xs
xsm
sm
md
lg

“องอาจ” แนะ ป.ป.ช.ใช้สิทธิอุทธรณ์คดีสลาย พธม.ขจัดข้อสงสัยสร้างความเป็นธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
รองหัวหน้าพรรค ปชป. มอง รธน. เปิดช่องใช้สิทธิ์อุทธรณ์ ป.ป.ช. ควรทำในคดีสลายชุมนุม พธม. ขจัดข้อสงสัยให้กระจ่างชัด สร้างความเป็นธรรมทุกฝ่าย ชี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์สังคม ช่วยภาพลักษณ์ ป.ป.ช. ดีขึ้น

วันนี้ (6 ส.ค.) นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี ป.ป.ช. จะใช้สิทธิ์อุทธรณ์คำพิพากษาศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ยกฟ้องคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯปี 2551 หรือไม่ ว่า เมื่อมีคำพิพากษาออกมาย่อมมีผู้เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย เป็นเรื่องธรรมดา เพราะฉะนั้นการที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ตาม มาตรา 195 เปิดโอกาสให้มีการอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายใน 30 วัน ทาง ป.ป.ช. ก็ควรใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญอุทธรณ์ เพื่อให้มีคำพิพากษาที่ถึงที่สุด อันจะทำให้ทุกฝ่ายยอมรับในคำพิพากษาตามกระบวนการยุติธรรมการใช้สิทธิ์อุทธรณ์ของ ป.ป.ช. น่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่างๆ ดังนี้

1. เพื่อรักษาสิทธิ์ที่พึงมีตามรัฐธรรมนูญ
2. เพื่อให้ทุกภาคส่วนในสังคมหมดสิ้นข้อสงสัย
3. เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมที่ถูกกระทำจนได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิต และฝ่ายที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำทั้งระดับผู้บริหารประเทศ และผู้ปฏิบัติงาน
4. เพื่อให้เกิดความกระจ่างชัด ไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัยต่อการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช. เพราะที่ผ่านมา ป.ป.ช. ชุดที่มี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ เป็นประธาน ได้มีมติเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2559 ว่า ป.ป.ช. มีสิทธิ์ขอถอนฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จนมีการตั้งคณะทำงานพิจารณาถอนฟ้อง เพื่อพิจารณาหลักฐานใหม่ตามที่จำเลยยื่นเรื่องขอความเป็นธรรม ถึงแม้ในที่สุดแล้ว ป.ป.ช. ไม่ได้ถอนฟ้อง แต่การพิจารณาจะถอนฟ้องคดีของ ป.ป.ช. ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์พอสมควร

นายองอาจ กล่าวต่อไปว่า การยื่นอุทธรณ์ของ ป.ป.ช. จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างมาก เพราะเมื่อมีคำพิพากษาที่ถึงที่สุดออกมา จะทำให้เกิดข้อยุติ และเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วนในสังคม

นอกจากนั้น ยังทำให้เห็นว่า ป.ป.ช. ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ ช่วยทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อ ป.ป.ช. แต่ถ้า ป.ป.ช. ไม่ยื่นอุทธรณ์ เชื่อว่า ผู้คนในสังคมจะเกิดคำถาม เกิดความเคลือบแคลงสงสัยในการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช. ซึ่งไม่เกิดผลดีต่อ ป.ป.ช. และสังคมโดยรวมแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น