ประธาน กรธ.ปัดข้อหาสองมาตรฐาน ยัน กสม.เป็นองค์กรอิสระแล้วตาม รธน. กลับมาสรรหาใหม่ไม่ได้ตีความ สงสัยให้ศาล พร้อมเกลาระบบไพรมารีโหวตให้ปฏิบัติง่ายขึ้น ไม่วางยา กกต.ชุดใหม่ไม่ใช่ข้าศึก ไฟเขียว สนช.ทำร่างมาตรฐานจริยธรรมองค์กรต่างๆ
วันนี้ (28 มิ.ย.) นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวยืนยันว่า ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กรธ.ได้รับรองให้กรรมการสิทธิมนุษยนชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นองค์กรอิสระแล้ว จึงไม่สามารถกลับเข้ามารับการสรรหาได้เหมือนกับกรรมการองค์กรอิสระอื่น แม้จะอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญฉบับนี้บังคับใช้ก็ตาม แต่ถ้า กสม.สงสัยก็สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความได้ว่า เป็นองค์กรอิสระหรือไม่ หรือถ้า กกต.สงสัยก็จะยื่นด้วยก็ได้เช่นกัน ซึ่งตามร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กสม.ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ กรธ.จำเป็นต้องเขียนให้มีการเซตซีโร่ กสม. โดยยืนยันว่าไม่ได้คิดพิสดาร หรือสองมาตรฐาน เพราะ กรธ.เสนออย่างเดียวกันทุกองค์กร แต่กับ กสม.ถือเป็นข้อยกเว้น เพราะมีเหตุปัจจัยมาจากหลักการปารีสที่ผูกผัน และยึดโยงกับประเทศเราอยู่
นายมีชัยกล่าวถึงเรื่องการทำไพรมารี่โหวตผู้สมัครเลือกตั้งว่าขณะนี้ยังไม่มีการตีความในประเด็นตามมาตรา 35 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ เพราะ กรธ. กกต. และทางพรรคการเมืองยังมองต่างกันในเรื่องของการกำหนดเขตเลือกตั้ง โดย กรธ.มองว่า ในเมื่อ กกต.บอกว่าการทำไพรมารีโหวตเป็นส่วนหนึ่งของการเลือกตั้ง ดังนั้น กกต.ก็ควรจะเป็นผู้กำหนดเขตการเลือกตั้งให้เหมาะสม เพราะในเมื่อ สนช.ลงผ่านกฎหมายให้มีไพรมารีโหวตแล้ว กรธ.ก็คงไม่ไปคัดค้าน แต่ต้องมาเกลาข้อความเพื่อไม่ให้การปฏิบัติต่างๆ ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ส่วนที่พรรคการเมืองร้องเรียนว่าไพรมารีโหวตปฏิบัติยากนั้น กรธ.ก็คงจะมาเกลาเพื่อให้ปฏิบัติง่ายขึ้น ส่วนเรื่องการที่ กกต.จะให้ใบเหลือง-ใบแดงเพื่อกำกับดูแลการทำไพรมารีโหวตนั้น ตนคิดว่าอาจจะไปขัดต่อหลักการที่ให้พรรคการเมืองและสมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง หาก กกต.จะให้ใบเหลืองใบแดงก็หมายความว่า กกต.ก็ต้องเป็นผู้จัดไพรมารีโหวต ไม่ใช่ให้พรรคการเมืองจัด
“ยืนยันว่า กรธ.ไม่ได้วางยา กกต.ชุดใหม่ เพราะไม่ใช่ข้าศึกกัน แต่เป็นหน่วยงานที่ต้องร่วมมือกันทำงานเพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปได้ จึงต้องช่วยกันคิด”
เมื่อถามถึงกรณีที่นักการเมืองวิจารณ์ว่ามาตรา 219 ที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระออกมาตรฐานจริยธรรมภายใน 1 ปี และต้องรับฟังความคิดเห็น ส.ส. ส.ว.และ ครม.และไม่สามารถปฏิบัติได้จริง เนื่องจากโรดแมปได้ถูกเลื่อนออกไปทำให้ยังไม่มี ส.ส.และ ส.ว.นั้น นายมีชัยกล่าวว่า สนช.ชุดนี้ทำหน้าที่แทนได้เลย เพราะทำหน้าที่ ส.ส. ส.ว.อยู่ มิเช่นนั้นทุกวันนี้กฎหมายจะออกมาได้อย่างไร และรัฐธรรมนูญก็รับรองไว้ จึงไม่มีปัญหาอะไร หลังจากนี้องค์กรอิสระจะต้องนัดประชุมจัดทำร่างมาตรฐานจริยธรรมให้เสร็จตามกำหนด และส่งมาให้ สนช.เพื่อให้มาตรฐานจริยธรรมไปบังคับใช้กับ ส.ส., ส.ว. และ ครม.ด้วย แต่ไม่ห้าม ถ้าจะออกของตัวเองให้เข้มกว่าก็ได้