ทำไมต้อง “เร่งรีบ” และทำไมต้อง “ลึกลับ”? ถ้าดีจริงต้องรอได้ ถ้าโปร่งใสต้องให้ตรวจสอบ! "ฮิวโก้-จุลจักร จักรพงษ์" ขอเป็นอีกหนึ่งแรงช่วยต้านเมกะโปรเจกต์ "ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา" มูลค่า 14,000 ล้านของรัฐบาลไปจนกว่าจะสุดทาง จนกว่าผู้มีอำนาจจะตอบประชาชนได้ว่า “ข้อดี” ของโครงการนี้คืออะไร และดีสำหรับใคร?
แต่ถ้ายังยืนจะปักเสาเข็มรุกล้ำลำน้ำ สร้างแนวทัศนะอุจาดยาว 14 กม.โดยไม่ฟังเสียงใคร คงถึงเวลาที่พี่น้องชาวไทยต้องช่วยกันสงสัยได้แล้วว่า นี่เรากำลังถูกปกครองด้วยผู้นำแบบไหนกัน!!?
โครงการอันตราย! “เร่งรีบ” และ “ลึกลับ”
[แนวยาวสีแดง คือภาพจำลองทางเลียบฯ ยาว 14 กม. ในเฟสแรก ก่อนขยายเป็น 57 กม.ตลอดแนวฝั่งทั้งโครงการ]
อะไรคือประเด็นน่าหนักใจที่สุดในโครงการ
ที่ถูกคนขนานนามว่าเป็น “ทางด่วนแม่น้ำเจ้าพระยา”?
โครงการนี้มันถูกขายออกมาในเชิงท่องเที่ยว เป็นเรื่องความสวยความงาม ซึ่งไม่ใช่เรื่องความจำเป็นเป็นหลัก และในเมื่อวัตถุประสงค์เป็นแบบนั้น ผมมองว่าก็ไม่เห็นจำเป็นที่โครงการนี้จะต้องเร่งรีบขนาดนี้
คือผมไม่ได้ต่อต้านโดยสิ้นเชิงนะ ว่ารัฐบาลหรือ กทม.ไม่ควรจะทำอะไรบ้างกับแม่น้ำ แต่ผมแค่รู้สึกว่าสิ่งนี้มัน “เร่งรีบ” และ “ลึกลับ” พอสมควร ซึ่งเท่าที่ดูแล้ว คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ก็น่าจะเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ตรงนั้น
ผมรู้สึกว่า ไม่ว่ารัฐบาลจะเป็นแบบไหนก็ตาม อย่างน้อยประชาชนก็มีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสาร มีการปรึกษาหารือ โดยเฉพาะเรื่องที่ใช้งบประมาณของแผ่นดินเยอะขนาดนี้ มันไม่ควรจะทำกันอย่างเร่งรีบและลึกลับกันขนาดนี้
ดูฮิวโก้จะกังวลเรื่อง “เร่งรีบ” และ “ลึกลับ” ของโครงการนี้มาก
ถือเป็นจุดอันตรายที่สุดเลยหรือเปล่า?
ใช่ จริงๆ แล้ว เรื่องที่ผมรู้สึกขัดแย้งกับตัวโครงการนี้มากที่สุดก็คือเรื่อง “ขั้นตอน” ผมคาใจมากกว่าตัวโครงการด้วยซ้ำ เพราะโครงการจริงๆ ผมยังไม่รู้ว่าหน้าตามันจะออกมาแบบไหน แต่เท่าที่เห็นแผนงานคือมีลักษณะคล้ายๆ “ทางด่วน” ซึ่งบนนั้นจะมีต้นไม้, เลนจักรยาน หรือแลนด์มาร์กอะไรก็ไม่รู้ ซึ่งผมไม่ได้จะมาเถียงเรื่องนั้น ผมอยากมาเถียงเรื่องกระบวนการมากกว่า ว่าเรามาถึงจุดนี้กันได้ยังไง และโครงการทุกอย่างในอนาคต เราจะทำกันแบบนี้ต่อไปอีกหรือเปล่า
ผมพยายามจะโฟกัสในเรื่องที่แคบๆ และไม่ได้เป็นเรื่องการเมืองอะไรเลย นี่คือเรื่องความเป็นอยู่, วัฒนธรรม และศิลปะ บ้านเราถึงจะมีทรัพยากร และอุตสาหกรรมอะไรเยอะแยะ แต่การท่องเที่ยวก็เป็นเรื่องสำคัญและเป็นรายได้สำคัญ และคงจะสำคัญยิ่งขึ้นหลังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศจีน เปิดให้เข้ามาในบ้านเรามากขึ้น ซึ่งพวกเขาก็อยากมาดูวิถีชีวิตพวกเรา
ไม่มีประเทศไหนที่ยังคงหลงเหลือวิถีชีวิตดั้งเดิมและยั่งยืนเท่ากับ “วิถีริมน้ำ” และผมก็ไม่เข้าใจว่าเราจะโยนตรงนี้ทิ้งไปทำไม เพราะนี่ก็เท่ากับการรื้อทิ้งเลยนะ
[หนึ่งในผู้ร่วมต้าน ผ่านงานเสวนา "สายน้ำไม่ไหลกลับ จะหยุดยั้งทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างไร”]
เพื่อนชาวต่างชาติของฮิวโก้เคยพูดถึงเรื่องนี้กันบ้างไหม
มองยังไงบ้าง เสียดายไหม?
ผมไม่เคยถามเขานะครับ แต่ผมรู้ว่าเวลาเขามาไทยแล้วเขาชอบอะไร เขาชอบที่เราสามารถเล่าประวัติศาสตร์ผ่านทิวทัศน์บนแม่น้ำได้ ในความหลากหลายของศาสนา-ชนเผ่า ในความยาวนานของทั้งธนบุรี-บางกอก-กรุงเทพฯ, ในความงดงามของวัด-โบราณสถานในแต่ละรัชกาลที่ถูกสร้าง ฯลฯ เรามีตึกของทุกนิกาย-ทุกศาสนาอยู่ริมแม่น้ำ ทั้งวัดจีน-โบสถ์-มัสยิด มีครบ ผมเลยรู้สึกว่านี่คือพื้นที่สุดท้ายที่ควรถูกรื้อ หรือควรจะถูกปิดบัง
อย่างว่าแหละ เมืองกรุงเทพฯ มันเหลือความดั้งเดิมน้อยแล้ว ถ้านี่เป็นเหตุผลของการกระตุ้นเศรษฐกิจหรืออะไรก็ตาม มันคงจะมีมุมอื่นๆ ที่เหมาะกว่านี้ เพราะนี่มันเป็น “มรดก” ที่เราควรจะรักษาไว้
จริงๆ แล้ว การออกมาต่อต้านเรื่องนี้ มันไม่ได้เป็นการขบถเลย แต่คือการอนุรักษนิยมด้วยซ้ำ นี่เราเข้ามาจากมุมขวากัน ไม่ได้มาจากมุมซ้าย (หัวเราะเบาๆ) ไม่น่าเชื่อว่าเราจะต้องมาอนุรักษนิยมกว่ารัฐบาล กว่า กทม.ซะอีก (ยิ้มมุมปากด้วยแววตาสงสัย) มันเป็นไปได้ยังไง!!?
อะไรคือความงดงามของ “วิถีริมน้ำ” ที่ฮิวโก้มองเห็น?
มันมีภาพถ่ายจากฝั่งกรุงเทพฯ ไปฝั่งธนฯ ที่มีอายุเกิน 100 ปี มาเทียบกับปัจจุบันแล้ว จะเห็นว่ามันแทบจะไม่เปลี่ยนไปเลย... เรื่องของประวัติศาสตร์ มันไม่ใช่แค่ตึก แต่มันคือวิถีชีวิต มันคือเส้นเชื่อมโยงพวกเราที่ยังอยู่ตรงนี้ กลับไปสู่คนรุ่นหลังในอดีต มันคือที่มาของพวกเรา ทุกอย่างที่ดีและเลว มันมาจากสิ่งเหล่านั้น และคนที่ไม่รักษาเส้นเชื่อมโยงระหว่างเรากับอดีต ก็คือคนที่ไม่มี “ราก” ไม่เคารพประวัติศาสตร์ และในอนาคตก็จะไม่มีตัวตน
[แม่น้ำเจ้าพระยาคือ "มรดก" ในใจคนไทยตลอดกาล โดยไม่จำเป็นต้องเติมแต่งสิ่งใด]
ในเมื่อตอนนี้ เราน่าจะอยู่ในช่วงของรัฐบาลที่ “ชาตินิยม” พอสมควร มันดูขัดแย้งไหมล่ะกับโครงการนี้ ในเมื่อเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมอยู่แล้ว บางอย่างก็อนุรักษ์ไว้เถอะครับ ทุกวันนี้หลายๆ อย่างเกี่ยวกับเรื่องธุรกิจมันก็มาพร้อมการพัฒนาอยู่แล้ว แต่อะไรที่เรารักษาได้ เราก็ควรที่จะรักษา
มันคือความหลากหลาย มันคือความสามัคคีและความสันติของแต่ละสังคม ไม่ว่าจะเป็นชาวคริสต์, ชาวมุสลิม, ชาวพุทธ ฯลฯ นี่เป็นตัวอย่างที่ดีและสวยงามมาก เราควรจะรักษาความเป็น “ชุมชน” เอาไว้ เพราะการอยู่ด้วยกันแบบนี้แหละที่เป็นที่มาของนิสัยน่ารักๆ ของคนไทยทั้งหมด มันมาจากการมีชีวิตอยู่ในชุมชน มาจากการหารือกัน ถามไถ่กันด้วยน้ำใจ
แต่ถ้าเรารื้อสิ่งเหล่านี้ออกไป ปล่อยให้คนละแวกนั้นได้เงินฟาดหัวไปอยู่ตามจุดต่างๆ เราจะไม่ได้แค่ทำลายทิวทัศน์ แต่เราจะทำลายวัฒนธรรมไทยไปด้วย และผมไม่เชื่อว่ารัฐบาลที่มาอยู่เพื่ออนุรักษ์สิ่งเหล่านี้ จะทำได้ลงจริงๆ ผมยังหวังว่าเขาน่าจะพิทักษ์ตรงนี้เอาไว้ให้ได้มากที่สุด เพราะนี่มันคือการทำลายรากเหง้าเลยนะ นี่มันคือสิ่งที่เราจะทำกันจริงๆ เหรอ!!?
มรดกโลก VS มรดกลูกหลาน
[อย่ารอให้ต้องเกิดการสูญเสียที่กู้คืนไม่ได้]
เห็นฮิวโก้พูดถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของวิถีริมน้ำว่าเป็น “มรดกของประเทศ”
รู้ไหมว่าฝั่งคนสร้างเขาก็อ้างว่าจะสร้างโครงการเพื่อชิง “มรดกโลก”?
มรดกโลกมันเป็นสิ่งที่สร้างใหม่ขึ้นมาไม่ได้ (น้ำเสียงจริงจัง) มรดกโลกคือเมืองอย่างหลวงพระบางหรือพีระมิด ไม่ใช่ “ทางเลียบแม่น้ำ” ไม่ใช่สิ่งที่สร้างด้วยปูน หรือสร้างเมื่อวาน ไม่มีทางเลย (หัวเราะ) ฝันไปแล้ว
แต่เขาอ้างว่าเขามีคนวงในที่จะช่วยยื่นเรื่องเพื่อชิงมรดกโลกได้
แล้วถามว่า “ชาวบ้าน” อยู่ตรงไหน? เราจะไปเอา “มรดกโลก” ไปทำไม เคยถามไหมว่าชาวบ้านเขาเอามรดกโลกไหม!!? ใครเอามรดกโลก ใครแคร์ (เน้นเสียง) เมืองไทยไม่เคยสนองค์กรสากลมาก่อน ทั้ง UN ก็ไม่เคยแคร์, EU ก็ไม่แคร์, UNESCO ก็ไม่ได้แคร์ แต่อยู่ดีๆ เพิ่งจะมาแคร์เอาตอนนี้เหรอ? ในประเด็นนี้ผมขอ “ชาตินิยม” แล้วกัน (แค่นหัวเราะ)
มองว่ามันเป็นแค่ข้ออ้างเพื่ออยากจะสร้างหรือเปล่า?
เขาอาจจะคิดว่ามันมีค่าแบบนั้นจริงๆ ก็ได้ ผมไม่อยากจะดูถูกใคร ผมไม่ได้มาเพื่อมาดูถูกหรือแม้แต่ต่อต้าน ผมไม่ได้ต้องการต่อต้านรัฐบาลทหารในชีวิตชาตินี้เลย ผมกลัวครับ ผมอยากจะรักษาชีวิตผมไว้ แต่ผมรู้สึกว่าเป็นไปได้ไหมที่จะมีการสนทนาระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน เราสามารถมาคุยกันได้ไหมว่านี่คือสิ่งที่ต้องการกันจริงๆ หรือเปล่า ในเมื่อมวลเงินมันเยอะขนาดนี้ เราไม่มีอย่างอื่นที่จะต้องใช้กันแล้วเหรอ มันดูแปลกประหลาดที่จะต้องเร่งรีบทำกันขนาดนี้
ถ้าสเกลโครงการกำหนดเอาไว้ว่าให้สร้างภายใน 10 ปี เราจะมีโครงการที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้เข้าถึงแม่น้ำ โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยได้เข้าถึงแม่น้ำ ถ้าบอกได้แบบนี้ก็ดีสิ แต่นี่ไม่เลย นี่คือจะลงตอหม้อปีนี้แล้ว (เดือน ก.ย.) โดยที่ยังไม่มีใครรู้เลยว่าผลมันจะเป็นยังไง
“สำหรับโครงการนี้ ผมก็ยังไม่รู้ว่าใครเป็นคนเรียกร้องหรือต้องการ นอกจากคนที่จะสร้างและคนที่จะได้รับเหมาสร้างชิ้นงานนี้”
ในฐานะที่ฮิวโก้เป็นคนเล่นกล้องคนนึง อยากรู้ว่าถ้ามีทางเลียบฯ ผุดขึ้นมาจริงๆ
ยังจะรู้สึกอยากถ่ายภาพวิถีริมน้ำอยู่อีกไหม?
ถ้ามันถึงจุดนั้นแล้ว มันไม่สำคัญหรอก เพราะมันก็ได้สร้างไปแล้ว แล้วก็ถือเป็นการส่งสัญญาณว่า ไม่ว่าจะทำอะไร ผลกระทบจะมากแค่ไหน เราจะไม่ปรึกษากัน เราจะไม่ให้เกียรติกัน ผมว่ามันจะเป็นการกระทำที่ “คิดสั้น” อันนี้ผมพูดด้วยความหวังดีเลย ที่ผมพูด ไม่ใช่ว่าจะได้อะไรกลับคืนมา จะได้ความรัก-ชอบจากประชาชนไหม? (ส่ายหน้า)..ไม่รู้
หลังโครงการนี้สร้างแล้ว อาจจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็ได้ แต่ก็ถือว่าคุณเอาเงินเทลงไปในแม่น้ำไม่รู้เท่าไหร่ และในระยะยาว “น้ำ” เอาชนะปูนได้อยู่แล้ว เพราะปูนก็มีอายุขัยของมันเหมือนกัน เท่าที่เห็นตึกโทรมๆ ในกรุงเทพฯ ที่กำลังพังลงก็อยู่ได้ประมาณ 50 ปี แล้วถ้ายิ่งถูกน้ำ ถูกขยะหมักหมมเข้าไปทุกวันอีก ผมว่ายังไงก็ไม่คุ้ม แล้วก็หวังว่าเราจะชี้แจงตรงนี้ให้เขาเห็นได้
ผมยังมองไม่เห็นว่า “ข้อดี” ของโครงการนี้คืออะไร แต่ “ข้อเสีย” ผมมองเห็นชัดมาก และผมก็มองไม่เห็นข้อเสียของการ “ยุติชั่วคราว” เลยว่าจะกระทบอะไร อาจจะไม่ต้องยกเลิกก็ได้ แค่ยุติก่อนได้ไหม แล้วก็มาดีๆ ว่าทำไมเราถึงมีกฎหมายห้ามรุกล้ำแม่น้ำ แล้วไหนจะเรื่องแม่น้ำจะแคบลงไปอีก จะกระทบต่อคนเดินเรือแค่ไหน ทำไมไม่ถามพวกเขา หรือแม้แต่ธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ทำไมถึงไม่ฟังเสียงพวกเขา
ส่วนผมน่ะไม่เป็นไรหรอก ผมจะมีที่ถ่ายรูปหรือไม่มี ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่คนที่อยู่ตรงนั้น คนที่ทำธุรกิจตรงนั้น คือคนที่คุณจะต้องตอบคำถามพวกเขาต่างหาก
ที่ออกมาค้านกันแบบนี้ คิดว่าคนเคาะโครงการจะเปิดใจรับฟังบ้างไหม?
ไม่รู้ครับ ไม่รู้จริงๆ เพราะว่าผมไม่ได้อยู่ในจุดที่จะสามารถเข้าใจกระบวนการความคิดเหล่านี้ เพราะผมเองก็ไม่เข้าใจ แต่ผมรู้สึกว่าประเด็นมันแคบพอที่จะทำให้รู้ผลว่า “หัว” หรือ “ก้อย” จากวิธีการที่ผมและเพื่อนแม่น้ำ (Friends of the River) ใช้ ว่ามันได้ผลหรือเปล่า ซึ่งมันก็น่าลองนะ
ฝั่งที่พวกเราทำอยู่ เราไม่ได้ต่อต้านรัฐบาลในทุกเรื่อง เราไม่ได้ต่อต้านการพัฒนาหรือความก้าวหน้าของบางสิ่งบางอย่าง เราเข้าใจดีว่าทุกอย่างต้องก้าวหน้า ทุกอย่างต้องพัฒนา การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ แต่ว่าบางสิ่งบางอย่างที่เรามีและมันดีอยู่แล้ว เราก็ควรจะรักษามันไว้ และข้อเสียของการไม่สร้างคืออะไรบ้าง มันไม่มีเลย
ปีหน้าหรืออีก 10 ปีข้างหน้าคุณค่อยสร้างก็ได้ ถ้ามันเป็นสิ่งที่คนต้องการจริงๆ เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่ต้องเร่งรีบ ถ้าคนอยากได้ เดี๋ยวก็ได้สร้างแน่ ห้างฯ ยักษ์ใหญ่ยังสร้างได้เลย มนุษย์เราสร้างอะไรก็ได้อยู่แล้ว
แต่ถามว่าแน่ใจแล้วเหรอว่านี่เป็นการใช้งบประมาณที่มีน้อยๆ ของประเทศนี้อย่างคุ้มค่าแล้ว? แน่ใจแล้วเหรอว่านี่คือสิ่งที่คุณอยากทำมากกว่าอะไรเลย? นี่คือประเด็นแรกที่ต้องจัดการของกรุงเทพฯ แล้วอย่างนั้นเหรอ?
คิดว่าต้องใช้เวลาดำเนินการขนาดไหน
ถึงจะเรียกได้ว่าไม่ “รีบเร่ง” เกินไปสำหรับฮิวโก้?
อันนี้ผมก็ไม่รู้ ผมรู้แค่ว่าเขาจะลงตอหม้อกันปีนี้โดยยังไม่มีใครรู้ว่าหน้าตามันจะเป็นยังไง แถมมีความหวังที่จะเอาไปชิง “มรดกโลก” ด้วยแล้วเนี่ย... ผมว่าต้องตั้งใจทำกว่านี้หรือเปล่า ค่อยๆ ทำดีกว่าไหม คือถ้าจะทำให้ได้ ก็ต้องทำให้มันดีสิ แต่ส่วนตัวผมมองว่าการสร้างอะไรลงไปในแม่น้ำ มันไม่น่าจะดีหรอก ไม่อย่างนั้นมันไม่มีกฎหมายห้ามหรอก
จำเป็นแค่ไหน? “เสริมจมูก” ให้แม่น้ำ
[โมเดลจำลอง ทัศนียภาพที่ถูกบดบัง เมื่อโครงการนี้ผุดขึ้นภาพ]
ถ้าลืมตาตื่นขึ้นมาอีกที แล้วพบว่าโครงการนี้จู่ๆ ก็สร้างแล้ว
จะรู้สึกอย่างไร และคิดว่าจะกระทบมากน้อยแค่ไหน?
มันก็คงจะเป็นการสั่งสอนชาวบ้านให้รู้จักเจียมตัว..หรือเปล่า (ยิ้มมุมปาก) อ๋อ..โอเค คนจะได้รู้ไงว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนมันเป็นยังไง เราก็คงจะได้รู้กัน
แต่สำหรับผมแล้ว ผมยังมีความหวังนะ เพราะว่าผมก็ไม่ได้ดูถูก หรือคิดว่าคนที่กำลังทำโครงการนี้เขาเป็นคนไม่ดีหรือหวังไม่ดี ผมยังมีความหวังว่าทุกคนยังหวังดีต่อกรุงเทพฯ และต่อประเทศ ผมต้องคิดอย่างนั้น ไม่อย่างนั้น มันก็จะเป็นปลายหางแล้วเหมือนกัน
ผมคิดว่านี่อาจจะเป็นกรณีตัวอย่างที่สามารถพัฒนา แล้วก็เสริมความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับรัฐ ในการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศก็ได้ว่า มันน่าจะมีการสนทนากัน ไม่ว่าเราจะถูกปกครองด้วยระบอบอะไรก็ตาม ในภาคพื้นที่แคบๆ แบบนี้ มันควรจะมีการหารือ และคุยกันมากกว่านี้
ยิ่งถ้าตัวโครงการมันไม่ได้เป็นเรื่องป้องกันภัย หรือเรื่องความปลอดภัย ในเมื่อมันเป็นแค่เรื่อง “การเสริมสวย” แม่น้ำจากในมุมของเขา มันก็ไม่ได้เรื่องด่วนอะไร มันเหมือนการไปเสริมจมูก-เสริมหน้าอกให้สวยงาม ซึ่งไม่ต้องรีบก็ได้ เดี๋ยวปีหน้าค่อยทำก็ได้ มันไม่จำเป็นขนาดนั้น เพราะไม่ใช่การผ่าตัดเพื่อรักษาชีวิต แต่เขาเลือกที่จะทำเพราะแค่อยากทำ แต่ปัญหาก็คือเงินที่พวกเขาไปเสริมสวย มันดันเป็นเงินของพวกเราทั้งหมดไง
[แสดงจุดยืน ต้านโครงการ "ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา"]
“คงต้องดูไปจนกระทั่งเขาลงมือทำแล้วจริงๆ ถ้าถึงตอนนั้น เราก็ต้องมานั่งคิดกันใหม่ว่าเรากำลังถูกปกครองแบบไหน และประชาชนต้องทำตัวยังไงบ้าง”
แล้วฮิวโก้มองว่า เสริมแล้วมันจะสวยจริงไหม?
ไม่..ผมไม่เห็นด้วย (ตอบทันที) ผมคิดว่าไม่สวย แต่จริงๆ ความคิดของผมมันก็ไม่ได้สำคัญกว่าใคร ผมเลยอยากโฟกัสไปที่เรื่องขั้นตอน-วิธีการที่เราจะเดินหน้าด้วยกันมากกว่า ไม่ว่าสภาพการเมืองภาพกว้างเราจะเป็นยังไงก็ตาม เราลองมาใช้โครงการนี้เป็นตัวอย่าง ลองมาจะจัดการในภาพแคบๆ ให้รัฐบาลชินกับการใจเย็นเวลาจะลงมือทำอะไร แล้วก็ให้ชาวบ้านชินกับการรู้จักสิทธิของตัวเอง ให้คิดถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจริงๆ ว่าเขาจะรับมือกับมันได้หรือเปล่า
จะบอกว่าการลุกขึ้นมารวมตัวกันเพื่อพูดเรื่องนี้ เพื่อต้องการสร้างโมเดล
ให้สังคมรับรู้ว่า ประชาชนควรรักษาสิทธิของตัวเอง?
ใช่ครับ มันคือการเปิดพื้นที่ให้ได้มาหารือกันดูซิว่าทุกคนคิดยังไงกันบ้าง หรือผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ เขาคิดยังไงกัน แม้แต่ผมเองก็ตามไปฟังแล้วฟังอีก ทั้งด้านกฎหมาย ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านอารยธรรม วัฒนธรรม ศิลปะ ผมยังมองไม่เห็นคนที่น่าเชื่อถือที่เชียร์ชิ้นงานนี้ยังหาไม่เจอเลย
ที่สำคัญ ผมไม่รู้ว่าทำไมโครงการที่น่าจะมีผลกระทบเยอะพอสมควร ซึ่งมันจะเป็นด้านดีหรือไม่ดีไม่รู้ แต่ผลกระทบมันรุนแรง คืออาจจะไม่ร้ายแรงแต่รุนแรงต่อคนที่ต้องอยู่ตรงนั้น ผมไม่เข้าใจว่าทำไมมันต้องเร่งรีบขนาดนี้ ในเมื่อเราไม่ได้เป็นประเทศที่ร่ำรวย และนี่ไม่ได้เป็นการทำเพื่อป้องกันภัย หรือไม่ได้เป็นเรื่องที่กำลังเดือดร้อนที่สุด
ในช่วงเวลาที่เรายังอยู่ในช่วงตั้งลำกัน โครงการอย่างนี้ที่มีมูลค่ามหาศาล ต้องใช้เงินมากมายขนาดนี้ มันไม่น่าจะเป็นประโยชน์ ผมรู้สึกว่านี่เป็นตัวอย่างที่น่าจะดีได้ระหว่าง “ประชาชน” กับ “ภาครัฐ” นอกเหนือจากเรื่องการเมือง, การเลือกตั้ง หรือประชาธิปไตยแล้ว เพราะมันคือเรื่องความเป็นอยู่บนพื้นที่ตรงนี้ว่า รัฐมีสิทธิอะไรมารุกล้ำในพื้นที่นี้บ้าง และประชาชนที่อยู่ตรงนั้นมีสิทธิอะไรบ้าง นี่เป็นจุดที่สำคัญที่สุดแล้ว
เพราะในอนาคตมันจะไม่ได้มีแค่โครงการนี้ แต่จะมีโครงการอื่นๆ ผุดขึ้นมาอีก เราควรจะมีแบบอย่างของโครงการที่โปร่งใสที่สุดและให้ความสำคัญกับผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุด แน่นอนว่ามันจะต้องมีความขัดแย้งเกิดขึ้น ระหว่างคนกลุ่มน้อยกับคนหมู่มากตลอด นั่นคือเรื่องปกติของการเมือง แต่ถ้าทุกอย่างมันโปร่งใส ชัดเจน บอกได้ว่าทำไปเพราะอะไร-เพื่ออะไร มันน่าจะดีกว่า
มาจนถึงตอนนี้ ผมยังไม่รู้เลยว่า “ใครต้องการทางเดินอันนี้?” นี่คือประเด็นที่ร้อนแรงที่สุดหรือเปล่าในประเทศของเราตอนนี้ ใช่การที่ประชาชนรู้สึกว่าเขาเข้าถึงแม่น้ำไม่ได้จริงๆ หรือเปล่า
มีปัญหาไหนที่มองว่าควรได้รับการแก้ไข ทำให้เป็นโครงการ
มากกว่า “ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา”?
จริงๆ ผมก็ไม่ได้เป็นคนที่มีความรู้อะไรมาก แต่เรื่องชุมชนริมแม่น้ำหรือระบบคลองต่างๆ ในแม่น้ำ เรื่องการเก็บขยะ มันยังมีประเด็นอีกเยอะแยะให้เข้าไปรักษา โดยเฉพาะกฎหมายห้ามรุกล้ำแม่น้ำที่ควรถูกหยิบขึ้นมา แต่โครงการนี้กลับกลายเป็น “การรุกล้ำแม่น้ำ” อย่างแท้จริง
จะบอกว่าถ้าจะทำโครงการอะไรเกี่ยวกับแม่น้ำ ควรไปสนับสนุน
เรื่อง “ห้ามรุกล้ำ” มากกว่ามา “สร้างทางรุกล้ำ” แบบนี้?
ใช่ (พยักหน้ารับ) และถ้าเกิดมันมีเสียงเรียกร้องจริงๆ จากประชาชนที่ไม่ได้อยู่ริมแม่น้ำ ว่าอยากจะเข้าถึงแม่น้ำ มันก็ยังมีวิธีที่ทำได้โดยไม่รุกล้ำแม่น้ำ เช่น การสร้างสวนสาธารณะหรือพื้นที่บางอย่างริมแม่น้ำขึ้นมาใหม่ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ถามว่าพื้นที่ที่จะสร้างใหม่ตรงนั้น มันควรจะสร้างให้ไปอยู่ในแม่น้ำเลยหรือเปล่า? หรือรัฐควรจะหาพื้นที่อื่นที่อยู่บนฝั่ง เป็นที่โล่ง เอามาทำเป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนได้เข้าถึง?
คิดผิดคิดใหม่! นี่หรือ “คืนความสุขให้ประชาชน”?
ถึงที่สุดแล้ว ถ้าไม่ว่าอย่างไรเขาก็สร้าง
ทางเครือข่ายจะรับมือแบบไหนดี?
เราคงต้องปรึกษากันอีกทีครับ ผมเป็นแค่หมากรุกตัวหนึ่งของเครือข่ายเพื่อนแม่น้ำ ก็ต้องลองดูว่าเขาอยากจะให้ผมเดินไปตรงไหนที่จะเป็นประโยชน์ แต่ในที่สุดแล้ว ผมเป็นส่วนน้อยมาก แล้วก็ไม่ได้เป็นส่วนสำคัญด้วย ผมแค่รู้ตัวและยอมรับว่าผมสามารถดึงลูกกะตาของผู้คนได้ประมาณนึง
และผมรู้สึกว่าลึกๆ แล้ว หลายๆ คนใน คสช. หรือแม้แต่คนในประเทศนี้ ที่อาจจะไม่ได้เห็นตรงกันเรื่องการเมือง แต่ในเรื่องนี้ ในความอนุรักษนิยมที่มีอยู่ ในความรักชาติ-รักประวัติศาสตร์-รักสถาบัน-รักศาสนาต่างๆ ที่อยู่ในประเทศ... Come On! นี่มันเป็นมุมขวาแท้ๆ เลยนะ และนานๆ ทีผมจะมาอยู่ฝั่งนี้ด้วย (หัวเราะ)
[“น้อย วงพรู” อีกหนึ่งศิลปินผู้ร่วมอุดมการณ์เดียวกัน]
แสดงว่าฮิวโก้จะขอยืนค้านเรื่องนี้ไปจนถึงที่สุดใช่หรือไม่?
ไม่ว่าจะเป็นประเด็นอะไรก็ตาม แต่ถ้ามีการทุบตึกเก่าที่ควรจะเก็บไว้ ผมก็จะยืนอยู่ฝั่งคัดค้านเสมอ... ผมรู้นะว่าในที่สุดทุกอย่างจะถูกลบทำลายและละลายลงไปในน้ำ ให้กลายเป็นเศษฝุ่นธุลี ผมรู้... แต่มันไม่จำเป็นต้องเป็นตอนนี้ก็ได้ รอให้อีกสัก 2-3 รุ่นได้เห็นบ้างก็ได้ จะได้เล่าให้ฟังกันได้ โรงหนังลิโด้ก็เหมือนกัน ผมมองประเด็นเหล่านี้ไปในเชิงศิลปะ แต่บังเอิญประเด็นนี้มันมีเรื่องของสังคม เรื่องของประวัติศาสตร์ที่อยู่ในคนจริงๆ ที่อาศัยอยู่ตรงนั้นด้วย
ถ้าวันนึงคนชุมชนริมน้ำตรงนั้นเขารู้สึกว่า การใช้ชีวิตแบบนี้มันไม่เหมาะแล้ว ก็ปล่อยให้เขาย้ายกันไปเอง ขายที่ให้กับใครแล้วให้เขาทำให้มันเป็นพื้นที่อะไรก็ได้ หรือถ้าอยากจะสร้างสวนสาธารณะให้ประชาชนก็ทำริมฝั่งแม่น้ำสิ แต่ไม่ใช่การสร้างไปบนแม่น้ำ เราไม่ได้ต่อต้านโดยสิ้นเชิง เราแค่พยายามจะรักษาสิ่งที่มีอยู่
เพราะในที่สุดแล้ว ห้างฯ หรืออะไรก็ตามที่สร้างด้วยปูนหรือคอนกรีต เดี๋ยวมันก็โทรม เดี๋ยวมันก็พัง สิ่งที่เราควรจะรักษาคือ “มนุษย์” มนุษย์ที่อยู่ในกรุงเทพฯ มนุษย์ที่อยู่ในกรุงธนบุรี คนพวกนี้คือมรดก คนพวกนี้คือประวัติศาสตร์ของเมืองไทย เขาอยู่กันมาหลายร้อยปีแล้ว แบบนี้-อย่างนี้เลย ซึ่งผมมองว่ามันคือสิ่งที่สวยงาม
ในเมื่อเขาพร้อมที่จะอยู่แบบนี้กันต่อไป เป็นประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิตอยู่ การรื้อสิ่งเหล่านี้ทิ้งไป สำหรับโครงการที่ผมก็ยังไม่รู้ว่าใครเป็นคนเรียกร้องหรือต้องการ นอกจากคนที่จะสร้างและคนที่จะได้รับเหมาสร้างชิ้นงานนี้ นอกนั้น ผมไม่รู้จริงๆ ว่าประโยชน์มันจะเป็นของใครได้บ้าง ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมเลย อย่าว่าแต่ปลา-เต่าในแม่น้ำเลย นั่นคือปลายหางของเรื่องนี้แล้ว
หมายความว่าถ้าเขายังไม่ยุติโครงการหรือยกเลิกไป
ฮิวโก้ก็จะยังยืนต้านโดยการพูดแบบนี้ไปเรื่อยๆ?
ถ้ามันถึงจุดที่ไม่มีผลอะไร ผมก็ไม่รู้จะพูดไปทำไม เพราะผมก็ไม่ได้ต้องการความสนใจในด้านนี้เท่าไหร่นะจริงๆ แล้ว (ถอนหายใจเบาๆ) จากการที่เป็นคนเคยเคลื่อนตัวรุนแรงมาแล้ว และได้รับผลในทางตรงกันข้ามกับที่คิดว่าควรจะเกิดขึ้น ผมก็ค่อนข้างระมัดระวังแล้วก็กลัวที่จะออกความคิดเห็นอะไรนอกรั้วบ้านผมพอสมควร พูดตรงๆ เลย
แต่ครั้งนี้ ถ้าออกมาพูดแล้วหยุดได้ก็จะดี หมายความว่าไม่ว่าสภาวะการเมืองภาพกว้างจะเป็นยังไง ในเรื่องประเด็นเล็กๆ เรากำลังคุยกับ “คนที่คุยรู้เรื่อง” อยู่ คนที่รับฟัง พร้อมหารือ ไม่เร่งรีบ ไม่ใจร้อน โปร่งใส ฯลฯ คือจะเลือกตั้ง-ไม่เลือกตั้งไม่รู้ แต่เรื่องความโปร่งใส เรื่องการรักษากฎหมาย มันน่าจะเป็นเรื่องที่ดี และน่าจะเป็นเรื่องที่รัฐบาลน่าจะส่งเสริมด้วยซ้ำ
ย้ำว่านี่คือการแสดงจุดยืนเพื่อ “สังคม” ไม่ใช่เรื่อง “การเมือง”
(พยักหน้ารับ) เป็นเรื่องสังคมจุดเดียว ในประเด็นเดียว โดยที่ไม่มีเรื่องการเมืองแฝงอยู่เลย ไม่ได้ต่อต้าน คสช. แต่อยากให้คิดใหม่ อยากให้ท่านนายกฯ คิดว่านี่คุ้มไหม? โครงการนี้มันตรงประเด็นภาพกว้างที่ท่านมองอยู่หรือเปล่า สำหรับอนาคตของประเทศ
หมายถึงว่ามันใช่การ “คืนความสุขให้ประชาชน” หรือเปล่า?
อะไรแบบนั้น นี่มันเป็นการคืนความสุขหรือเปล่า หรือว่าประชาชนเขามีความสุขอยู่แล้ว... ผมว่าเงินเยอะขนาดนี้มันน่าจะคิดหน่อยนึงนะ สร้างปีหน้าก็ได้ ถ้าจะเอาจริงๆ แต่ให้คนเขาคิด ให้คนเขาได้ตั้งตัว และให้ท่านได้คิดบ้างก็ดี
เข้าใจนะว่าประเทศเรามีหลายอย่างให้ต้องจัดการ ทั้งภายในประเทศ ทั้งต่างประเทศ เรื่องความมั่นคงต่างๆ แต่เรื่องนี้ควรจะคิดให้ดีๆ นิดนึง ผมว่าไม่เสียหายหรอก
คิดว่าพลังของคนที่ตามฮิวโก้อยู่ จะช่วยอะไรได้บ้าง?
ไม่รู้..ไม่รู้จริงๆ ผมแค่อยากให้คนเห็นคุณค่าของสิ่งดีๆ ที่เรามี บางทีอาจจะต้องใช้สายตาของคนนอกมองเข้ามา เพราะเราอาจจะหันหลังให้กับสิ่งที่เราชินอยู่แล้วก็ได้ ทั้งสังคมริมถนน, สังคมตลาด, สังคมชุมชน มันคือพื้นฐานของสังคมไทย แล้วถ้าเราค่อยๆ ถอดสิ่งเหล่านี้ออกไป ด้วยความหวังที่อยากจะเป็นเหมือนกรุงโซล (เกาหลี) หรืออย่างสิงคโปร์ มันอาจจะทำให้เราเสียอะไรบางอยางไป แล้วเอากลับคืนมาไม่ได้ ซึ่งผมว่ามันไม่คุ้ม
สารพัด “ข้ออ้าง” ฟังไม่ขึ้น!!
ฝั่งคนทำโครงการเคยให้สัมภาษณ์ว่า จะดีไซน์ให้พื้นที่ตรงนี้
เข้ากับตัวชุมชนมากที่สุด ถ้าเป็นแบบนั้นจะยอมรับได้ไหม
และคิดว่าเขาจะทำได้ไหม?
ถ้าเป็นอย่างนั้น เราก็คงจะรู้ว่ามันจะเป็นอย่างนั้นแล้วไง (ยิ้มปลงๆ) คือถ้ามันจะเป็นอย่างนั้น ชุมชนก็จะรู้ว่ามันจะเป็นไปในทิศทางนั้น เขาก็จะไม่ต้องมาห้อยป้ายหน้าบ้านว่า “ไม่เอาทางเลียบแม่น้ำ”
หมายความว่าถ้าเขาจะสร้างแบบไหน
ก็ควรจะเสนอภาพออกมาให้คนในชุมชนรับรู้ด้วย?
ในที่สุดแล้ว ผมไปห้ามอะไรไม่ได้หรอก ผมแค่เสนอความคิดเห็นไว้ เพราะทางโครงการเพื่อนแม่น้ำ (Friends of the River) ชวนผมมา เพราะว่าผมเห็นด้วยกับเขา แต่ว่าผมไม่ได้จะมานั่งสั่งสอนว่า ภาครัฐหรือ กทม. หรือใครควรจะทำอะไร แต่แน่นอนว่าสิ่งที่ควรทำก็คือ ต้องอยู่ในกฎหมาย
และเท่าที่ผมเข้าใจมา กฎหมายบอกไว้ว่า 1.ห้ามสร้างอะไรบนแม่น้ำ 2.การวิจัยผลข้างเคียง (EIA: Energy Information Administration) ต้องมาจากองค์กรที่ไม่ได้เป็นองค์กรรัฐ กฎหมายเรามีดีๆ เยอะแยะ ทำไมเราไม่ทำตามกันบ้าง ถ้ารัฐบาลและ กทม.ไม่ตามกฎหมาย แล้วใครจะตาม
เหตุผลหนึ่งที่โครงการนี้อ้างคือ ต้องการเข้ามาจัดการแม่น้ำ
ที่เน่ามานานเพราะวิถีคนริมน้ำ ฮิวโก้มองอย่างไร?
นั่นมันก็เป็นอีกเรื่องนึง มันไม่ใช่การมาสร้าง “ทางเลียบแม่น้ำ” คือถ้าจะเข้าไปจัดการเรื่องขยะ ก็จัดการเลยสิ เยี่ยมเลย (ยกนิ้วให้) เพราะถ้าบอกว่าจะสร้างทางเพื่ออุดช่องโหว่เรื่องขยะ มันก็เหมือนการอุดช่องโหว่เก่า แล้ว “สร้างช่องโหว่ใหม่” ซึ่งขยะก็เข้าไปอยู่ข้างใต้ทางเดินนั้นได้อยู่ดี
ไม่ว่าอะไรจะอยู่ด้านบนแผ่นทางเดินที่กว้าง 7 เมตรนั้น ข้างใต้มันก็คือตอหม้อในน้ำอยู่ดี ซึ่งใต้นั้นก็จะเป็นแหล่งของขยะอยู่ดี แล้วการเอาปูนเทลงไปในน้ำ มันจะไม่เน่าเหรอ ถามว่าแม่น้ำที่เต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตในตอนนี้ มันเน่าตรงไหน ผมเห็นเรือของเทศบาลมาคอยเก็บขยะทุกวัน มันไม่ใช่ว่าที่ผ่านมาภาครัฐไม่เคยทำเรื่องดีๆ ให้แม่น้ำนะ เขาก็ทำอยู่ แต่ถ้าอยากทำเพิ่ม ก็ไปเพิ่มจุดนั้นสิ
[เสียงของชาวบ้าน ที่รัฐบาล(ทำเป็น)ไม่ได้ยิน]
ผมไม่อยากให้เอาหลายประเด็นมาโยงกัน เรื่องทางเลียบแม่น้ำที่เขาอยากทำ เพราะต้องการเน้นเรื่องความสวยความงาม เพื่อให้มาปั่นจักรยาน เพื่อการชมวิว เพื่อยื่นชิงรางวัลมรดกโลก แต่ถ้าอ้างเรื่องทำเพื่อเรื่องความสะอาด ยังไงมันก็ไม่เกี่ยว
ทุกวันนี้ก็มีเรือเก็บขยะอยู่แล้ว และถ้าจะทำให้ชาวบ้านเข้าใจ การทำใบปลิวหรือให้ความรู้เขา มันง่ายกว่าอยู่แล้ว แล้วก็ไม่ต้องเสียเป็นพันๆ ล้านด้วย ล้านเดียวก็ทำประชาสัมพันธ์ทั้งปีได้แล้ว
แสดงว่าข้ออ้างเรื่องจัดการขยะ ฟังไม่ขึ้น?
สำหรับผมนะ แต่อย่างว่าแหละ ผมไม่ได้อยากจะมาดูถูกใคร ผมไม่รู้เจตนาของใครว่าดีไม่ดี เอาเป็นว่าผมมีความหวังว่าเจตนาเขาบริสุทธิ์
เห็นบอกว่าตัวโครงการยังไม่กระทบ “บ้านจักรพงษ์”
แต่มีคนมองว่าต้องเดือดร้อนแน่นอน ไม่งั้นไม่ออกมาพูด
ถ้าเป็นโครงการนำร่อง 14 กม.นี้ ยังไม่ถึงครับ แต่ถ้าสร้างเป็นแนวยาวกว่านั้นแล้ว ก็ต้องเลียบทั้งแม่น้ำแน่ โครงการนี้ได้ยินมาแว่วๆ ว่ามีรัฐบาลหลายชุดพยายามจะทำอะไรแบบนี้ แต่เขาจะทำเป็นถนน เป็นทางด่วนบนแม่น้ำ ซึ่งครั้งนี้ก็ดูเหมือนจะเป็นแผนเดิมเอามาทำใหม่ เหมือนเหล้าเก่าใส่ขวดใหม่ ส่วนการที่โครงการจะผ่านหน้าบ้านแม่ผมไหม มันไม่ใช่ประเด็นเพียงพอหรอกสำหรับผม แต่ถ้าใครเขาจะมองยังไงก็ไม่เป็นไร
“ถ้าวันนึงประชาชนรู้สึกว่าเขาไม่ได้รับเกียรติในการรับฟังความคิดเห็น เงินภาษีของใครต่อใครถูกใช้ไปลงกับอะไรก็ไม่รู้ นั่นแหละจะเป็นปัญหาสำหรับรัฐบาล ไม่ใช่ปัญหาสำหรับผม”
ที่ผมกล้าออกมาพูด เพราะผมรู้สึกว่าผมไม่ได้กำลังต่อต้านระบบอะไรสักอย่างนึง และผมรู้สึกว่าผมน่าจะช่วยด้วยซ้ำ ช่วยคนที่อยู่ตรงนั้นได้ ช่วยรักษาวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่ควรอยู่ได้ ผมยังไม่เห็นข้อเสียอะไรนะที่จะเคลื่อนไหวเพื่อศิลปะ คือผมไม่เห็นด้วยว่าการสร้างทางเลียบแม่น้ำมันจะสวยกว่าสิ่งที่มีอยู่แล้ว อันนี้เป็นมุมมองเชิงศิลปะ แต่พอมาในเครือข่าย ผมถึงมาได้ฟังอีกหลายมุมเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งสะท้อนเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น
ผมมองว่าผมหวังดีกับรัฐ ก็เลยไม่คิดว่าการออกมาพูดจะเสี่ยงอะไร ผมมักจะเห็นด้วยกับขั้วอำนาจที่มองว่าวัฒนธรรมสวยงามและศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งควรจะรักษาไว้ วัฒนธรรมชุมชนเป็นรากเหง้าของหลายๆ อย่างที่ดีงาม ตั้งแต่อาหาร, การเป็นอยู่, การแต่งตัว ฯลฯ
การอยู่กับสายน้ำเป็นเส้นทางประวัติศาสตร์ของเรา และควรจะเป็นอนาคตของเราด้วย ในเมื่อเราอยู่กับเวิ้งน้ำมาตลอดชีวิต เราจึงควรไปกับน้ำ ไม่ควรจะไปขัดขวางหรือไปเอาอะไรใส่ไปในแม่น้ำให้แคบลง ไหนจะเรื่องสิ่งแวดล้อมอีก คิดว่ามันจะดีเหรอ การก่อสร้างที่จะเกิดขึ้นมันจะยิ่งรบกวนระบบนิเวศยิ่งกว่าขยะที่เคยมีซะอีก
สรุปแล้ว ตอนนี้ความหวังเรื่องขอให้ “ยุติโครงการ” ยังเหลืออยู่อีกไหม?
เหลือ... ไม่งั้นผมไม่มาพูดหรอก คงต้องดูไปจนกระทั่งเขาลงมือทำแล้วจริงๆ ถ้าถึงตอนนั้น เราก็ต้องมานั่งคิดกันใหม่ว่าเรากำลังถูกปกครองแบบไหน และประชาชนต้องทำตัวยังไงบ้าง
จริงๆ แล้ว เรื่องนี้มันไม่ได้กระทบแค่ผมนะ ผมแค่คนคนนึงซึ่งเต้นกินรำกิน คำพูดผมมันไม่ได้มีน้ำหนักอะไรมาก แต่ประชาชน-ชาวชุมชนต่างหาก คือคนส่วนมากของเมืองไทย แล้วถ้าวันนึงเขารู้สึกว่าเขาไม่ได้รับเกียรติในการรับฟังความคิดเห็น เงินภาษีของใครต่อใครถูกใช้ไปลงกับอะไรก็ไม่รู้ นั่นแหละจะเป็นปัญหาสำหรับรัฐบาล ไม่ใช่ปัญหาสำหรับผม
“ฮิวโก้” ลูกเจ้าพระยา ผมมีชีวิตผูกพันกับแม่น้ำเจ้าพระยามาตั้งแต่เด็กๆ มีใช้เรือข้ามฟาก ใช้เรือแทนที่จะใช้รถตอนรถติด โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่มีเวลาน้อย ก็ไม่อยากให้เสียเวลาในรถติดทั้งวันทั้งคืน ผมก็จะแนะนำให้ทำทุกอย่างทางเรือเท่าที่จะทำได้ พอผมย้ายออกจากบ้านแม่ ก็ยังอยู่ริมแม่น้ำ ผมก็ยังใช้เรือข้ามฟากตรงท่าเรือคลองสาน แล้วก็เห็นอยู่ทุกวัน ตอนที่ผมเข้าวงการบันเทิงใหม่ๆ ผมก็จะนั่งเรือหางยาวไปเรียนกับครูเล็ก (ภัทราวดี มีชูธน) แถววัดระฆัง ก็ถือว่าเราได้กินอยู่กับสายน้ำมาตลอด หรือตอนเด็กๆ ก็จะชอบไปฟาร์มงู ไปดูตามคลอง ใครมาจากต่างประเทศก็จะพาเขาไปทำกิจกรรมริมคลองกันตลอด ทุกครั้งที่ล่องเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา เราจะเห็นถึงความหลากหลายของกรุงเทพฯ-ธนบุรี ผมว่ามันคือสิ่งที่สวยงาม ซึ่งน้อยที่ในโลกจะมีสถานที่แบบนี้ ฮาร์เปอร์กับฮันเตอร์ (ลูกชาย) ก็โตมากับอะไรแบบนี้เหมือนกัน เสาร์-อาทิตย์เราจะมีเช่าเรือหางยาวไปเกาะเกร็ดกันบ้าง ไปปั่นจักรยาน พาเขาไปทานร้านอาหารเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ละแวกนั้น เรานั่งเรือข้ามฟากกันบ่อยครับ ข้ามฝั่งไปกินข้าวแล้วก็กลับมา ผมว่าธรรมชาติคือสิ่งที่สำคัญที่สุดแล้ว เพราะมันคือที่มาของเรา และเราปฏิเสธไม่ได้ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ผมเลยรู้สึกว่าเยื่อใยอะไรที่รักษาไว้ได้ ที่จะทำให้เราเชื่อมโยงกับธรรมชาติได้ก็ควรจะทำ เพราะมันมักจะดีต่อจิตวิญญาณ ต่อร่างกายของคนเราอยู่แล้ว วิถีธรรมชาติมันคือจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ (ยิ้มบางๆ) ผมว่าไม่ใช่แค่ผมหรอกที่คิดแบบนี้ ใครออกจากเมืองแล้วมองเห็นดาว เห็นสิ่งมีชีวิต เห็นการไหวเอนของต้นไม้ แล้ว ไม่มีความสุข ก็ไม่มีหัวใจแล้วล่ะ ผมว่าธรรมชาติบำบัดเราได้ทุกอย่าง มันทำให้เรามองตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของโลก แล้วก็ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ไม่รู้สึกว่าชีวิตไร้ความหมาย ธรรมชาติมันเต็มไปด้วยปรัชญา เต็มไปด้วยความรู้ เต็มไปด้วยความสวยงาม มันไม่ใช่เหตุผลของความดีอะไรหรอก มันแค่สวยสำหรับผมแค่นั้นเอง รูปลักษณ์ของแมลง ดอกไม้ ต้นไม้ นกมันสวย เสียงมันเพราะ ผมว่าธรรมชาตินี่แหละมหัศจรรย์ที่สุด |
สัมภาษณ์โดย ผู้จัดการ Live
เรื่อง: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: ธัชกร กิจไชยภณ
ขอบคุณภาพบางส่วน: แฟนเพจ "Friends of the River", อินสตาแกรม @hugolek
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754