xs
xsm
sm
md
lg

ผลชี้ขาดพิรุธระบายข้าวสต๊อกรัฐ บทพิสูจน์ความโปร่งใสในยุค คสช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดวงพร รอดพยาธิ์
รายงานการเมือง - ปมร้อนระบายข้าวสต๊อกรัฐ หลายฝ่ายออกโรงแฉกระบวนการคัดเกรดข้าวส่อพิรุธ ตีข้าวดีเป็นข้าวเสีย กระชากราคาประมูลฮวบฮาบ ส่อเอื้อประโยชน์เอกชนบางราย ชี้ส่วนต่างหลักหมื่น-แสนล้าน แถมเสี่ยงถูกนำข้าวเน่ามาปนข้าวดีขายให้คนไทยกิน “บิ๊กรัฐบาล” หลับหูหลับตาโบ้ยเรื่องการเมือง โยงคดียิ่งลักษณ์ เจอฤทธิ์เอกชนไม่กลัวน้ำร้อน ยื่นศาลปกครองระงับการประมูล “ก.พาณิชย์” งัดศาลปกครอง แย้งคำสั่งระงับระบายข้าว

ช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการระบายข้าวในสต๊อกของรัฐบาลออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลักๆก็หนักไปในทางกล่าวหาการปฏิบัติที่ไม่ชอบมาพากลหรือส่อไปในทางทุจริต ทั้งจากฝ่ายการเมือง ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในส่วนของเจ้าของคลังหรือโกดังข้าว ที่ออกมาเรียกร้องรัฐบาลระงับการระบายข้าวในสต๊อก เนื่องจากมีข้อมูลว่า การดำเนินการในปัจจุบันของ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้ส่งผลเสียหายต่อภาครัฐอย่างมหาศาล

แต่แทนที่คนในรัฐบาลจะออกมารับลูกทำการตรวจสอบให้โปร่งใส กลับมีความพยายามสร้างความสับสนให้เกิดขึ้น โดยโยงเรื่องทั้งหมดให้เป็นเรื่องการเมือง เพื่อสร้างกระแสช่วย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่รอการพิจารณาคดีของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในวันที่ 25 ส.ค.นี้

และแม้ว่าโครงการระบายข้าวของรัฐบาลในขณะนี้ จะเป็นการขายข้าวเหลือ ข้าวเสีย ข้าวเน่า จากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็จริง หากแต่ความเป็นจริงต้องแยกแยะประเด็นเพื่อป้องกันการสับสนว่า เป็นคนละเรื่องกัน เพราะไม่ว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ จะทำการทุจริตเสียหายอย่างไร หรือใครต้องรับโทษตามกฎหมายบ้าง ก็เป็นเรื่องที่รอการพิจารณาของศาลฎีกาฯอยู่แล้ว

แต่การระบายข้าวในโครงการรับจำนำข้าวที่เหลือมาถึงมือรัฐบาลชุดนี้ ที่มีหน้าที่ต้องระบายขายออกมา และนำเงินกลับคืนสู่รัฐบาล หากมีการทำทุจริต ทำให้รัฐเสียประโยชน์ รัฐบาลชุดนี้ต้องรับผิดชอบ

ดังนั้นจึงไม่สามารถเชื่อมโยงไปถึงการทุจริตของรัฐบาลที่แล้วได้

เรื่องที่น่าสนใจ และรัฐบาลนี้ยังตอบคำถามไม่ได้ มีอยู่หลายส่วนด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการคัดเกรดคุณภาพข้าว ที่มีการแบ่งข้าวที่เหลือ 18 ล้านตัน ออกเป็น 3 กอง หรือ 3 เกรด ได้แก่ เกรดเอ กองข้าวบริโภคที่คนกินได้ เกรดบี กองข้าวเพื่ออาหารสัตว์ และเกรดซี กองที่คนหรือสัตว์กินไม่ได้ เป็นข้าวอุตสาหกรรม หรือข้าวเพื่อพลังงาน โดยแต่ละเกรดก็มีรายละเอียดการนำออกประมูลขายและราคาที่แตกต่างกัน

ซึ่งก็มีคำถามว่า กระบวนการคัดเกรดคุณภาพข้าว หรือการแบ่งกองข้าว ที่ผ่านมานั้นสุจริตหรือไม่ อย่างกรณี น.ส.อิศราภรณ์ คงฉวี กรรมการผู้จัดการคลังวรโชติ (หลัง 2) ต.ยี่ล้น อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ในฐานะตัวแทนของโกดังข้าว 8 แห่ง ที่ได้ยื่นหนังสือคัดค้าน และร้องต่อหน่วยงานรัฐให้มีการตรวจสอบคุณภาพข้าวสารในคลังวรโชติ 2 ซึ่งเป็นข้าวในสต๊อกของรัฐบาล ที่มีที่มาจากโครงการรับจำนำข้าว โดยข้าวจากคลังดังกล่าวถูกตรวจสอบคุณภาพ และประมูลขายเป็นอาหารสัตว์ ทั้งที่มั่นใจว่าข้าวสารในโกดังเป็นข้าวสารที่มีคุณภาพดี หรือข้าวที่คนบริโภคได้

เป็นที่มาของคำถามว่า การคัดเกรดเอาข้าวดีที่คนกินได้ ไปไว้ในกองอื่นเพื่อให้มีราคาถูก เอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ที่มาซื้อที่อาจจะมีการฮั้วกันหรือไม่?
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีความไม่ชอบมาพากลในรูปแบบอื่นๆอีก อาทิ การประมูลข้าวเกรดเอ หรือข้าวเพื่อการบริโภคที่พบว่า มีโรงสีหรือพ่อค้าข้าวมาประมูลได้ราคาสูง แต่หน่วยงานของรัฐกลับปล่อยให้ผู้ที่ประมูลได้ทิ้งสัญญา โดยไม่ได้ดำเนินการใดๆ ก่อนนำออกมาจัดประมูลใหม่ในราคาที่ถูกกกว่าเดิมอย่างมหาศาล หรือการที่กองข้าวที่ให้สัตว์กิน ที่เจาะจงต้องขายให้โรงงานอาหารสัตว์

แต่ปรากฎว่า ปล่อยให้โรงสีที่ไปขออนุญาตทำโรงงานอาหารสัตว์ก่อนการประมูลเพียงไม่กี่วัน เข้าร่วมประมูลและชนะการประมูลไป ทั้งๆที่หากตรวจสอบก็จะพบว่า หลายแห่งไม่มีศักยภาพ ไม่มีเครื่องจักรในการผลิตอาหารสัตว์จริงๆ

ขณะที่ กองข้าวอุตสาหกรรมที่คนหรือสัตว์กินไม่ได้ ก็ปล่อยให้โรงสีข้าวกลุ่มเดิมๆมาประมูลได้ไป ทั้งที่นำไปทำปุ๋ยไม่ได้ เพราะไม่คุ้มค่าการลงทุน และไม่มีศักยภาพในการกลั่นเป็นแอลกอฮอล์ เนื่องจากกลุ่มบริษัทที่ประมูลไปได้นั้น ไม่มีโรงกลั่นแอลกอฮอล์เลย

สิ่งที่น่าสะพรึงกลัวและก่อความเสียหายอย่างรุนแรงคือ พบว่ามีการนำข้าวเกรดบีและซีที่ประมูลจากสต๊อกรัฐไปได้ นำไปปลอมปนผสมกับข้าวดี นำกลับมาใส่กระสอบ ใส่ถุงให้คนกินหรือไม่

เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีกระบวนการติดตามเส้นทางของข้าว และเส้นทางการเงินการซื้อขายต่อไปของข้าวที่ให้สัตว์กิน และข้าวอุตสาหกรรม ว่าผู้ซื้อนำไปผลิตอาหารสัตว์ ทำปุ๋ย หรือกลั่นแอลกอฮอล์ ตามที่แจ้งวัตถุประสงค์ก่อนประมูลไปได้หรือไม่

การปล่อยปละอย่างนี้ ทำให้พ่อค้าในกลุ่มเดิมๆร่ำรวยเป็นหมื่นล้านบาท หรืออาจจะเป็นแสนล้านบาท จากส่วนต่างราคาข้าวบริโภค กับข้าวเพื่ออุตสาหกรรม ที่แตกต่างกันมากกว่าหนึ่งเท่าตัว

ในขณะที่ประชาชนไทยหรือประชาชนใรประเทศอื่นต้องรับกรรม มีความเสี่ยงต้องกินข้าวเสีย ข้าวเน่า ข้าวที่มีสารพิษ และอาจส่งผลถึงอันตรายต่อชีวิตด้วย
เรื่องแบบนี้รัฐบาลต้องรับผิดชอบ และทำหน้าที่ตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใส ไม่ใช่หลับหูหลับตามองว่าเป็นเรื่องการเมือง คอยตอบโต้แก้ตัว ตำหนิกล่าวร้ายคนให้ข่าว คนร้องเรียน ว่าหากประโยชน์ทางการเมือง โดยไม่เหลียวดู สาระของเรื่องเลวร้ายเหล่านี้เลย จนถูกมองว่าอาจจะมีผู้มีอำนาจในรัฐบาลมีส่วนในการหาประโยชน์จากเรื่องเหล่านี้

น่าสนใจว่าเรื่องเหล่านี้จะไม่ถูกเปิดเผยออกมา หากปล่อยให้คนมีอำนาจในรัฐบาล เจ้าหน้าที่ของรัฐและพ่อค้าข้าว เล่นละครซื้อขายได้ประโยชน์กันถ้วนหน้า โดยรัฐเป็นผู้เสียหายเป็นแสนๆล้านบาท เพราะไม่มีประชาชนคนไหนจะกล้าร้องเรียนกล่าวหารัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่เป็นรัฐบาลทหาร ที่คุมอำนาจเบ็ดเสร็จ ใช้อำนาจรัฐฏาธิปัตย์ทางบริหาร นิติบัญญัติ และทางศาลได้เอง

แต่ก็ยังโชคดีของประเทศไทยและคนไทย ที่มีหมูไม่กลัวน้ำร้อน ผู้ที่ไม่ยอมเป็นหมูในอวย อย่างกรณีที่ บริษัท ทีพีเค เอทานอล จำกัด ผู้ผลิตและมีโรงกลั่นแอลกอฮอล์จากพืชรายใหญ่ของประเทศ นำเรื่องไปยื่นต่อ ศาลปกครอง หลังถูก กรมการค้าต่างประเทศ ตัดสิทธิการทำสัญญาซื้อข้าวอุตสาหกรรมจำนวน 5.2 แสนตัน รวมทั้งตัดสิทธิการเข้าประมูล โดยถูกชี้ว่าเป็นผู้ขาดคุณสมบัติเสนอซื้อข้าวในสต๊อกรัฐ อีกด้วย

ทำให้ ศาลปกครอง มีคำสั่งเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา ให้ กรมการค้าต่างประเทศ ระงับกระบวนการประกวดราคาข้าวในสต๊อกรัฐบาล การทำสัญญากับบุคคล และนิติบุคคลรายอื่นไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด แต่ทาง กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ก็ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองนั้นไปแล้ว

มูลเหตุที่ทำให้ บ.ทีพีเคฯ ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเอทานอลขนาดใหญ่ ด้วยงบประมาณลงทุนกว่า 6 พันล้านบาท ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ ก็เนื่องจากการถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้เข้าทำสัญญาซื้อข้าวกองที่คนหรือสัตว์กินไม่ได้ จำนวน 5.2 แสนตัน ทั้งที่เป็นผ้เสนอราคาสูงที่สุด และถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้เข้าประมูลซื้อข้าวที่คนหรือสัตว์กินไม่ได้อีก 2 ล้านตัน โดยเจ้าหน้าที่กรมการค้าต่างประเทศแจ้งก่อนการประมูลเพียง 45 นาทีเท่านั้น

ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลของวงจรอุบาทว์มากยิ่งขึ้น

นอกเหนือจากนั้น การตัดสิทธิ บ.ทีพีเคฯนั้นในหนังสือของกรมการค้าต่างประเทศก็อ้างคำสั่งและความเห็นชอบของ พล.อ.ประยุทธื จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ฉัตรชัย สาลิกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานและรองประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (นบข.)
โดยยกเหตุผลว่า บ.ทีพีเคฯอยู่ในบัญชีดำ เพราะมีอดีตกรรมการบริษัท เคยเป็นกรรมการในบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งทำผิดสัญญาซื้อขายมันสำปะหลังกับรัฐบาล เมื่อ 20 ปีก่อน ตามที่รัฐบาลพยุงราคา และถูกปรับเป็นเงินไม่ถึงแสนบาท ทั้งที่ข้อเท็จจริงบริษัทนั้นยังไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล หรือทำให้รัฐบาลเสียหายเลยแม้แต่บาทเดียว และไม่เคยถูกทางการสั่งให้เป็นผู้ทิ้งงานหรือประกาศขึ้นบัญชีดำไว้เลย

คำถามตัวโตๆ จึงมีว่า ทำไมรัฐบาลต้องตัดสิทธิกีดกัน บ.ทีพีเคฯ ที่ให้ราคาสูงและแจ้งชัดเจนว่าจะนำข้าวส่วนนี้ไปเป็นวัตถุดิบผลิตแอลกอฮอล์ แต่กลับช่วยเหลือพ่อค้าข้าวที่บางแห่งมีประวัติการทำทุจริต ไม่มีเครื่องจักรจริง หรือกำลังผลิตเพียงพอ หรือแม้แต่ไม่มีพื้นที่ในการจัดเก็บข้าวตามจำนวนที่จะประมูลไปได้เลย

มองได้ว่า อาจจะหวาดระแวงว่า ความลับจะแตก กลัวการทุจริตถูกเปิดโปง เนื่องจาก บ.ทีพีเคฯ ไม่ได้เป็นพวกเดียวกัน

เมื่อ บ.ทีพีเคฯ ฟ้องขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครองกลาง และชี้ว่าการถูกตัดสิทธิไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นการนำเรื่องของนิติบุคคลแห่งหนึ่งที่ไม่เกี่ยวกัน และไม่ได้ทำความผิดร้ายแรงให้รัฐเสียหายมาตัดสิทธิ รวมทั้งยังไม่เปิดโอกาสให้ชี้แจงเหตุผลต่อผู้มีอำนาจ ในทางกลับกันไม่มีการตรวจคุณสมบัติผู้นำเสนอราครายอื่น ที่มีทั้งกรรมการต้องโทษทุจริต เคยทิ้งงานราชการแล้วเปลี่ยนชื่อบริษัท รวมทั้งการที่ไม่มีโรงงานขนาดพื้นที่เพียงพอ ล้วนแล้วแต่เป็นไปโดยความไม่ชอบทั้งสิ้น ทั้งหมดคือการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม

ซึ่งศาลปกครองกลาง ก็รับฟังและมีคำสั่งระงับขายข้าวชุดที่ บ.ทีพีเคฯ ประมูลได้และเข้าแข่งขันอยู่ไว้ก่อน เพราะหากไม่คุ้มครอง โดยให้ระงับการขายข้าวไว้ก่อน จะเกิดความเสียหายต่อผู้ฟ้องร้อง และจะไม่สามารถเยียวยาให้ความเป็นธรรมได้ในภายหลัง โดยที่ข้าวที่พิพาทกันเป็นข้าวที่ไม่ใช่เพื่อการบริโภคของคนหรือสัตว์ ซึ่งเก็บไว้นานแล้ว การเก็บต่อไปเพื่อการพิจารณาคดี ก็ไม่ส่งผลต่อคุณภาพข้าวมากนัก และไม่เป็นทำให้เป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของรัฐ หรือแก่การบริการสาธารณะ จึงมีคำสั่งให้ระงับการขายข้าวทั้ง 2 ชุดไว้ก่อน

เรื่องนี้น่าจะจบ เพื่อรอให้ศาลปกครองมีคำวินิจฉัยออกมา และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อโครงการที่จะมีผู้เข้าแข่งขันเสนอราคาซื้อข้าวจากรัฐบาลได้มากรายกว่านั้น อันเป็นหลักประกันว่า การขายข้าวจะได้ผู้ซื้อที่ผ่านการแข่งขันในราคาที่สูงที่สุดกับรัฐบาล

แต่กรมการค้าต่างประเทศ กลับไม่ยอมรับคำสั่ง ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลปกครองกลาง ด้วยข้ออ้างที่ว่า ต้องรีบขายข้าวตามโรดแมปของรัฐบาล หากขายช้าจะเสียหายค่าเช่าโกดัง และกระทบตลาดขายข้าวภายในประเทศ โดยการตัดสิทธิ บ.ทีพีเคฯ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามแนวทางที่เคยปฏิบัติมาตลอดที่ผ่านมาแล้ว

ซึ่งหากนำเหตุผลและหลักฐานที่ กรมการค้าต่างประเทศ ยื่นต่อศาลปกครองสูงสุดมาวิพากษ์วิจารณ์ก็จะพบจุดอ่อนมากมาย รวมทั้งยังเข้าข่ายเป็นความเห็นก้าวล่วงการใช้อำนาจของศาลอีกด้วย

ความน่าสนใจของเรื่องทั้งหมด จึงรอผลการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดที่มีขึ้นในเร็วๆนี้ ว่าจะให้โอกาส บ.ทีพีเคฯ เข้าไปสู้กับกลุ่มพ่อค้าข้าวผู้สร้างวงจรอุบาทว์หรือไม่ ปัญหาความไม่โปร่งใส หรือส่อไปในทางทุจริต จะมีเอกชนหรือประชาชนคนนอกเข้าไปตรวจสอบหรือไม่ รัฐบาลนี้ต้องเปิดหูเปิดตา เข้ารับผิดชอบเรื่องใดหรือไม่

คำสั่งศาลปกครองสูงสุด จะเป็นบทพิสูจน์จุดยืนของศาลปกครองในรัฐบาลทหารได้อย่างชัดเจน และแม้ว่าท้ายที่สุดคำวินิจฉัยอาจจะไปขัดแย้งกับแนวทางของผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาลก็ตาม แต่หากยึดความยุติธรรมที่เที่ยงตรง เอาผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ก็คงไม่ต้องไป "กลัวใครเสียหน้า."
ภาพประกอบข่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น