“สมชัย” เตรียมยื่นศาล รธน.วินิจฉัยเซตซีโร่ กกต. หลัง สนช.คุ้มครองผู้ตรวจฯ ให้อยู่ครบวาระ โวยลิดรอนสิทธิ ไร้มาตรฐานออก กม. ร่อน จม.เปิดผนึก “พรเพชร” ตำหนิ สนช.หลายมาตรฐาน กรธ.ไม่ชัด ทำความเห็นแย้งหรือไม่ อ้างเป็นเสียงข้างน้อย แต่ยอมรับไม่รีเซตผู้ตรวจฯ ขัดหลักการที่วางไว้
วันนี้ (31 ก.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แสดงความผิดหวังต่อการทำหน้าที่ของ สนช.ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ให้ความคุ้มครองผู้ตรวจการแผ่นดินชุดปัจจุบันให้อยู่ในตำแหน่งจนครบวาระ แต่กลับให้เซตซีโร่ กกต. ซึ่งเป็นการใช้เหตุผลที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง จึงมิอาจเป็นแบบอย่างการออกกฎหมายที่ดีให้แก่สังคมไทยได้ เพราะเป็นการพิจารณาหลายมาตรฐาน
นายสมชัยระบุด้วยว่า ในการเซตซีโร่ กกต.มีการอ้างว่าเพื่อประโยชน์ของการปฏิรูปการเมือง ต้องการบุคคลที่มีคุณสมบัติสูงมาทำหน้าที่สำคัญ และเกรงว่าจะเกิดปัญหาปลาสองน้ำในการทำหน้าที่ ระหว่างคนที่มีคุณสมบัติต่างกันมาทำหน้าที่ในคณะกรรมการชุดเดียวกัน แต่ในวันที่ลงมติให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำรงตำแหน่งจนครบวาระ อ้างว่าบุคคลเหล่านี้มาตามรัฐธรรมนูญปี 2550 หากให้ออกหรือเซตซีโร่จะเป็นการลิดรอนสิทธิคนเหล่านี้ กลายเป็นว่าองค์กรหนึ่งมีกรรมการที่มีคุณสมบัติครบ 3-4 คนใน 5 คน ถูกให้ออกจากตำแหน่ง แต่อีกองค์กรหนึ่งที่คาดว่าผู้ดำรงตำแหน่งทั้งหมดน่าจะคุณสมบัติไม่ครบ กลับได้รับการลงมติให้อยู่ต่อไปจนครบวาระ
นายสมชัยยังระบุในจดหมายเปิดผนึกในเชิงน้อยใจว่า เป็นคนที่ให้ความเห็นต่อสาธารณะมากจนเป็นที่รำคาญของหลายคน แต่ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ออกกฎหมายจะหยิบมาเป็นประเด็นเขียนกฎหมายเพื่อเอาคนออกจากตำแหน่ง เพราะกฎหมายต้องไม่ออกเพื่อจัดการกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นการเฉพาะ และตามหลักการเห็นด้วยที่จะให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำรงตำแหน่งจนครบวาระ และอยากให้เป็นแนวทางปฏิบัติกับทุกองค์กรอิสระ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้สิ่งที่ปรารถนาไม่ได้ต้องการชัยชนะ แต่ต้องการสังคมที่ยึดหลักนิติรัฐ
นายสมชัยกล่าวว่า จะใช้สิทธิส่วนบุคคลยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยร่าง พ.ร.ป.คณะกรรมการการเลือกตั้งประเด็นเซตซีโร่ กกต. ซึ่งไม่จำเป็นต้องรอให้ร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ โดยเอกสารที่จะยื่นมีความสมบูรณ์แล้ว 80% คาดว่าน่าจะยื่นได้ภายในสองสัปดาห์นี้ เนื่องจากเห็นว่าเนื้อหาในการออกฎหมายดังกล่าวลิดรอนสิทธิส่วนบุคคล และเป็นการออกกฎหมายหลายมาตรฐาน แต่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญเพราะที่ยื่นเป็นการยื่นตามสิทธิ ยื่นแล้วไม่ได้คิดว่าจะต้องได้ผลอย่างไร แต่ต้องการให้หลักต่อสังคมว่าในการที่จะตรากฎหมายหรือจะทำอะไรต้องสมเหตุสมผลโดยขณะนี้ ทั้งนี้การตัดสินใจของตนเองไม่ได้มีการหารือกับ กกต.อีก 4 คนแต่อย่างใด
ด้านนายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ยอมรับว่าการที่ สนช.คุ้มครองให้ผู้ตรวจการแผ่นดินชุดปัจจุบันอยู่ต่อจนครบวาระ โดยไม่ให้กรรมการสรรหาเป็นผู้พิจารณาว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญปี 60 หรือไม่ เป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักการที่ กรธ.วางไว้ แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีการเสนอความเห็นแย้งไปยัง สนช.ว่าร่างกฎหมายดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะหากตั้งกรรมการธิการ 3 ฝ่าย ตัวแทนของ กรธ.5 คนจะเป็นเสียงข้างน้อย แต่ถ้าไม่เสนอความเห็นแย้งก็จะถูกมองว่าร่วมมือกับ สนช.คุ้มครองผู้ตรวจการแผ่นดินชุดปัจจุบัน ดังนั้นจึงต้องให้ที่ประชุม กรธ.พิจารณาหลังจากที่ได้รับร่างกฎหมายจาก สนช.แล้ว