xs
xsm
sm
md
lg

“วัชรพล” ก้นร้อน! สั่งหาเหตุถอนฟ้อง “สมชาย-บิ๊กจิ๋ว-พัชรวาท” คดี 7 ตุลาเลือดให้ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปูด “พัชรวาท - สมชาย - สุชาติ” ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมให้ ป.ป.ช. ถอนฟ้องคดี 7 ตุลา 51 “วัชรพล” เด้งลนลานสั่ง จนท. หาเหตุผลรองรับวุ่น ทั้งที่ กม. - ระเบียบไม่ให้อำนาจ ยังไปหยิบ ป.วิ อาญา มาอ้างเฉย แฉ จนท. ตอกกลับไม่สมควรถอน ขู่จะโดนคดีเสียเอง แต่ประธาน ป.ป.ช. ไม่สนสั่งเทียบยกฟ้อง “มาร์ค - เทือก - บิ๊กป๊อก” พิลึกศาลรับฟ้องเป็นปี จำเลยไม่เคยยื่นขอความเป็นธรรม พอ “บิ๊กกุ้ย” ขึ้นคุม ป.ป.ช. ปุ๊บ ส่งมาปั๊บ

วันนี้ (18 ม.ค.) แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกระแสข่าวที่ระบุว่า ที่ประชุม ป.ป.ช. ได้มีมติเพิ่มอำนาจ ป.ป.ช. ในการขอถอนฟ้องคดีความที่อยู่ในชั้นศาลได้ว่า ตามรายงานข่าวที่ออกไปนั้นยังไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยเมื่อวันที่ 12 เม.ย. ที่ผ่านมา ได้มีการประชุม ป.ป.ช. ชุดใหญ่ มี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. เป็นประธานในที่ประชุม และได้มีวาระการพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการถอนฟ้องคดีในชั้นศาลจริง แต่เป็นการพิจารณาเฉพาะกรณีที่มีผู้ยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมเข้ามา

โดยในวันนั้นเป็นการพิจารณาในคดีที่ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) เป็นจำเลยที่ 1 - 4 ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งศาลประทับรับฟ้องเป็นคดีไปแล้ว

“เหตุที่มีการนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม ป.ป.ช. เนื่องจากจำเลย 3 ราย ประกอบด้วย นายสมชาย, พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ ได้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมเข้ามา โดยอ้างเหตุผลในการไม่ฟ้องคดีของทางอัยการและคดีสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ที่ ป.ป.ช. ยกคำร้องแนบมาด้วย เมื่อมีการยื่นเรื่องเข้ามา ป.ป.ช. จึงต้องพิจารณาตามขั้นตอน โดยนำเรื่องเข้ามาพิจารณาในวาระจรเมื่อก่อนหยุดเทศกาลสงกรานต์” แหล่งข่าว ระบุ

แหล่งข่าวจาก ป.ป.ช. เปิดเผยด้วยว่า สำหรับการประชุมวาระดังกล่าวได้กำหนดกรอบการพิจารณาไว้ 2 ประเด็น คือ 1. อำนาจการถอนฟ้องตามกฎหมายของ ป.ป.ช. ว่า สามารถทำได้หรือไม่ และ 2. เหตุผลและความเหมาะสมในการพิจาณาเพื่อถอนฟ้อง ทั้งนี้ ในประเด็นเรื่องอำนาจตามกฎหมายนั้น ทางสำนักกฎหมายของ ป.ป.ช. ได้เสนอความเห็นแนบเข้ามาว่า สามารถทำได้หากพิจารณาเทียบเคียงกับหลักการถอนฟ้องคดีตามมาตรา 35 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ซึ่งระบุว่า โจทก์สามารถยื่นคำร้องขอถอนฟ้องในเวลาใดก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

ที่ประชุม ป.ป.ช. จึงมีมติ 6 ต่อ 1 เสียง เห็นชอบตามความเห็นของสำนักกฎหมาย มีเพียง นางสุภา ปิยะจิตติ เท่านั้น ที่ลงมติไม่เห็นด้วย ทั้งนี้ มีกรรมการ ป.ป.ช. เข้าร่วมประชุม 7 ราย สำหรับผู้ที่ขาดประชุมคือ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง และ นายณรงค์ รัฐอมฤต

แหล่งข่าวจาก ป.ป.ช. กล่าวต่อว่า หลังจากลงมติเห็นชอบในประเด็นแรกแล้ว ที่ประชุมก็ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ที่เคยร่วมดูแลสำนวนคดีดังกล่าวกลับไปพิจารณาว่า มีเหตุผลและความเหมาะสมอย่างไรในการถอนฟ้องคดีตามที่จำเลยขอความเป็นธรรมเข้ามา โดยไม่ได้กำหนดว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด ซึ่งในกรณีลักษณะนี้เชื่อว่าใช้เวลาพิจารณาไม่นาน เพราะเหตุผลที่จำเลยทั้ง 3 รายอ้างนั้น ก็เป็นความเห็นสั่งไม่ฟ้องของอัยการ

รวมทั้งขอให้เปรียบเทียบระหว่างกรณีสั่งสลายการชุมนุมทางการเมืองปี 2551 กับเหตุการณ์สั่งสลายการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 ที่มี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร แล้วเหตุใดคณะกรรมการ ป.ป.ช. ถึงมีมติยกคำร้องในคดีสลายชุมนุมปี 2553

แหล่งข่าวจาก ป.ป.ช. บอกด้วยว่า สาเหตุที่ พล.ต.อ.วัชรพล ได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. เป็นผู้พิจารณาเสนอความเห็นให้ที่ประชุม ป.ป.ช. นั้น เนื่องจากมองว่า กรรมการ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นผู้ที่เพิ่งมาดำรงตำแหน่ง ไม่ได้ดูแลคดีนี้มาตั้งแต่ต้น เกรงว่าหากให้กรรมการ ป.ป.ช. พิจารณากันเอง อาจมีมติที่ขัดกับแนวทางที่ ป.ป.ช. ชุดเก่าดำเนินการไว้ เพราะคดีนี้ ป.ป.ช. มีความเห็นให้ส่งฟ้องเอง หลังจากที่ทางอัยการมีความเห็นไม่ส่งฟ้อง

โดยเบื้องต้นในวันนี้ (18 เม.ย.) ซึ่งเป็นวันเปิดทำการวันแรก ทางเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ได้มีหนังสือตอบกลับไปยังประธาน ป.ป.ช. ว่า ไม่สมควรถอนฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า คำชี้แจงที่จำเลยทั้ง 3 รายยื่นเข้ามาแล้วอ้างว่าเป็นหลักฐานใหม่นั้น สามารถนำไปยื่นให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไต่สวนเพิ่มเติมได้ อีกทั้งหาก ป.ป.ช. ใช้ดุลพินิจถอนฟ้องคดีดังกล่าว อาจเข้าข่ายฐานกระทำผิดทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ และถูกฟ้องร้องเสียเอง

“เมื่อเจ้าหน้าที่มีคำเห็นว่าไม่สมควรถอนฟ้องแล้ว แต่ประธานก็ยังส่งเรื่องกลับไปให้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ทบทวน โดยให้ยึดเรื่องการเปรียบเทียบเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2551 และปี 2553 เป็นหลัก มากกว่าเรื่องอำนาจของ ป.ป.ช.” แหล่งข่าว กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) พ.ศ. 2542 ตลอดจนระเบียบของ ป.ป.ช. เอง ไม่ได้ระบุอำนาจหรือหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการถอนฟ้องของ ป.ป.ช. ไว้แต่อย่างใด จึงเป็นเหตุให้ทาง ป.ป.ช. หยิบยก มาตรา 35 ของ ป. วิอาญามาอ้างอิงแทน

อีกทั้งเป็นที่น่าสังเกตว่า คดีที่ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสมชาย, พล.อ.ชวลิต, พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2551 นั้น ป.ป.ช. ได้ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2558 ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งประทับรับฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำ อม. 2/2558 เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2558

แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจำเลยไม่ได้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมต่อ ป.ป.ช. แต่อย่างใด และเพิ่งยื่นก่อนวันที่ศาลนักเบิกพยานนัดแรกเมื่อวันที่ 8 เม.ย. ที่ผ่านมาไม่นาน ขณะที่ พล.ต.อ.วัชรพล ก็เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งประธาน ป.ป.ช. เมื่อช่วงต้นปี 2559 ที่ผ่านมา


กำลังโหลดความคิดเห็น