xs
xsm
sm
md
lg

พันธมิตรฯ จ่อยื่นหนังสือ ป.ป.ช.บี้อุทธรณ์ศาลฎีกาคดี 7 ตุลา 51 จันทร์นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แถลงการณ์ยันเคารพคำพิพากษาศาลฎีกาคดี 7 ตุลา 51 แต่ไม่เห็นพ้อง ระบะคำพิพากษาคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง และขัดแย้งต่อคำวินิจฉัยของศาลปกครอง-กรรมการสิทธิมนุษยชนฯ จ่อให้ “วีระ” ยื่น ป.ป.ช.ชงอุทธรณ์จันทร์นี้ พร้อมตั้งคณะทำงานติดตามคดี



วันนี้ (4 ส.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 11.15 น. ที่บ้านพระอาทิตย์ เขตพระนคร นายพิภพ ธงไชย อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นายสุริยะใส กตศิลา อดีตผู้ประสานงานพันธมิตรฯ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกพันธมิตรฯ ออกแถลงการณ์หลังการประชุมอดีตแกนนำ และผู้เสียหายจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม 7 ตุลาคม 2551 โดยนายปานเทพได้อ่านแถลงการณ์พันธมิตรฯ ฉบับที่ 1/2560 แสดงจุดยืนต่อกรณีศาลฎีกาแผนกคกีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และพวกรวม 4 คน กรณีสลายการชุมนุมพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 มีใจความสรุปว่า

1. อดีตแกนนำพันธมิตรฯ ผู้เสียหาย และผู้เกี่ยวข้อง เคารพคำพิพากษาของศาลฯ แต่ไม่เห็นพ้องด้วย และเห็นว่าคำพิพากษามีความคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงหลายประการ ควรต้องมีการยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา รวมทั้งเห็นว่าคำพิพากษาดังกล่าวยังขัดแย้งต่อคำพิพากษาศาลปกครองกลาง มติ ป.ป.ช. คณะกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่มีคำวินจฉัยแล้วว่า การชุมนุมของพันธมิตรฯ เป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่การสลายการชุมนุมไม่เป็นไปตามหลักสากล มีการใช้อาวุธ ไม่ดำเนินการจากเบาไปหาหนัก ไม่เป็นไปตามหลักสากล มีการใช้ความรุนแรงตั้งแต่เช้าจดค่ำ แม้การประชุมรัฐสภาเสร็จสิ้นแล้ว สมาชิกออกจากรัฐสภาแล้ว ซึ่งทั้งสามองค์กรดังกล่าวได้ชี้ว่าจำเลยมีความผิดฐานปฏิบัติหน้าโดยมิชอบ จงใจกระทำต่อผู้ชุมนุมด้วยการละเมิดต่อผู้ชุมนุม

2. เห็นควรตั้งคณะทำงานติดตามการดำเนินคดีของ ป.ป.ช. สภาทนายความ และทนายความ เพื่อให้การดำเนินการยื่นอุทธรณ์ได้นำเสนอข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ถูกต้องสมบูรณ์ โดยมอบหมายให้นายวีระ สมความคิด เป็นหัวหน้าคณะทำงาน นายประพันธ์ คูณมี และนายสุริยะใส กตะศิลา เป็นคณะทำงาน

3. หากการดำเนินการตามข้อ 1 และ 2 ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมแก่พี่น้องประชาชน ผู้เสียหายและผู้ได้รับผลกระทบ พันธมิตรฯ จะทำทุกช่องทางกฎหมาย ทุกวิถีทาง เพื่อทวงคืนความเป็นธรรมให้พี่น้องประชาชนถึงที่สุด

4. มีมติมอบหมายให้นายวีระ สมความคิด และคณะ ในฐานะผู้ยื่นคำร้องเดิมต่อ ป.ป.ช. ได้เดินทางร่วมกับผู้เสียหาย และพี่น้องประชาชนผู้ห่วงใยต่อการดำเนินคดีนี้ ไปยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช.ในวันจันทร์ที่ 7 สิงหาคม 2560 เวลา 11.00 น.

นายปานเทพ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ในคดีนี้ ทนายพันธมิตรฯ ไม่มีโอกาสได้ซักค้านในคดีความนี้เลย เพราะเป็นคดีที่ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องโดยผ่านสภาทนายความ ซึ่งก็ได้มอบหมายทนายความที่ไม่ได้มีความคุ้นเคยหรือใกล้ชิดกับทางพันธมิตรฯ โดยตรง ดังนั้นการที่จะมีโอกาสซักค้าน หรือประเด็นข้อสงสัย จึงมีข้อจำกัดอยู่มาก ทั้งความผูกพัน ความเข้าใจ พยานหลักฐานที่มีอยู่ในมือของทนายพันธมิตรฯ ก็ไม่ได้มีโอกาสที่จะสู้ตามขั้นตอนปกติที่ควรจะต้องเป็น เพราะว่าโจทก์ฟ้องคือ ป.ป.ช.เพราะฉะนั้น ข้อสงสัยต่างๆ ที่ดูเหมือนจะขัดแย้งกันกับคำพิพากษาศาลปกครองกลางก็ดี หรือศาลต่างๆ ที่พิพากษาในพฤติการณ์ของพันธมิตรฯ รวมถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) คำวินิจฉัยของ ป.ป.ช.ความขัดแย้งเหล่านี้เพียงเพราะว่าเราไม่ได้มีโอกาสต่อสู้โต้แย้งในชั้นศาลตามขั้นตอนปกติ จึงต้องไปยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช.ในขณะเดียวกันก็ตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามการดำเนินการของทุกองค์กรที่ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม ว่าทำด้วยขั้นตอนอย่างไร และมีจุดที่ต้องท้วงติงอย่างไร

ด้านนายประพันธ์ คูณมี อดีตแกนนำพันธมิตรฯ กล่าวว่า ตนเคยเป็นทนายในคดีที่อัยการฟ้องแกนนำและผู้ชุมนุมในข้อหาก่อการจราจลวุ่นวายหน้ารัฐสภารวม 21 คน โดยโจทก์ได้นำ ส.ส.ในสภาเป็นพยานมา ซึ่งนายสุชาติ ลายน้ำเงิน อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย เป็นพยานปากเดียวที่เบิกความในทำนองผู้ชุมนุมตะโกนว่าฆ่ามัน แต่ไม่มีปรากฏในเทปบันทึกเสียงระหว่างการชุมนุม จึงเห็นว่าไม่มีเหตุอะไรที่จะนำมาวินิจฉัยในศาลได้เลยสำหรับคดีนี้ และข้อเท็จจริงก็ไม่มีอยู่ในสำนวน แต่ได้ยินเสียงมาจากตำรวจ เอามันให้ตายอยู่ได้อยู่ไป

นายประพันธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนการตั้งคณะทำงานขึ้่นมานั้น เพราะไม่แน่ใจว่าข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้นำเสนอศาลครบถ้วนหรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงค่อนข้างจะมีรายละเอียดหลักฐานที่สมบูรณ์ที่สุดในทางคดีอาญา ทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว จำนวนอาวุธ และวัตถุระเบิดที่เจ้าหน้าที่ได้นำมาใช้ และความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับวัตถุระเบิด ค่อนข้างสมบูรณ์ จึงต้องติดตามว่าจะมีการอุทธรณ์หรือไม่ และถ้าอุทธรณ์จะเขียนอย่างไร ข้อเสนอข้อเท็จจริงโดยครบถ้วนเพียงพอให้ศาลวินิจฉัยหรือไม่ หรือมีพฤติกรรมในลักษณะไม่นำเสนอข้อเท็จจริงที่ครบถ้วน เป็นเหตุให้ศาลวินิจฉัยในลักษณะที่ไม่ได้พยานหลักฐานเพียงพอต่อการพิจารณาคดี

ส่วนความกังวลต่อการดำเนินการของ ป.ป.ช.นั้น นายสุริยะใส กล่าวว่า ยังด่วนเกินไปที่จะคาดการณ์ล่วงหน้า เพราะยังอยู่ในกรอบเวลา และ ป.ป.ช.ก็บอกว่ารอคำพิพากษาฉบับเต็มก่อน ขั้นตอนการทำงานก็ต้องให้โอกาสเขา แต่ว่าช่องทางมันไม่ได้จบแค่นี้ คณะทำงานที่ตั้งขึ้นมาก็จะไปวางแนวทางว่ามีช่องทางอื่นหรือไม่ กระบวนการยังอีกยาว พร้อมฝากถึงพันธมิตรฯ อย่าเพิ่งหมดหวัง ประตูยังไม่ได้ปิด ความยุติธรรมยังต้องเรียกร้องกันต่อ ยังมีช่องทางอื่น ทั้งนี้ก็ต้องคำดูคำพิพากษาของศาลฎีกาก่อน

เมื่อถามว่า คำพิพากษาศาลฎีกา จะส่งผลถึงการวินิจฉัยคดีของศาลปกครองหรือไม่ นายสุริยะใส กล่าวว่า อันนี้เป็นโจทย์ของคนไทย ทั้งในเรื่องเขตอำนาจศาล คำพิพากษาที่ย้อนแย้งกันขององค์กรอิสระ ศาลตามรัฐธรรมนูญ และคำพิพากษาศาลปกครองกลางเขียนละเอียดมากเรื่องการปฏิบัติไม่เป็นไม่ตามหลักสากล ตนถึงบอกว่า อย่าอ่านเฉพาะคำพิพากษาวันที่ 2 สิงหา

นายประพันธ์ กล่าวเสริมว่า ทั้ง 2 ศาลต่างมีความเป็นอิสระ ข้อเท็จจริงในศาลฎีกาอาจจะรับฟังได้ในศาลปกครองแต่ไม่ต้องปฏิบัติตาม ไม่เหมือนศาลยุติธรรมที่ถ้าเป็นข้อเท็จจริงในคดีอาญาจะต้องไปรับฟังในคดีแพ่งได้

ด้านนายพิภพ กล่าวถึงความเป็นเอกภาพของพันธมิตรฯ ว่า ไม่มีปัญหาเพราะเรามีคดีร่วมกันเยอะแยะ เรามีความรับผิดชอบต่อประชาชนที่ร่วมต่อสู้กันมา ความมีเอกภาพยังมีอยู่ยืนยันได้



รายละเอียดแถลงการณ์ ฉบับที่ ๑/๒๕๖๐
อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
เรื่อง
จุดยืนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่างทางการเมือง เกี่ยวกับคดีการสลายการชุมนุมวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๑

จากกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ร่วมกันสลายการชุมนุมและไม่ดำเนินการระงับยับยั้งเป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗, ๘๓

ต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้พิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ โดยสรุปว่าผู้ชุมนุมไม่ได้ชุมนุมโดยสงบที่จะได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และจำเลยทั้ง ๔ ไม่ได้มีเจตนาพิเศษเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปทำร้ายผู้ชุมนุมให้ได้รับอันตรายแก่กายและเสียชีวิต จำเลยทั้ง ๔ จึงไม่มีความผิดฐานะเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดนั้น

อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ผู้เสียหาย และประจักษ์พยานผู้เกี่ยวข้อง จึงได้มาประชุมกันและมีมติดังต่อไปนี้

๑.อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ผู้เสียหาย และผู้เกี่ยวข้อง เคารพต่อคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ไม่เห็นพ้องด้วย และเห็นว่ามีความคาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงหลายประการ จึงมีความเห็นว่าคดีนี้สมควรต้องอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาต่อไป เพราะเห็นว่าคำพิพากษาดังกล่าว ขัดแย้งกับคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง, มติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และมติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ได้มีคำวินิจฉัยในกรณีดังกล่าวแล้วว่า การชุมนุมของประชาชนเป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มิได้ทำไปเพื่อประโยชน์ของตนเอง ในขณะที่การสลายการชุมนุมไม่ได้ปฏิบัติตามหลักมาตรฐานสากล เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการนำอาวุธและวัตถุระเบิดมาใช้ในการสลายการชุมนุมเป็นจำนวนมาก มิได้ปฏิบัติจากเบาไปหาหนัก มิได้ปฏิบัติตามแผนกรกฎ/๔๘ แต่อย่างใด อีกทั้งการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงได้เกิดขึ้นตลอดเวลาตั้งแต่เช้าจดค่ำ แม้ว่าจะมีการประชุมรัฐสภาเสร็จสิ้นแล้ว หรือแม้แต่สมาชิกรัฐสภาได้เดินทางออกจากรัฐสภาแล้ว ซึ่งขัดแย้งกับข้อกล่าวอ้างว่าต้องสลายการชุมนุมด้วยวิธีการดังกล่าวเพราะผู้ชุมนุมขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งทั้ง ๓ องค์กรดังกล่าวได้ชี้ว่าจำเลยมีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จงใจกระทำละเมิดต่อผู้ชุมนุม

๒.เห็นควรตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามการดำเนินคดีนี้ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สภาทนายความ และทนายความ เพื่อให้การดำเนินการอุทธรณ์ได้นำเสนอข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อความเป็นธรรมของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและล้มตาย จากการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยมอบหมายให้นายวีระ สมความคิด เป็นหัวหน้าคณะทำงาน นายประพันธุ์ คูณมี, นายสุริยะใส กตะศิลา เป็นคณะทำงานในกรณีนี้

๓.หากการดำเนินการดังกล่าวตามข้อ ๑ และ ๒ มิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมแก่พี่น้องประชาชนผู้ได้รับผลกระทบในเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็จะดำเนินการในทุกช่องทางทางกฎหมายทุกวิถีทางเพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้แก่พี่น้องประชาชนจนถึงที่สุด

๔.มีมติมอบหมายให้นายวีระ สมความคิด และคณะในฐานะผู้ยื่นคำร้องเดิมต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เดินทางร่วมกับผู้เสียหายและพี่น้องประชาชนที่มีความห่วงใยในคดีดังกล่าวนี้ ไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในวันจันทร์ที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ เวลา ๑๑.๐๐ น.

ด้วยจิตคารวะ

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
วันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๐
ณ บ้านพระอาทิตย์


















กำลังโหลดความคิดเห็น