xs
xsm
sm
md
lg

“อังคณา” จ่อยื่นศาล รธน.ถาม กสม.เป็นองค์กรอิสระหรือไม่ ชี้คุณสมบัติใหม่สูงเกิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางอังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมโดนเซตซีโร่ แต่เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความสถานภาพเป็นองค์กรอื่น หรือองค์กรอิสระ ห่วงคุณสมบัติสูงไปอาจไม่ได้คนทำงานจริง รับไม่ให้ตั้งอนุฯ ส่อทำงานมีปัญหา

วันนี้ (1 ก.ค.) นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงกรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการวาระแรกของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นผู้เสนอ ที่จะส่งผลให้มีการเซตซีโร่ กสม.ว่า ส่วนตัวหากจะยุติการทำหน้าที่ หรือเซตซีโร่ กสม.ชุดปัจจุบัน ตนก็พร้อมยอมรับถ้าเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด แต่ตนยังติดใจในประเด็นสถานภาพของ กสม.ว่าจะอยู่ในสถานภาพของการเป็นองค์กรอิสระหรือองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 กำหนดให้ กสม.เป็นองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญและได้มีการคัดเลือก กสม.ชุดที่ 2 และ 3 เข้ามาทำหน้าที่ ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 กำหนดให้ กสม.เป็นองค์กรอิสระ ดังนั้นจึงจะยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความสถานภาพของ กสม. เพราะส่งผลต่อการสมัครเข้าทำหน้าที่ กสม.ชุดใหม่ที่มีการกำหนดคุณของผู้ที่จะมาทำหน้าที่ต้องไม่เคยดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระใดมาก่อน ขณะเดียวกันเห็นว่าการกำหนดคุณสมบัติที่สูงเกินไป อาจทำให้ไม่ได้บุคคลที่มีประสบการณ์และทำงานด้านสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริงเข้ามาทำงาน

นางอังคณากล่าวอีกว่า ส่วนตัวไม่อยากคิดว่าจะมีใบสั่งให้เซตซีโร่ แต่หวังว่า สนช.จะพิจารณาด้วยความระมัดระวัง รอบคอบ เพราะ กสม.มีหน้าที่กว้างขวางในการดูแลสิทธิมนุษยชนของคนในหลายระดับ และหลายเรื่องกระทบกับสังคมวงกว้าง จึงอยากให้ได้คนที่ทำงานจริง ดีกว่าคนที่เข้ามาแล้วทำงานไม่ได้ ไม่ใช่ตั้งคุณสมบัติสูง อย่างเช่น ต้องจบปริญญาตรี ตัดโอกาสคนที่ทำงานเพื่อชุมชนและคนที่ทำงานจริงในพื้นที่ หรือหากจะเลือกแต่นักวิชาการก็อาจส่งผลทำให้ไม่มีประสบการณ์จริง และการไม่ให้ตั้งคณะอนุกรรมการก็จะส่งผลให้การทำงานมีปัญหา เพราะ กสม.จะต้องตั้งอนุกรรมการเข้ามาช่วยทำงาน ซึ่งอนุกรรมการจะเป็นตัวแทนภาคประชาชนในพื้นที่มาร่วมพิจารณา หากไม่มีก็จะทำให้ขาดการมีส่วนร่วม
กำลังโหลดความคิดเห็น