xs
xsm
sm
md
lg

กห.แจงร่างสัญญาประชาคม 17-20 ก.ค.นี้ เชิญคนเคยมาเสนอแนะข้อมูลร่วมฟัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม (แฟ้มภาพ)
โฆษกกลาโหม เผยปรับเนื้อหาร่างสัญญาประชาคมแล้ว เตรียมแจงภูมิภาค 17-20 ก.ค.นี้ เชื่อเป็นจุดเริ่มความเชื่อมั่นและไว้ใจกัน เชิญทุกกลุ่มที่เคยเรียกมาแจงร่วมฟัง

วันนี้ (12 ก.ค.) พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ ประธานอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ฯ ในคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง เปิดเผยถึง ความคืบหน้าในการจัดทำร่างสัญญาประชาคมว่า ขณะนี้ได้ปรับความเหมาะสมของเนื้อหาร่างสัญญาประชาคม ตามคำแนะนำของคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดองเรียบร้อยแล้ว โดยอยู่ระหว่างประสานความพร้อม เพื่อเตรียมชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนในภูมิภาคต่างๆ ระหว่าง 17-20 ก.ค. 2560 ในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร นครราชสีมา พิษณุโลก และนครศรีธรรมราช ตามลำดับ

พล.ต.คงชีพกล่าวด้วยว่า การจัดทำ “ร่างสัญญาประชาคม” ฉบับนี้ ได้ดึงความเห็นร่วมที่สอดคล้องและตรงกันของประชาชนในประเด็นการสร้างความสามัคคีปรองดอง จากเวทีการรับฟังทั่วประเทศที่ผ่านมา มาพิจารณาร่วมกับผลการศึกษาด้านการปฏิรูปและการปรองดองของคณะกรรมการต่างๆ ที่เคยมีมา เช่น คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) คณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) รวมทั้งรายงานวิจัย การสร้างความปรองดองแห่งชาติของสถาบันพระปกเกล้า และคู่มือสันติวิธี สถาบันยุทธศาสตร์สันติวิธี สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยพิจารณาถึงทิศทางร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติ และความสอดคล้องตามกรอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

ร่างสัญญาประชาคม กล่าวนำถึงสภาพสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตามสภาพแวดล้อมสังคมโลก ความไม่พร้อมต่อการปรับตัวและการบริหารจัดการที่ไม่สมดุลและเป็นธรรมที่ผ่านมา ส่งผลกระทบเกิดปัญหาต่างๆ ของสังคมตามมาเป็นวงกว้าง สำหรับสาระสำคัญกล่าวถึงความตระหนักร่วมกันต่อปัญหาที่ผ่านมา ความเข้าใจร่วมกันเพื่อการปรับตัวและความจำเป็นที่ทุกคนต้องร่วมมือร่วมใจเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาของประเทศอย่างจริงจัง ด้วยคำมั่นต่อกันที่เน้นในสำนึกหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกันในการสนับสนุน ส่งเสริม เรียนรู้และร่วมมือกันปฏิบัติ โดยยึดมั่นในหลักคุณธรรม จริยธรรม หลักศีลธรรมอันดีงามของการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างถูกต้อง เหมาะสม ยอมรับความแตกต่างทางความคิด เคารพและไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นภายใต้กรอบของกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมที่ยึดเอาหลักความถูกต้อง ชอบธรรม ความเสมอภาค ไม่สร้างเงื่อนไขที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม โดยน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” เป็นภูมิคุ้มกันของสังคมร่วมกัน

พล.ต.คงชีพกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับข้อมูลความเห็นร่วมอื่นๆ ที่นอกเหนือจากประเด็นการสร้างความสามัคคีปรองดองที่ได้รับจากประชาชนนั้นถือว่ามีคุณค่ายิ่งต่อการบริหารงานของรัฐบาล และการจัดการร่วมกันเพื่อการปฏิรูปประเทศในทุกมิติต่อไป และเชื่อมั่นว่าการชี้แจงสร้างการรับรู้และความเข้าใจกับประชาชนอย่างกว้างขวางใน “ร่างสัญญาประชาคม” ที่ร่วมกันจัดทำขึ้น จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของความเชื่อมั่นและไว้ใจกันของสังคมที่จะพัฒนาไปสู่การมีส่วนร่วมและความร่วมมือร่วมใจกันอย่างเป็นรูปธรรม ในการนำพาประเทศก้าวข้ามปัญหาและอุปสรรคทั้งปวง สู่จุดหมายร่วมกัน คือ การอยู่ร่วมกันอย่างสงบและสันติสุข ด้วยบรรยากาศของการปรองดองสามัคคีกัน

ด้าน พ.อ.พีรวัชฌ์ แสงทอง โฆษก กอ.รมน.กล่าวว่า ก่อนที่คณะอนุกรรมการฯ ชุดที่ 3 จะพิจารณาจัดทำร่างสัญญาประชาคมฉบับสมบูรณ์ต่อไปและเพื่อให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางในการสร้างความสามัคคีปรองดอง จึงได้จัดให้มีเวทีสาธารณะขึ้นในภูมิภาคต่างๆ และคณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการเพื่อความสามัคคีปรองดอง (คณะอนุกรรมการฯ ชุดที่ 3) จะทำการชี้แจงให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบเพื่อสร้างการรับรู้และเข้าใจในรายละเอียดของร่างสัญญาประชาคม ดังนี้

พื้นที่ภาคกลาง ในวันจันทร์ที่ 17 ก.ค. เวลา 13.00-16.00 น. ณ สโมสรกองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 (บก.ทภ.1) กทม.

พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในวันอังคารที่ 18 ก.ค. เวลา 13.00-16.00 น. ณ สโมสรร่วมเริงไชย กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 2 (บก.ทภ.2) ค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา

พื้นที่ภาคเหนือ ในวันพุธที่ 19 ก.ค. เวลา 13.00-16.00 น. ณ อาคารกีฬาอเนกประสงค์ ค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ กองบัญชาการช่วยรบ ที่ 3 (บชร.3) จังหวัดพิษณุโลก

พื้นที่ภาคใต้ ในวันพฤหัสบดีที่ 20 ก.ค. เวลา 13.00-16.00 น. ณ สโมสรรื่นฤดี ค่ายวชิราวุธ กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 4 (บก.ทภ.4) จังหวัดนครศรีธรรมราช

พ.อ.พีรวัชฌ์กล่าวว่า ในการดำเนินการ กอ.รมน.ได้บูรณาการร่วมกันกับทุกๆจังหวัด โดย กอ.รมน.จังหวัดจะเรียนเชิญพี่น้องประชาชนจากกลุ่มต่างๆ ที่ได้เคยให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะฯ ในขั้นตอนของการรับฟังความคิดเห็นฯ จากทุกจังหวัด รวมเป็นพื้นที่ภูมิภาคละประมาณ 300-500 คน เข้าร่วมรับฟังการชี้แจงฯ กอ.รมน.จึงขอเรียนเชิญผู้แทนของกลุ่มต่างๆ ที่เคยมาร่วมแสดงความคิดเห็นได้มาร่วมประชุมเพื่อรับฟังร่างสัญญาประชาคมอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อการพัฒนาร่างสัญญาประชาคมให้มีความสมบูรณ์ ก่อนที่จะนำเสนอให้คณะกรรมการสร้างความสามัคคีปรองดองต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น