อยากตบมือให้เสียงดังไปถึงแจ้งวัฒนะ “ฐากร” แย้ม เน็ตชายขอบประชาชนตามบ้าน ต้องได้ใช้ฟรี 3 เดือน ยินดีนำเงิน USO จ่ายให้เอกชนแทนแค่ 120 ล้านบาทต่อเดือน หวังเพิ่มโอกาสประชาชน 6 แสนครัวเรือน เข้าถึงอินเทอร์เน็ต เตรียมเสนอบอร์ด กสทช. ก่อนแจ้งเพื่อทราบต่อบอร์ดดีอี 1 ก.ย. นี้ หวังนายกฯ มอบเป็นของขวัญประชาชนช่วงปีใหม่ คาด 15 ธ.ค. นี้ ขยายได้ 15% เข้าถึง 600 หมู่บ้าน จาก 3,920 หมู่บ้าน ก่อนจะขยายครบ 100% เดือน ก.ค. 2561
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงค่าบริการอินเทอร์เน็ตจากต้นสายไปยังบ้านของประชาชนในโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ 3,920 หมู่บ้านว่า จะทดลองให้ใช้ฟรีก่อนเป็นเวลา 3 เดือน จากนั้น อาจจะพิจารณาขยายเป็น 6 เดือน โดยคาดว่าจะเริ่มได้ในวันที่ 15 ธันวาคม 2560 ที่มีการขยายไปยังพื้นที่หมู่บ้านเป้าหมายแล้ว 15% ก่อนจะขยายครบ 100% เดือนกรกฎาคม 2561 โดย กสทช. จะใช้เงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (USO) ในการจ่ายเงินให้กับผู้ให้บริการที่ขยายพื้นที่ในเขตนั้น ๆ แทนประชาชนเอง
เนื่องจากเห็นว่าใช้งบประมาณไม่มาก หากคิดจากครัวเรือนที่มีอยู่จำนวน 3,920 หมู่บ้าน พบว่ามีครัวเรือนอยู่ประมาณ 600,000 ครัวเรือน หากคำนวณการคิดค่าบริการที่ผู้ให้บริการต้องคิดกับประชาชนอยู่ที่ 200 บาทต่อเดือน ก็จะใช้งบประมาณเพียง 120 ล้านบาทต่อเดือนเท่านั้น แต่สร้างประโอกาสเข้าถึงอินเทอร์เน็ตให้กับประชาชนในการสร้างเศรษฐกิจระดับชุมชนได้มหาศาล คาดว่าจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมกสทช.ก่อน แจ้งเพื่อทราบในที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ซึ่งจะมีประชุมในวันที่ 1 กันยายน 2560
“บอร์ดดีอี มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ผมก็หวังว่า โครงการนี้จะเป็นสิ่งที่เข้าถึงประชาชนได้ดี และถือเป็นของขวัญชิ้นหนึ่งที่นายกฯ จะมอบให้ประชาชนในช่วงปีใหม่ เพราะในเดือนธันวาคม จะมีหมู่บ้านที่ได้รับการขยายเน็ตชายขอบนี้ 15% คิดเป็น 600 หมู่บ้าน”
สำหรับเอกชนที่ยื่นเอกสารเพื่อร่วมประกวดราคาโครงการดังกล่าวพบว่า ทุกรายที่ยื่นเข้ามาคุณสมบัติผ่านทุกราย และจะมีการประมูล โดยใช้วิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Auction ในวันที่ 1 สิงหาคม 2560 สำหรับสัญญาการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) และวันที่ 2 สิงหาคม 2560 สำหรับสัญญาการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Service) และจะสามารถลงนามสัญญากับผู้ชนะการประมูลได้ภายในสิ้นเดือนสิงหาคม
นายฐากร กล่าวว่า ส่วนราคากลางในแต่ละพื้นที่นั้น ประกอบด้วย 1. สัญญาการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง แบ่งเป็นพื้นที่กลุ่มที่ 1 (ภาคเหนือ 1) ราคากลาง 2,857 ล้านบาท, พื้นที่ กลุ่มที่ 2 (ภาคเหนือ 2) ราคากลาง 2,123 ล้านบาท, พื้นที่กลุ่มที่ 3 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ราคากลาง 2,542 ล้านบาท และพื้นที่กลุ่มที่ 4 (ภาคกลาง-ใต้) และกลุ่มที่ 5 (3 จ. ชายแดนใต้บวก 4 อ. สงขลา) ราคากลาง 1,888 ล้านบาท
2. สัญญาการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ แบ่งเป็นพื้นที่กลุ่มที่ 1 (ภาคเหนือ 1) ราคากลาง 2,120 ล้านบาท, พื้นที่ กลุ่มที่ 2 (ภาคเหนือ 2) ราคากลาง 904 ล้านบาท, พื้นที่กลุ่มที่ 3 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ราคากลาง 641 ล้านบาท และพื้นที่กลุ่มที่ 4 (ภาคกลาง-ใต้) และกลุ่มที่ 5 (3 จังหวัดชายแดนใต้บวก 4 อ. สงขลา) ราคากลาง 536 ล้านบาท
ขณะที่รายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติในการประกวดประกอบด้วย 1. พื้นที่โครงการภาคเหนือ 1 จำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน แบ่งเป็นสัญญาการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง มีผู้ยื่นซอง จำนวน 3 ราย ผ่านคุณสมบัติทั้ง 3 ราย ได้แก่ บริษัท อินเตอร์ลิงค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด และสัญญาการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีผู้ยื่นซอง จำนวน 3 ราย ผ่านคุณสมบัติทั้ง 3 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด
2. พื้นที่โครงการภาคเหนือ 2 จำนวน 9 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี แบ่งเป็นสัญญาการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง มีผู้ยื่นซอง จำนวน 2 ราย ผ่านคุณสมบัติทั้ง 2 ราย ได้แก่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด และสัญญาการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่มีผู้ยื่นซองจำนวน 4 ราย ผ่านคุณสมบัติทั้ง 4 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิว นิเคชั่น จำกัด
3. พื้นที่โครงการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 18 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บึงกาฬ บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองบัวลำภู อุดรธานี และอุบลราชธานี อุทัยธานี แบ่งเป็นสัญญาการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง มีผู้ยื่นซอง จำนวน 3 ราย ผ่านคุณสมบัติทั้ง 3 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด และสัญญาการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีผู้ยื่นซอง จำนวน 3 ราย ผ่านคุณสมบัติทั้ง 3 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด
4. พื้นที่โครงการภาคกลาง และภาคใต้ จำนวน 24 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ กาญจนบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี พังงา พัทลุง เพชรบุรี ระนอง ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สงขลา สตูล สระแก้ว สระบุรี สุพรรณบุรี และสุราษฎร์ธานี และพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้รวมถึง 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และอำเภอ จะนะ เทพา นาทวี สะบ้าย้อย แบ่งเป็นสัญญาการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง มีผู้ยื่นซอง จำนวน 3 ราย ผ่านคุณสมบัติทั้ง 3 ราย ได้แก่ บริษัท อินเตอร์ลิงค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด และสัญญาการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีผู้ยื่นซองจำนวน 4 ราย ผ่านคุณสมบัติทั้ง 4 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด