ผอ.โยธา กทม. ย้ำ คุ้มสุดๆ “โครงการสร้างสะพานเชื่อมศิริราช - ท่าพระจันทร์” ย้ำ อยู่ในแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ริมเจ้าพระยาตั้งแต่เริ่มแรก ออกแบบสอดคล้องทัศนียภาพแหล่งประวัติศาสตร์ เพิ่มทางเลือกในการเดินทาง เปิดบทสรุปเวทีสาธารณะ ระบุ “อยากให้โครงการนี้เกิดขึ้น” ในระดับเร็วที่สุด ร้อยละ 69.58 ในระดับปานกลาง ร้อยละ 29.72 และอยู่ในระดับไม่อยากให้เกิดขึ้น ร้อยละ 0.70
วันนี้ (18 ก.ค.) มีรายงานว่า นายณัฏฐ์ ศรีสุคนธนันท์ ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. ออกมาชี้แจงถึงกรณีที่มีการโพสต์ตั้งข้อสังเกตในโซเชียลมีเดีย กรณีแนวคิดการสร้างสะพานคนข้ามเชื่อมศิริราชกับท่าพระจันทร์ ว่า ไม่อยู่ในแผนแม่บทการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แสดงถึงการขาดการพิจารณาแผนแม่บทอย่างบูรณาการ อีกทั้งควรพิจารณาโครงข่ายการสัญจร และ สะพานคนข้ามนี้อาจกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ลดคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของเกาะรัตนโกสินทร์ และลดโอกาสที่เกาะจะขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้น
ข้อเท็จจริงแล้วโครงการสะพานคนเดินข้ามดังกล่าว เป็นโครงการที่บรรจุอยู่ในแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพมหานคร พื้นที่ที่ 2 ช่วงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ถึง
สะพานพระราม 3 แผนงานที่ 12 งานพัฒนาสะพานคนเดิน (Pedestrain Bridge) เพื่อเป็นสะพานคนเดิน ทางจักรยาน และทางผู้พิการ ซึ่งกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการสำรวจและออกแบบ โดยได้คำนึงถึงวิถีวัฒนธรรมไทย ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แหล่งประวัติศาสตร์ แหล่งโบราณคดีที่สำคัญ และทัศนียภาพโดยรอบ อีกทั้งมีความเชื่อมโยงกับสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นการเพิ่มทางเลือกในการข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่สะดวก ปลอดภัย ส่งเสริมการท่องเที่ยวและภาพลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร เป็นทางเลือกในการสัญจร
สอดคล้องกับแผนการแก้ไขปัญหาการจราจรในบริเวณโดยรอบโรงพยาบาลศิริราช และเพิ่มช่องทางการรับส่งผู้ป่วยเข้าสู่โรงพยาบาลศิริราชได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น อีกทั้งโครงการดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับโครงข่ายการสัญจรทางบกและโครงข่ายรถไฟฟ้าพื้นที่โดยรอบ ประกอบด้วย
1. โครงการต่อเชื่อมสะพานพระราม 8 กับถนนพรานนก - ถนนพุทธมณฑลสาย 4
2. งานขยายถนนอรุณอัมรินทร์ พร้อมทางขึ้น - ลง และทางยกระดับข้ามแยกศิริราช
3. งานขยายผิวจราจร สร้างทางกลับรถ ใต้สะพานอรุณอัมรินทร์
4. งานปรับปรุงโครงข่ายถนนบริเวรถนนริมคลองบางกอกน้อย
5. งาน Sky Walk และทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา
6. โครงการสะพานข้ามทางแยกทางรถไฟ
7. งานสร้างทางกลับรถใต้สะพานข้ามคลองบางกอกน้อย
8. งานขยายสะพานข้ามคลองบางกอกน้อย
9. โครงการสะพานข้ามทางแยกเลี้ยวขวา จากถนนจรัญสนิทวงศ์ เข้าถนนบางขุนนนท์
10. โครงการถนนพรานนก - พุทธมณฑลสาย 4
11. โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน
12. โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม
13. เส้นทางการเดินเรือของเรือด่วนเจ้าพระยา
14. เส้นทางจักรยานรอบเกาะรัตนโกสินทร์
สำหรับกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าการใช้งบประมาณในการดำเนินการโครงการจำนวน 1,700 ล้านบาท ควรศึกษาถึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของปริมาณนักท่องเที่ยว เพื่อให้คุ้มค่ากับการลงทุนนั้น ขอชี้แจงว่า กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการศึกษาและประเมินผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของปริมาณนักท่องเที่ยว เพื่อให้คุ้มค่ากับการลงทุน ได้แก่ ผลประโยชน์จากการลดเวลาการเดินทาง ซึ่งสามารถลดระยะเวลาในการเดินทางต่อคน - เที่ยวที่ 8.5 นาที คิดเป็นค่าใช้จ่าย 6.375 บาท/คน - เที่ยว ผลประโยชน์ด้านการจ้างงาน (Employment) เนื่องจากมีการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง มูลค่าทวีคูณงานก่อสร้าง (Construction Multiplier) และผลประโยชน์จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว (Tourist Spending) ส่งเสริมเส้นทางคนเดินและทางจักรยานท่องเที่ยว
โดยสามารถสรุปผลการวิเคราะห์ความคุ้มค่าด้านเศรษฐกิจของโครงการตามมูลค่าปัจจุบันสุทธิของโครงการ (NPV@ 12%) หรือเท่ากับ 373.94 ล้านบาท ทั้งนี้ ได้มีการวิเคราะห์ถึงผลตอบแทน หรือความคุ้มทุนต่อโครงการ (NPV) ทั้งในส่วนของเงินลงทุน และผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับในอนาคต ปรากฏว่า NPV เป็นบวกที่อัตรา 12% ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ถือว่าโครงการนี้จะให้ผลตอบแทนมากกว่าเงินลงทุน อัตราผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ (EIRR) เท่ากับ ร้อยละ 17.26 ซึ่งหาก EIRR เกินกว่าค่ามาตรฐาน ร้อยละ 9 ต่อปี ถือว่าเป็นโครงการที่ควรพิจารณาให้เกิดขึ้น อัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน (B/C) เท่ากับ 1.31 ซึ่งตามหลักการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ หาก B/C มากกว่า 1 ถือว่าคุ้มค่าการลงทุน, B/C เท่ากับ 1 ถือว่าเท่าทุน และ B/C น้อยกว่า 1 คือ ไม่คุ้มทุนหรือขาดทุน
มีรายงานว่า เมื่อต้นสัปดาห์ เพจ Friends of the River ของกลุ่มเพื่อนรักแม่น้ำ ตั้งข้อสังเกตต่อกรณีแนวคิดสร้างสะพานคนข้ามเชื่อมศิริราช กับท่าพระจันทร์ ว่า จากการดูแผนแม่บทของการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดย กทม. ไม่ปรากฏการกำหนดจุดของสะพานคนข้ามบริเวณนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการขาดการพิจารณาแผนแม่บทอย่างบูรณาการเพื่อนำมาสู่ข้อสรุปต่อการจัดทำสะพานคนข้าม
อีกทั้งการจัดทำสะพานดังกล่าวนี้ อาจต้องพิจารณาโครงข่ายการสัญจร และระบบรถไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคตประกอบด้วย พร้อมทั้งอยากให้คำนึงถึงด้วยว่าสะพานคนข้ามนี่อาจกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ลดคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของเกาะรัตนโกสินทร์ได้ และอาจลดโอกาสที่เกาะจะขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในอนาคตอีกด้วย
ส่วนเรื่องงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการโครงการนั้น สมควรที่จะมีความโปร่งใสเหมาะสม เพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่คุ้มค่า ควรศึกษาถึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่สะพานนี้จะสร้างให้เกิดขึ้นในย่านนั้นและการเพิ่มขึ้นของปริมาณนักท่องเที่ยวเพื่อให้สังคมแน่ใจว่าคุ้มค่ากับการลงทุนเงิน 1,700 ล้านบาทที่เสียไป มีการยกตัวอย่างกรณีศึกษาสะพานเมลิเนียม ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่มีความยาว 325 เมตร ใช้เงินลงทุน 970 ล้านบาท (เมื่อ 17 ปีที่แล้ว) โดยสะพานเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองการเข้าสู่ ค.ศ. 2000 และยังเป็นหนึ่งในแผนแม่บทของการฟื้นฟูเมืองเพื่อดึงการพัฒนาและกิจกรรมของเมืองอีกฝั่งสู่อีกฝั่ง โดยวางแผนการเชื่อมต่อการสัญจรและการใช้ประโยชน์ที่ดินควบคู่กันไป ตัวสะพานเองมีลักษณะบางเบาเพื่อลดผลกระทบต่อการเป็นสิ่งแปลกปลอมกับภูมิทัศน์เมืองโดยรอบ และให้คนที่อยู่บนสะพานสามารถมองเห็นทิวทัศน์รอบเมืองได้อย่างชัดเจนอีกด้วย
มีรายงานว่า โครงการนี้มีการว่าจ้างที่ปรึกษาศึกษาแล้ว 49,000,000 บาท มีการตั้งเวทีสาธารณะ ครั้งล่าสุด เมื่อปี 2559 ผู้เข้าร่วมประชุมมาจากภาคส่วนต่างๆ มีจำนวนทั้งสิ้น 306 คน (โดยแยกเป็นผู้เข้าร่วมประชุมมาจากภาคส่วนต่างๆ จำนวน 286 คน และคณะกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา จำนวน 20 คน) มีการทำความคิดเห็นในการจัดประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 (สรุปผลโครงการ) โครงการได้เปิดโอกาสให้ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะมากน้อยเพียงใดของผู้เข้าร่วมประชุมที่มีต่อการจัดประชุมครั้งนี้ : อยู่ในระดับเหมาะสมอย่างยิ่ง ร้อยละ 44.06 ในระดับเหมาะสม ร้อยละ 55.24 และไม่เหมาะสม ร้อยละ 0.70
ความคิดเห็นในการการสนับสนุนหรือเห็นด้วยกับโครงการของผู้เข้าร่วมประชุมในการสนับสนุน โครงการ : ส่วนมากอยู่ในระดับเห็นด้วย ร้อยละ 97.55 ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 1.05 และไม่มีความ คิดเห็น ร้อยละ 1.40
ความคิดเห็นในภาพรวมของความพึงพอใจต่อโครงการจ้างที่ปรึกษา ของผู้เข้าร่วม ประชุมที่มีต่อโครงการ : อยู่ในระดับมาก ร้อยละ 69.23 ในระดับปานกลาง ร้อยละ 29.37 และ อยู่ในระดับน้อย ร้อยละ 1.40
ความคิดเห็นในการยินดีให้ความร่วมมือในการพัฒนาโครงการจ้างที่ปรึกษา ของผู้เข้าร่วมประชุมที่มีต่อการจัดประชุมครั้งนี้ : อยู่ในระดับยินดีอย่างยิ่ง ร้อยละ 65.73 ในระดับ ยินดี ร้อยละ 33.92 และอยู่ในระดับไม่ยินดี ร้อยละ 0.35
ความคิดเห็นในการอยากให้โครงการนี้เกิดขึ้น ของผู้เข้าร่วมประชุมที่มีต่อการจัดประชุมครั้งนี้ : อยู่ในระดับเร็วที่สุด ร้อยละ 69.58 ในระดับปานกลาง ร้อยละ 29.72 และอยู่ในระดับไม่อยากให้เกิดขึ้น ร้อยละ 0.70.