สนช.เคาะมติ 143 เสียง ผู้ตรวจฯ เฮ รอดเซตซีโร่ ต่ออายุนั่งเก้าอี้จนครบวาระ หลัง กมธ.ยอมแก้บทเฉพาะกาล อ้างรัฐธรรมนูญ ม.273 ให้ขอบเขตหน้าที่ลดลง แถมมีผลงาน ต่างชาติยกย่อง และคืนความเป็นธรรม
วันนี้ (27 ก.ค.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาแล้วเสร็จ โดยมี พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ประธาน กมธ.กล่าวรายงานว่า มีผู้เสนอคำแปรญัตติจำนวน 10 คน โดยพอใจกับการแก้ไขของ กมธ.2 คน ส่วนอีก 8 คนยังติดใจเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งต่อไปของผู้ตรวจฯ ซึ่งอยู่ในบทเฉพาะกาลมาตรา 56-59 นอกจากนี้ ทาง กมธ.วิสามัญพิจารณาแล้วเห็นควรตั้งข้อสังเกต 3 ประการ คือ 1. ตามมาตรา 18 วรรคหก กรณีผู้ตรวจการแผ่นดินพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่นนอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระให้ดำเนินการสรรหาผู้ตรวจการแผ่นดินภายใน 90 วันนับแต่วันที่ตำแหน่งว่างลง แต่หากมีกรณีทำให้ไม่อาจได้บุคคลมาเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็จะต้องดำเนินการใหม่โดยให้ถือว่าเป็นวันที่เริ่มดำเนินการใหม่และให้นับต่อไปอีก 90 วัน
2. ตามมาตรา 21 กำหนดห้ามไม่ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเข้ารับการศึกษาหรืออบรมในหลักสูตร หรือโครงการใดๆ นั้น ไม่รวมถึงผู้ตรวจการแผ่นดินเดินทางไปร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือเข้าร่วมการประชุมหารือเพื่อเป็นไปตามภารกิจอันเกี่ยวข้องกับหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งรับเชิญหรือประสารงานกับองค์กรระหว่างประเทศหรือประเทศต่างๆ และ 3. ในการกำหนดคุณสมบัติของผู้ตรวจการแผ่นดินตามมาตรา 8 ซึ่งเป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหา สมควรที่จะต้องพิจารณาและกำหนดแนวทางให้ชัดเจนและเกิดความรอบคอบ ทั้งนี้ ทาง กมธ.ได้นำความคิดเห็นและการวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากภาคส่วนต่างๆ จากทั้ง สนช. และข้อคิดเห็นของประชาชนมาประกอบการพิจารณาอย่างครบถ้วน
จากนั้นเป็นการพิจารณาในวาระ 2 เรียงลำดับมาตรา จนถึงบทเฉพาะกาลในมาตราที่ 56-58 เรื่องเกี่ยวกับสถานภาพของผู้ตรวจฯ ชุดปัจจุบัน โดย กมธ.ได้ยืนตามร่างเดิมที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอมา คือ ให้รีเซตผู้ที่มีคุณสมบัติขัดรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแน่ง แต่ปรากฏว่าสมาชิกได้เสนอแปรญัตติให้ผู้ตรวจฯ ชุดปัจจุบันอยู่ต่อจนครบวาระตามรัฐธรรมนูญเดิม ทำให้ที่ประชุมหายุติไม่ได้ ประธานจึงได้สั่งพักการประชุมเพื่อให้ กมธ.ได้หารือข้อสรุป
ต่อมาภายหลังจากการพักประชุมประมาณ 1 ชั่วโมง มีการประชุมอีกครั้งโดย กมธ.ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า กมธ.ยอมแก้ไขบทเฉพาะกาล สถานภาพของผู้ตรวจการแผ่นดินชุดปัจจุบัน จากเดิมที่ระบุให้ผู้ตรวจฯ ที่อยู่ในตำแหน่ง ก่อนที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ต้องพ้นจากตำแหน่งถ้ามีคุณสมบัติไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยแก้ไขเป็น ให้ผู้ตรวจฯ ที่อยู่ในตำแหน่งก่อนที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ สามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้จนครบวาระตามร่าง พ.ร.บ.ผู้ตรวจการแผ่นดิน 2552 โดยไม่นำมาตรา 8 ของร่าง พ.ร.บ.ผู้ตรวจการแผ่นดิน 2552 มาบังคับใช้
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สนช.กล่าวว่า การแก้ไขดังกล่าวเป็นลักษณะปล่อยให้อยู่ในตำแหน่งทั้งหมด เหตุใดจึงแตกต่างไปจากร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ที่ให้เซตซีโร่ทั้งหมด ซึ่งเป็นคำถามในสังคมต่อไปว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับไม่เหมือนกันใช่หรือไม่
ขณะที่ พล.ร.อ.จักรชัย ภู่เจริญยศ กมธ.ชี้แจงว่า เหตุผลในการปรับแก้เป็นไปตามอำนาจมาตรา 273 ของรัฐธรรมนูญ เราก็ไม่ได้พิจารณาที่ตัวบุคคล แต่เป็นเรื่องของขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญใหม่จะมีอำนาจหน้าที่ลดน้อยลงไปจากรัฐธรรมนูญปี 50 ขณะเดียวกันผู้ตรวจการชุดปัจจุบันได้รับประเมินผลงานจากสถาบันพระปกเกล้าว่ามีผลงานและได้รับการยกย่องจากองค์กรต่างประเทศ นอกจากนี้ถือเป็นการให้ความยุติธรรมและเป็นธรรมแก่ผู้ตรวจการแผ่นดินชุดปัจจุบันที่ได้รับการสรรหามาจากรัฐธรรมนูญปี 50 แต่ยังอยู่ไปครบวาระ 6 ปี
จากนั้นสมาชิกได้ลงมติเห็นชอบในวาระ 3 ด้วยคะแนน 143 งดออกเสียง 7 เสียง ไม่ลงมติ 1 เสียง เพื่อให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป พร้อมทั้งเห็นชอบในข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ