เสาเข็มแรกของ “ทางเลียบเจ้าพระยา” โครงการเมกะโปรเจกต์กว่า 1.4 หมื่นล้านบาท กำลังจะตอกลงแม่น้ำเจ้าพระยาในเดือน ก.ย.นี้ ทั้งที่ยังไม่ผ่านการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) เลย ซึ่งทางเลียบเจ้าพระยาระยะทางรวม 14 กิโลเมตร จะต้องทำ EIA จำนวน 12 แผนงาน แต่ขณะนี้ผ่านเพียง 6 แผนงานเท่านั้น
ที่น่าห่วงคือ หากตอกเสาเข็มแรกลงไปแล้ว เท่ากับเราจะต้องเสีย “ค่าโง่” ให้กับซากสถาปัตยกรรมที่จะไม่มีวันสำเร็จ โดยนายยศพล บุญสม ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Friends of the River เผยความกังวลในงานเสวนา “สายน้ำไม่ไหลกลับ จะหยุดยั้งทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างไร” เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า เมื่อตอม่อจำนวนมากปักลงแม่น้ำเจ้าพระยาไปแล้ว จะเกิดผลกระทบกับคนริมแม่น้ำเจ้าพระยาแน่นอน ทั้งชาวบ้านและผู้ประกอบการต่างๆ ที่จะเสียสิทธิในการเข้าถึงแม่น้ำ จนนำมาสู่การฟ้องร้อง และเมื่อศาลสั่งระงับโครงการเพื่อไต่สวนฉุกเฉิน ซากตอม่อเหล่านี้ก็จะไม่แตกต่างจากโครงการ “โฮปเวลล์” ในอดีต ซึ่งก็จะเหลือเพียงสองทางคือ เดินหน้าต่อให้จบ หรือจะต้องเสียงบประมาณอีกจำนวนมากเพื่อถอนซากเหล่านี้ออกไป
ถามว่าผลกระทบใดที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนต่างๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
นายสาธิต ดำรงผล ตัวแทนจากชุมชนบางอ้อ กล่าวว่า อย่างแรกเลยคือ ทางเลียบเจ้าพระยาจะกลายเป็นสถาปัตยกรรมที่จองจำคนในชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ให้เข้าถึงแม่น้ำได้ ยกตัวอย่างง่ายๆ เพียงแค่เขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณชุมชนบางอ้อ เพื่อป้องกันเรื่องของน้ำท่วมนั้น เพียงเท่านี้ก็ปิดการเข้าออกของคนในชุมชนที่อยู่ติดริมน้ำแล้ว จากเดิมที่เรามีชีวิตอยู่กับแม่น้ำ เดินทางสัญจรน้ำ เพราะไม่มีถนนเข้าออก แม่น้ำเป็นหนทางเดียวและเป็นที่สาธารณะที่ทุกคนมีสิทธิเข้าถึง เมื่อก่อสร้างเขื่อนก็เท่ากับว่าเป็นการตัดทางเข้าออกของคนในชุมชน บางบ้านไม่มีพื้นที่ออกถนน ต้องอาศัยพื้นที่คนอื่นในการเข้าออก ก็จะเจอปัญหารุกล้ำพื้นที่คนอื่น หรือต้องเจอปัญหาเจ้าของพื้นที่เก็บค่าผ่านทางหรือไม่เปิดประตูทางเข้าออกทางบก เชื่อว่าหากมีการสร้างทางเลียบเจ้าพระยาจะต้องเกิดปัญหาเช่นนี้อีกมาก หากเปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนบ้านคุณติดถนน แต่เมื่อมีโครงการขุดคลองผ่านหน้าบ้าน ตัดขาดทางเข้าออกจากถนนจะเป็นเช่นไร เดือดร้อนกันหรือไม่
นายสาธิต กล่าวอีกว่า ผลกระทบอีกเรื่องคือ ความปลอดภัยของคนในชุมชน เพราะเมื่อสร้างทางริมน้ำเจ้าพระยาขึ้นมา เราจะไม่รู้เลยว่าจะมีใครมาผ่านหน้าบ้านหรือหลังบ้านเรา ต้องคอยดูแลความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น เสี่ยงเจอกับปัญหาอาชญากรรม เพราะหากไม่มีการดูแลก็จะกลายเป็นแหล่งมั่วสุม หรือกลายเป็นที่พักอาศัยของคนไร้บ้าน ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ บริเวณทางเดินริมน้ำท่าเรือพระอาทิตย์จนถึงเชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ก็กลายเป็นที่อยู่อาศัยของคนไร้บ้าน ขณะเดียวกันตามตอม่อเหล่านี้ก็จะกลายเป็นที่รวมตัวของขยะ เพิ่มปัญหาให้กับแม่น้ำอีก
ส่วนที่สำคัญอีกเรื่องคือเรื่องของการท่องเที่ยว โดยนายสาธิต ย้ำว่า จะทำให้เสน่ห์ของการท่องเที่ยวขาดหายไป เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติเขาต้องการมาเที่ยว มาดูวิถีชีวิตของคนริมน้ำ ดูวัดวาอารามต่างๆ ชุมชนต่างๆ ที่มีความหลากหลาย แต่เมื่อมีการสร้างทางเลียบเจ้าพระยา สิ่งต่างๆ ที่เป็นเสน่ห์เหล่านี้จะถูกบดบังไปจนหมด เพราะกลายเป็นสถาปัตยกรรมแบบเดียวกันหมด แบบนี้เป็นการทำลายวิถีชีวิตของคนริมน้ำ
“จริงๆ แล้วรัฐควรจะต้องส่งเสริมวิถีชีวิตของคนในชุมชนต่างๆ ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวมากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งนักท่องเที่ยวเขาก็ต้องการมาดูสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว ยกตัวอย่าง บรูไน ที่มีหมู่บ้านกลางน้ำ เขาก็ส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยว พานักท่องเที่ยวไปยังบ้านเหล่านี้ ซึ่งหากมีการส่งเสริมก็จะทำให้เกิดการสัญจรด้วยเรือมากขึ้น เช่นนี้ถึงเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตริมน้ำและส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่วนพื้นที่สีเขียวริมน้ำ ปัจจุบันก็มีสวนสาธารณะต่างๆ หรือมีพื้นที่ที่เป็นสีเขียวอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องส่งเสริมให้คนเข้าถึงพื้นที่เหล่านี้เพิ่มมากขึ้น พัฒนาพื้นที่ให้ดีขึ้น เพื่อให้คนเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากพื้นที่สาธารณะนี้ได้มากขึ้น” นายสาธิต กล่าว
สอดคล้องกับ นายขวัญสรวง อติโพธิ สถาปนิกนักวิชาการ ที่ให้ข้อมูลว่า การทำทางเลียบเจ้าพระยาเพื่อเป็นที่สาธารณะให้ทุกคนเข้าถึงนั้น พยายามทำให้เหมือนกับต่างประเทศ แต่กลับไม่ได้มองเลยว่าบริบทและความเป็นมาของการใช้ชีวิตริมน้ำนั้นแตกต่างกัน อย่างริมแม่น้ำแซน ประเทศฝรั่งเศส วิถีชีวิตของเขาไม่ได้อยู่ริมน้ำแบบบ้านเรา ของเขาอยู่ในอาคารและมีการสร้างเส้นทางที่เข้าถึงแม่น้ำจำนวนมาก จึงมีการสร้างพื้นที่ริมแม่น้ำในการออกมาตากแดด ชื่นชมธรรมชาติ หรือทำกิจกรรมต่างๆ แต่กรุงเทพฯ นั้นไม่ใช่ เพราะตั้งแต่อดีตเราใช้ชีวิตอยู่กับริมน้ำ เพราะแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นของทุกคน ทุกคนมีสิทธิเข้าถึง ปัจจุบันพื้นที่ริมน้ำส่วนใหญ่จึงกลายเป็นชุมชนที่อยู่อาศัย หรือสถานประกอบการต่างๆ การจะสร้างทางเลียบแม่น้ำเช่นนี้ก็จะเป็นการทำลายวิถีชีวิตเดิมที่เคยเป็นมา
“การทำให้ทุกคนเข้าถึงแม่น้ำ มองว่าต้องพัฒนาพื้นที่สาธารณะที่มีอยู่ในปัจจุบัน หรือจุดที่เป็นแลนด์มาร์ก จุดชมวิวต่างๆ หรือพ้นที่ริมน้ำส่วนที่งดงามที่สุด เช่น ท่าราชวรดิฐ หรือริมสะพานพระราม 8 เป็นต้น ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ตลอด 24 ชั่วโมง ก็จะยิ่งเพิ่มการเข้าถึงริมน้ำมากขึ้น ทุกคนได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำ” นายขวัญสรวง กล่าว
ส่วนประเด็นการจัดระเบียบการรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ประเด็นนี้บางพื้นที่บางชุมชนมีการทำเช่นนั้นจริง แต่ไม่ใช่จะเอาเรื่องนี้มาเป็นข้ออ้างในการสร้างทางเลียบเจ้าพระยา โดย นางภารนี สวัสดิรักษ์ ตัวแทนสมัชชาแม่น้ำ ระบุว่า การสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาอ้างว่าเพื่อจัดระเบียบ ป้องกันผู้บุกรุกแม่น้ำ ซึ่งยอมรับว่าการบุกรุกแม่น้ำเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ซึ่งจริงๆ แล้วก็มีกฎหมายของกรมเจ้าท่าและกฎหมายผังเมืองในการเอาผิดได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้โครงการนี้มาจัดระเบียบ ซึ่งจะว่าไปแล้วโครงการนี้ก็ถือว่าทำผิดกฎหมายเองด้วยซ้ำ เพราะการสร้างทางเลียบที่มีขนาดกว้างออกมาขนาดนี้ก็ถือเป็นการรุกพื้นที่แม่น้ำเหมือนกัน ตรงนี้ไม่ใช่ทางออก
นอกจากนี้ การสร้างทางเลียบแม่น้ำเช่นนี้ยังอาจก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านชลศาสตร์และกระทบต่อชีวิตคนในชุมชนริมน้ำอีกด้วย โดย ดร.สิตางศุ์ พิสัยหล้า นักวิชาการชลศาสตร์ อธิบายว่า จริงๆ แล้วการจะทำโครงการอะไรแบบนี้ต้องศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วย ทั้งด้านเศรษฐศาตร์ว่าคุ้มหรือไม่ ต้องชัดเจนเลยว่าทำทางจักรยานหนึ่งปีจะมีคนใช้มากน้อยเท่าไร ลดอัตราป่วยได้ปีละเท่าไร ลดการเข้าโรงพยาบาลมากน้อยแค่ไหน คุ้มทุนหรือไม่ ซึ่งต่อให้เป็นโครงการที่ดีจริง แต่ตอนนี้ควรนำงบประมาณไปใช้กับเรื่องที่จำเป็นก่อนหรือไม่ ส่วนความเหมาะสมทางวิศวกรรม เรื่องนี้ไม่ว่ายากแค่ไหนทางวิศวกรรมสามารถทำได้อยู่แล้ว แต่ต้องศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชนด้วย ซึ่งปัจจุบันการประเมิน EIA ก็เป็นปัญหา ต้องปฏิรูป เพราะหน่วยงานที่รับเงินจากเจ้าของโครงการให้มาประเมิน ถามว่ารับเงินมาแล้วจะกล้าพูดหรือไม่วาไม่เหมาะสมที่จะสร้าง เกิดผลกระทบมากมาย แล้วโครงการนี้ใช้เวลาเพียงแค่ 7 เดือนในการทำ EIA อยากถามว่าเอาข้อมูลอะไรมาใส่
“ที่สำคัญคือมีการประเมินกรณีที่จะเกิดเหตุเลวร้ายที่สุดหรือไม่ ซึ่งสถานการณ์เลวร้ายที่สุดที่ต้องประเมินคือ น้ำหลากจากทางเหนือมาจะเป้นอย่างไร แล้วเกิดน้ำทะเลหนุนสูงอีกจะเป็นอย่างไร จะเห็นได้ว่าเมื่อปี 2554 น้ำท่วมใหญ่ครั้งนั้นน้ำลดช้ามาก เพราะน้ำทะเลหนุนสูง การสร้างทางเลียบเจ้าพระยาซึ่งมีโครงสร้างที่ต้องตอกลงไปในแม่น้ำ ต้องคิดคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ด้วยเพราะกระทบทั้งหมด และไม่ใช่ศึกษาแค่ผลกระทบกับบริเวณที่ดำเนินการด้วย ยังต้องคำนึงไปถึงบริเวณทางเหนือของน้ำและทางใต้ของน้ำด้วย ว่าจะได้รับผลกระทบหรือไม่” ดร.สิตางศุ์ กล่าว
ปัญหาทั้งหมดเกิดจากความเร่งรีบในการดำเนินการโดยไม่ฟังเสียงจากคนในชุมชนที่จะได้รับผลกระทบเลย ทั้งที่จริงแล้วคนในชุมชนที่คนที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบก่อน มิเช่นนั้นเร็วๆ นี้เราอาจได้เห็นริมน้ำเจ้าพระยา เหมือนกับถนนริมแม่น้ำน้อย อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ทำลายทัศนียภาพอันงดงาม สร้างความเดือดร้อนให้คนในชุมชน และกลายเป็นที่อโคจรอเนกประสงค์
เพราะฉะนั้น ถึงเวลาที่รัฐต้องฟังภาคประชาชนก่อนที่ชุมชนจะพังพินาศ การท่องเที่ยวจะเสียหาย จากความเร่งรีบอย่างน่าพิศวงในการก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา