xs
xsm
sm
md
lg

ปรากฏการณ์ กลยุทธ์กรีนของอียู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังจากรัฐสภาแห่งสหภาพยุโรปได้ประกาศอย่างจริงจังตั้งแต่เดือนเมษายน 2015 ให้ประเทศสมาชิกของอียูทุกประเทศต้องดำเนินงานให้ประสบผลสำเร็จในการปรับลดการใช้ถุงพลาสติกไม่น้อยกว่า 80% ภายในปี 2025 ได้พัฒนารูปแบบของกรีนในแนวทางอื่นๆ อีกมากมาย อย่างเช่น การโหวตให้ประเทศในสหภาพยุโรป จะต้องปรับตัวสู่การแบนหรือห้ามแบบเด็ดขาดหรือบางส่วนเกี่ยวกับอาหารกลุ่ม GMOs

แต่ที่โดดเด่นที่สุดคือ European Green Capital Award for 2015 มาจนถึงรอบของการให้รางวัลในปี 2018 ในปัจจุบัน ภายใต้สโลแกน Green Cities fit for life


ทั้งนี้ ในปี 2017 European Green Capital Award for 2017 ผู้ชนะเลิศรางวัลนี้ตกเป็นของเยอรมนีที่เมือง Essen ซึ่งมีความโดดเด่นในการดำเนินงานที่เข้มแข็งในการปกป้องและส่งเสริมด้านธรรมชาติและความหลากหลายของชีวภาพ ควบคู่กับความพยายามในการลดการใช้น้ำอย่างสิ้นเปลือง และริเริ่มโครงการและสร้างเครือข่ายมากมายในการลดการสร้างก๊าซเรือนกระจก และสามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้น
ความสำเร็จของเมือง Essen มาจากการใช้บทเรียนจากประสบการณ์ของภาคอุตสาหกรรมในอดีต มาสร้างอนาคตที่ดีด้านสิ่งแวดล้อมของเมืองขึ้นมาใหม่ สร้างหลักการทำงานท่ามกลางสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติมากขึ้น ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นแนวกรีน เพื่อต่อยอดอนาคตได้อย่างต่อเนื่อง
เมือง Essen และเมืองอื่นๆ ของยุโรปที่ผ่านการคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะรางวัลในแต่ละปีที่ผ่านมา จะเป็นโมเดลต้นแบบอย่างดีที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับเมืองอื่นๆ ในการปรับปรุงผลประกอบการด้านการดูแลสภาพแวดล้อม การกระตุ้นเร้าให้เมืองต่างๆ เร่งพัฒนาและจัดหาแนวทางที่เหมาะสมกับตน สู่เป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืน
ในปี 2017 มี 12 เมืองจากหลายประเทศในยุโรปที่สมัครเข้าสู่การคัดเลือกผู้สมควรได้รับรางวัลนี้ รวมถึงเมืองหลักๆ ในกลุ่มที่ถูกจับตามองว่าเป็นตัวเก็งอย่างเมืองจากเนเธอร์แลนด์ 2 เมือง คือ Hertogenbosch (Netherlands) และ Nijmegen (Netherlands) มาจากสวีเดน คือ Umeå (Sweden)

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับประเทศต่างๆ คือ ตัวชี้วัดที่สหภาพยุโรปใช้เป็นตัวบ่งชี้ในการให้รางวัลนี้ ซึ่งได้แก่

ตัวชี้วัดที่ 1 ประเด็นการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ทั้งการบรรเทาผลกระทบและการปรับตัวเพื่ออยู่รอด
ตัวชี้วัดที่ 2 ประเด็นการปรับปรุงการขนส่งภายในเมือง
ตัวชี้วัดที่ 3 ประเด็นการบริหารพื้นที่ในตัวเมือง ในการใช้ที่ดินที่สอดคล้องกับหลักความยั่งยืน
ตัวชี้วัดที่ 4 ประเด็นการบริหารสภาพธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ
ตัวชี้วัดที่ 5 ประเด็นการบริหารคุณภาพอากาศและมลภาวะ
ตัวชี้วัดที่ 6 ประเด็นคุณภาพของสภาพแวดล้อมแบบดั้งเดิม
ตัวชี้วัดที่ 7 ประเด็นการสร้างและบริหารขยะ
ตัวชี้วัดที่ 8 ประเด็นการบริหารน้ำ
ตัวชี้วัดที่ 9 ประเด็นการบริหารน้ำเสียหลังการใช้
ตัวชี้วัดที่ 10 ประเด็นการสร้างนวัตกรรมด้านการประหยัดพลังงานและการจ้างงานที่อยู่บนหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ตัวชี้วัดที่ 11 ประเด็นด้านผลประกอบการในการลดลงของการใช้พลังงานสิ้นเปลือง
ตัวชี้วัดที่ 12 ประเด็นการบริหารสภาพแวดล้อมในองค์รวม
จะเห็นว่า การพิจารณาตามตัวชี้วัดทั้งหลาย จะต้องใช้ความสามารถของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะแต่ละด้าน ในการประเมินในเชิงเทคนิคการสนับสนุนอย่างเข้มงวด ไม่ใช่การมองด้วยสายตาแบบคนทั่วไป
การจัดรางวัลของสหภาพยุโรปในลักษณะนี้ มีเป้าหมายสำคัญเพื่อปกป้องและส่งเสริมให้เกิดการหวงแหน ดูแล บริหารทุนทางธรมชาติของแต่ละเมืองอย่างเป็นระบบ ผ่านการบริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและส่งเสริมการแปลงโฉมเมืองหลักสู่การเป็นภาคสังคมและเศรษฐกิจที่มีระดับคาร์บอนต่ำควบคู่กับการตอบโต้และจัดการความเสี่ยงด้านสภาพแวดล้อมที่เกิดใหม่ๆ อันจะทำให้คุณภาพชีวิตของมนุษย์มีความปลอดภัยและสวัสดิการที่ดีขึ้น ทำให้เกิดดุลยภาพในการเติบโตทางสังคมอย่างยั่งยืนและเกิดงานแนวกรีนในการดูแลอย่างต่อเนื่อง
เมือง  Ljubljana ในสโลวีเนีย ได้รับรางวัลนี้ เมื่อปีที่แล้ว
เมืองที่เคยได้รับรางวัลนี้
ผู้บริหารของเมืองต่างๆ รวมถึงพลเมืองของเมืองมีส่วนสำคัญในการเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งหากการพัฒนาดังกล่าวดำเนินไปอย่างถูกต้อง เหมาะสม จะเกิดความยั่งยืนในระยะยาว
ทั้งนี้ เมืองที่ผ่านด่านการคัดเลือกจนได้รับรางวัลในอดีตจนถึงปีที่ผ่านมา คือ
ปี 2011 เมือง Stockholm และ Hamburg
ปี 2012 เมือง City of Victoria-Gasteiz ในสเปน
ปี 2013 เมือง Nantes ในฝรั่งเศส
ปี 2014 เมือง Copenhagen
ปี 2015 เมือง Bristol
ปี 2016 เมือง Ljubljana ในสโลวีเนีย
กำลังโหลดความคิดเห็น