xs
xsm
sm
md
lg

“สุวพันธุ์” สั่งจังหวัดตั้ง “ศูนย์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม” ผู้เสพยาเสพติด ตามมาตรฐาน สธ. ลดปัญหาถูกร้องละเมิดสิทธิ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สุวพันธุ์” สั่งตั้งศูนย์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้เสพยาเสพติด ตามมาตรฐาน สธ.หลังเคยถูกร้องเรียนละเมิดสิทธิมนุษยชน เน้นอาชีวบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพ ให้อำนาจคนมหาไทย “ปลัดจังหวัด/ผอ.สำนักป้องกันยาเสพติด กทม. /นายอำเภอ/ผอ.เขต” จัดแผนฟื้นฟูผู้เสพ ให้อำนาจ-ฝ่ายปกครอง-สาธารณสุข ตำรวจ-ผู้นำท้องถิ่น ร่วมคัดกรองผู้เสพ กำหนดระยะเวลาฟื้นฟูไม่น้อยกว่า 12 วัน หลังพบว่าผู้ป่วยฯ เข้ารับการรักษาในระบบปีละ 3-5 แสนราย เฉพาะปี 59 เข้าบำบัดแล้ว 119,839 ราย

วันนี้ (10 ก.ค.) มีรายงานจากกระทรวงยุติธรรมว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานกรรมการและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ ลงนามในคำสั่งศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ ที่ 9/2560 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัด/กรุงเทพมหานคร จัดตั้ง “ศูนย์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม” ตามมาตรฐานการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพยาเสพติด และแต่งตั้งให้ปลัดจังหวัดทั่วประเทศ/ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด กรุงเทพมหานคร และนายอำเภอ/ผู้อำนวยการเขต

ทำหน้าที่ “ผู้อำนวยการและบริหารจัดการ” ระดับจังหวัดและระดับอำเภอ เพื่อทำหน้าที่ดูแลรักษาผู้เสพยาเสพติดเบื้องต้นที่มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยดำเนินการในกลุ่มผู้เสพยาเสพติดที่เป็นผ่านการประเมินคัดกรองตามแบบประเมินคัดกรองของกระทรวงสาธารณสุข (บคก.กสธ.วี 2) อยู่ในระดับเสพ (ค่าคะแนน 4-26) จำนวนรุ่นละ 50-80 คน

“โดยผู้นั้นต้องไม่เป็นผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนทางจิตรุนแรง โรคทางกายที่รุนแรง โรคติดต่อในระยะติดต่อ ผู้เสพสารกลุ่มฝิ่น (ฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน) ผู้ป่วยติดสุราเรื้อรังและรุนแรง เยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ผู้ที่อาจมีผลกระทบต่อการศึกษา/การทำงาน/ความรับผิดชอบต่อครอบครัว ตามดุลยพินิจของศูนย์เพื่อการคัดกรอง”

สำหรับ “ศูนย์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม” ต้องเป็นไปตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข 6 ด้าน ประกอบด้วย 1. บุคลากร จะต้องมีทีมที่ปรึกษาด้านสุขภาพ ทีมวิทยากรศูนย์ ทีมผู้ดูแลผู้เข้ารับการฝึกอบรม ทีมบริหารจัดการศูนย์ และทีมที่ปรึกษาด้านสังคม 2. การบริหารจัดการศูนย์ 3. การจัดบริการเชิงสุขภาพ ประกอบด้วย การประเมิน การบำบัดฟื้นฟู และการติดตาม ดูแล ช่วยเหลือ 4. ด้านสถานที่ สิ่งแวดล้อม และสถานที่อบรม เป็นสถานที่ปลอดบุหรี่และสุรา 5. ด้านระบบข้อมูลการบำบัดรักษาและฟื้นฟูยาเสพติดของประเทศ (บสต.) และ 6. ด้านวัสดุ อุปกรณ์เครื่องมือการแพทย์ และยารักษาโรค

ขณะที่ “ศูนย์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม” จะมีหน้าที่จัดการกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้ใช้ยาเสพติดให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม โดยใช้หลักการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Quotient) นำครอบครัวและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ร่วมกับอาชีวบำบัด โดยมีระยะเวลาในการดำเนินการไม่น้อยกว่า 12 วัน โดยทีมหรือผู้มีส่วนร่วมในการคัดกรอง ประกอบด้วย ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ตำรวจ ผู้นำท้องถิ่น/ท้องที่ โดยอาจนำฐานข้อมูลสารสนเทศ (POLIS) ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาใช้ในการคัดกรองร่วมด้วย

ทั้งนี้ ยังให้มีการประเมินมาตรฐานศูนย์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประกอบด้วยการประเมินตนเองโดยการแต่งตั้งของศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัด/กรุงเทพมหานคร และการประเมินจากทีมผู้ตรวจประเมินภายนอก เพื่อกำกับและประเมินการดำเนินการจัดกิจกรรมใน “ศูนย์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม” ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด

นอกจากนั้น ยังให้ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัด/กรุงเทพมหานคร ดำเนินการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพยาเสพติดด้วยรูปแบบ “ศูนย์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม” ให้เป็นไปตามคู่มือและมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

ล่าสุด กระทรวงมหาดไทยมีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อดำเนินการแต่งตั้ง “ผู้อำนวยการและบริหารจัดการ” ระดับจังหวัดและระดับอำเภอ และให้จัดตั้ง “ศูนย์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม” แล้ว

มีรายงานว่า สำนักงาน ป.ป.ส.ได้ประมาณการผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นจากปี 2554-2556 คือ 1,084,900 / 1,200,000 และ 1,900,000 ราย ตามลำดับ ขณะที่พบว่าผู้ป่วยยาเสพติดที่เข้ารับการรักษาประมาณปีละ 3-5 แสนราย โดยปี 2558 มีผู้ป่วยยาเสพติดเข้ารับการรักษาจำนวน 165,794 ราย และปี 2559 จำนวน 119,839 ราย โดยจำนวนผู้ป่วยยาเสพติดที่เข้ารับการรักษามีความสัมพันธ์กับ นโยบายการปราบปรามของภาครัฐ และการรณรงค์ค้นหาของพื้นที่ชุมชน ในปี 2559

พบว่าผู้ป่วยยาเสพติดที่เข้ารับการรักษามากที่สุด คือ ยาบ้า ร้อยละ 75 รวมทั้งไอซ์ซึ่งมีการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว รองลงมาจากยาบ้า คือ กัญชา ที่แพร่ระบาดในภาคใต้ อันดับสาม เป็นสารระเหยพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเฮโรอีน ที่พบมากในจังหวัดเชียงราย และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนน้ำต้มกระท่อม หรือสี่คูณร้อยมีการแพร่ระบาดในภาคใต้เช่นเดียวกัน

กลุ่มอายุหลักที่เข้าไปเกี่ยวข้องอยู่ในช่วงอายุ 15-24 ปี ด้านระบบการรักษาเป็นระบบบังคับบำบัดมากที่สุดร้อยละ 44 ระบบสมัครใจร้อยละ 41 ที่เหลือเป็นระบบต้องโทษ ในด้านการจำแนกความรุนแรงของการเสพติดพบว่าร้อยละ 58 เป็นกลุ่มเสพ ร้อยละ 38 เป็นกลุ่มติด และร้อยละ 4 เป็นกลุ่มติดรุนแรง (ฐานข้อมูล บสต. กระทรวงสาธารณสุข, 2559) นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยยาเสพติดที่ได้รับการบำบัดฟื้นฟูรูปแบบค่าย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอีกจำนวน 40,000-50,000 ราย (จากฐานข้อมูล NISPA ของสำนักงาน ป.ป.ส.)

แหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า “ศูนย์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม” เป็นไปตามนโยบาย ผู้เสพ คือ ผู้ป่วย หลังจากเกิดกรณีการเสียชีวิตของผู้เข้าบำบัดยาเสพติดที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพในบางพื้นที่ จนเกิดการร้องเรียนในประเด็นละเมิดสิทธิมนุษยชน และเพื่อให้สอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาผู้เสพยาเสพติดขององค์การสหประชาชาติ ที่ให้คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน ครอบคลุมทั้งสตรี เด็กและเยาวชน
กำลังโหลดความคิดเห็น