็ตประชารัฐ 24,700 หมู่บ้าน ในความรับผิดชอบของกระทรวงดิจิทัลฯ ซึ่งหากพิจารณาโดยรายละเอียดจากเสาสัญญาณของ 2 โอเปอเรเตอร์ใหญ่ของไทย คือ ทรู และ เอไอเอส ก็เชื่อว่าจำนวนหมู่บ้านชายขอบคงไม่มากเท่ากับข้อสรุปของ กสทช.

แหล่งข่าวรายเดิมระบุต่อไปว่า จากจำนวน 3,920 หมู่บ้านชายขอบนั้น จะมีบางส่วนที่ผู้ให้บริการที่เข้าร่วมประกวดราคาไม่ต้องดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณใหม่ โดยสามารถใช้เสาสัญญาณที่มีอยู่เดิมได้เลย ซึ่งก็จะเหมือนเป็นการเปิดช่องให้ผู้ให้บริการได้รับงบประมาณจาก กสทช. ฟรีๆ แบบไม่ต้องทำอะไรเลย ซึ่งก็มาจากการสรุปผลการศึกษาที่ไม่ละเอียด และเข้าข่ายเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ให้บริการแบบไม่ชอบมาพากล หรือการที่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (ทีโอที) ประมูลได้ถึง 3 จาก 8 สัญญานั้นก็มีข้อสงสัยว่า ทางทีโอทีจะใช้คลื่นความถี่ใดในการให้บริการ เพราะคลื่น 2100MHz ของทีโอทีในปัจจุบันก็มีการโรมมิ่งสัญญาณอยู่กับทางเอไอเอส ซึ่งหากมีการขยายไปใช้ในส่วนของเน็ตหมู่บ้านชายขอบ ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของผู้ใช้บริการเอไอเอสในอนาคต นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตในร่างข้อตกลงหรือทีโออาร์ของโครงการเน็ตหมู่บ้านชายขอบ ที่มองได้ว่า เขียนไว้ในลักษณะล็อกสเปกอุปกรณ์บางรายการ ที่ต้องไปจัดหาจากบริษัทเอกชนรายหนึ่งแต่เพียงผู้เดียวอย่างเห็นได้ชัดด้วย



กำลังโหลดความคิดเห็น