xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.ส่อถูกโละ! กรธ.ชี้สถานะยึดคุณสมบัติตาม รธน. เชื่อ กม.ลูกเสร็จตามกำหนด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นรชิต สิงหเสนี โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
โฆษก กรธ.เผยกำหนดหลักการสถานะ ป.ป.ช.ให้เป็นไปตามคุณสมบัติที่ รธน.กำหนด ส่อเสี่ยงพ้นจากตำแหน่งเพียบ พร้อมแจงคืบหน้าการทำกฎหมายลูกที่ผ่านไปครึ่งทางแล้ว 5 ฉบับ มั่นใจทั้ง 10 ฉบับทำเสร็จ 240 วันตามกำหนด

วันนี้ (4 ส.ค.) นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. กล่าวถึงความคืบหน้าการประชุมนอกสถานที่ที่จังหวัดระยอง ที่ผ่านไปแล้ว 1 วัน โดยระบุว่าการประชุมนอกสถานที่ถือเป็นความจำเป็นและคุ้มค่า เพื่อให้กรรมการทุกคนใช้เวลาร่วมกันได้เต็มที่ ทำให้พิจารณาหลักการของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ได้เสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่เมื่อคืนวานนี้ (3 ส.ค.) โดยจะกำหนดอำนาจหน้าที่ตามหลักการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ มีการกำหนดการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งการระบุเกี่ยวกับขั้นตอนการทำงานระหว่างกันขององค์กรอิสระ การกำหนดระยะเวลาไต่สวนสอบสวน กระบวนการรับผิดชอบหากปล่อยให้คดีหมดอายุความ รวมถึงกระบวนการตรวจสอบข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้วยการให้แจ้งบัญชีทรัพย์สินกับสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน รวมถึงสถานะของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันก็ให้เป็นไปตามคุณสมบัติที่รัฐธรรมนูญกำหนด เพราะเห็นว่ามีอำนาจในบางส่วนเพิ่มขึ้น มีการใช้บุคลากรเพิ่มเติมมากขึ้น ตลอดจนการทำงานเชิงรุก สามารถดำเนินการได้เมื่อปรากฏว่ามีเหตุทุจริต โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ร้อง

ส่วนประเด็นที่ยังไม่ได้ข้อสรุปในหลักการเกี่ยวกับร่างกฎหมายลูกว่าด้วย ป.ป.ช. คือ ประเด็น ป.ป.ช.จังหวัด เนื่องจาก กรธ.มองว่าไม่น่าจะมีขึ้นมา แต่ฝ่ายปฏิบัติคือคณะกรรมการ ป.ป.ช.เห็นว่ามีความจำเป็น จึงยังถือเป็นความเห็นที่ต่างกันอยู่ และประเด็นเกี่ยวกับอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในทางคดีระหว่างประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หาก กรธ.กำหนดให้สถานะของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่จะดำรงตำแหน่งต่อต้องเป็นไปตามคุณสมบัติที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ มีความเป็นไปได้ว่ากรรมการ ป.ป.ช.ส่วนใหญ่ล้วนมีความเสี่ยงที่จะพ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร ที่น่าจะได้ดำรงตำแหน่งต่อไปจนครบวาระ

นายนรชิตยังแถลงถึงความคืบหน้าการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญโดยสรุปว่า กรธ.ได้ส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาแล้ว 5 ฉบับ จากทั้งหมด 10 ฉบับ โดยร่าง พ.ร.ปว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ได้ผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายและสนช. มีมติให้ความเห็นชอบในขั้นสุดท้ายแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าทูล รวมถึงร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ไม่มีการทักท้วงให้จัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายเพื่อทบทวน ซึ่งก็อยู่ระหว่างขั้นตอนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เช่นกัน

ส่วนอีก 2 ฉบับที่ส่งให้ สนช.แล้ว คือ ร่าง พ.ร.ป.ผู้ตรวจการแผ่นดิน อยู่ระหว่าง สนช.ส่งมอบตัวร่างให้ กรธ. หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องมาทบทวนอีกครั้งหลังจากลงมติวาระ 3 แล้ว โดยคาดว่าจะได้รับตัวร่างวันที่ 7 ส.ค.นี้ และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการฯ โดยกรรมาธิการในส่วน กรธ.ก็ยืนยันหลักการที่ควรให้พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ เพราะการสรรหากรรมการชุดปัจจุบันไม่มีความหลากหลายตามหลักการที่สากลยอมรับ คาดว่าตัวร่างจะเสร็จและส่งให้ สนช.พิจารณารายมาตราในวาระ 2 และเห็นชอบร่างทั้งฉบับในวาระ 3 ช่วงกลางเดือนสิงหาคมนี้

ส่วนร่างกฎหมายลูกอีก 5 ฉบับ ที่ยังไม่ได้ส่ง สนช. โดยจะส่งให้ตามลำดับคือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินที่จะส่งให้ สนช.เร็วๆ นี้ ส่วนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญจะส่งให้ช่วงต้นเดือนกันยายน และตามด้วยร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ซึ่งร่างกฎหมายทั้ง 10 ฉบับจะสามารถจัดทำให้เสร็จในระยะเวลา 240 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
กำลังโหลดความคิดเห็น