xs
xsm
sm
md
lg

เปิดร่างแก้ไข กม.สถาปนิกฉบับใหม่ “กรมโยธาฯ” เน้นคุมสถาปนิกต่างชาติ-พบผิดจริงทำแบล็กลิสต์ประจานทั่วโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เปิดร่างแก้ไขพระราชบัญญัติสถาปนิกฉบับใหม่ “กรมโยธาธิการและผังเมือง” เน้นเปิดตลาด “สถาปนิกต่างชาติ” รับเป็นสมาชิก เพิ่มอำนาจสภาสถาปนิกตั้งคณะกรรมการสอบสวนสถาปนิกต่างชาติ หากพบกระทำความผิดรุนแรงถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาต พร้อมแจ้งผลการสอบสวนให้ประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศ ให้ติดแบล็กลิสต์ทำงานในประเทศอื่นๆ

วันนี้ (22 มิ.ย.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย คณะที่ 1 ให้ความเห็นต่อกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อรับข้อพิจารณาไปเป็นแนวทางการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติสถาปนิก (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ประกอบด้วย 1. การกำหนดนิยาม วัตถุประสงค์ของสภาสถาปนิก อำนาจหน้าที่ของสภาสถาปนิก อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการที่เกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพระหว่างประเทศตามข้อผูกพันระหว่างประเทศ 2. กำหนดวัตถุประสงค์ของสภาสถาปนิก อำนาจหน้าที่ของสภาสถาปนิก ที่เกี่ยวกับการรับรองปริญญา อนุปริญญา ประกาศนียบัตร หรือวุฒิบัตร เพื่อการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม 3. แก้ไขคุณสมบัติ และที่มีของกรรมการจรรยาบรรณ 4. แก้ไขบทบัญญัติให้สมาชิกต้องประพฤติตนตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรม 5. แก้ไขบทบัญญัติที่มีถ้อยคำที่ไม่ชัดเจน อาจะทำให้เกิดความสับสน และ 6. แก้ไขเพิ่มเติมอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญญัติ

ทั้งนี้ คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย คณะที่ 1 ยังมีความเห็นในร่างมาตรา 8 ให้เพิ่มอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสภาสถาปนิกในการสอบสวนสมาชิกสถาปนิกต่างชาติ โดยกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการสอบสวน ผู้ที่กระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติสถาปนิก

นอกจากนั้น ในมาตรา 15 เนื่องจากภายหลังที่คณะกรรมการสอบสวนสถาปนิกต่างชาติผู้กระทำความผิดโดยการเพิกถอนใบอนุญาตแล้ว เป็นเหตุให้สถาปนิกต่างชาติผู้ที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตไม่สามารถทำงานในราชอาณาจักรไทยได้ต่อไป ตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ดังนั้นจึงต้องกำหนดขั้นตอนวิธีการภายหลังจากคณะกรรมการสอบสวนและการเพิกถอนใบอนุญาตของสถาปนิกต่างชาติผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยเพิ่มประเด็น “เมื่อสอบสวนพบว่ามีมูลให้สภาสถาปนิก แจ้งผลการสอบสวนให้ประเทศ หรือองค์กรตามข้อผูกพันระหว่างประเทศที่ออกใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองดำเนินการตามอำนาจหน้าที่”

ทั้งนี้ ยังให้ทบทวนอัตราค่าธรรมเนียม ที่ใช้บังคับมาเป็นระยะเวลากว่า 17 ปี ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน

มีรายงานว่า สำหรับเหตุผล ในการให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าว เนื่องจากในปัจจุบันประเทศไทยมีพันธะผูกพันกับนานาชาติตามข้อตกลงต่าง ๆด้านการค้าบริการซึ่งครอบคุลมถึงบริการด้านสถาปัตยกรรม เป็นผลให้มีการเปิดตลาดการค้าบริการให้ผู้ประกอบวิชาชีพสามารถเคลื่อนย้ายเข้าไปทำงานในระหว่างประเทศที่ได้ทำข้อตกลงร่วมกัน แต่กฎหมายว่าด้วยสถาปนิกยังไม่มีบทบัญญัติที่กำหนดวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของสภาสถาปนิกและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ สภาสถาปนิก ในการกำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพระหว่างประเทศ

ประกอบกับพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว ดังนั้นเพื่อให้มีบทบัญญัติที่จะรองรับเรื่องการประกอบวิชาชีพระหว่างประเทศตามข้อผูกพันที่ได้ทำไว้แล้วและที่จะมีขึ้นอีกในอนาคต จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติให้สามารถใช้เป็นกรอบและให้อำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขต่างๆ ตลอดจนสมควรที่จะแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติบางเรื่องให้เหมาสมกับสถานภาพในปัจจุบัน

มีรายงานว่า หากกรมโยธาธิการและผังเมืองดำเนินการเสร็จจะคองเป็นเจ้าภาพจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายดังกล่าว ตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ก่อนที่จะมาดำเนินร่างพระราชบัญญัติสถาปนิก (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น