สระแก้ว - นายอำเภอวัฒนานคร เตรียมลงดาบโรงงานแป้งมัน อบต. หลังพบขั้นตอนการขออนุญาตสร้างโรงงานผิดกฎหมาย ด้านโรงงานชี้แจงใบอนุญาตได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย
วันนี้ (22 มิ.ย.) จากกรณีที่ชาวไร่มันสำปะหลังรวมตัวประท้วงด้วยการปิดถนนในพื้นที่ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว เนื่องจากโรงงานไม่รับซื้อ เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เนื่องจากจังหวัดสระแก้ว มีพรมแดนติดกับประเทศกัมพูชาทั้ง 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.อรัญประเทศ อ.ตาพระยา และ อ.คลองหาด
ซึ่งส่วนใหญ่เกษตรกรชาวกัมพูชาก็ปลูกมันสำปะหลังจำนวนมาก ซึ่งมีคุณภาพ และปริมาณมากกว่าฝั่งประเทศไทย จึงทำให้มีปัญหาการลักลอบขนมันสำปะหลังข้ามแดนในพื้นที่ดังกล่าวจำนวนมาก เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มันสำปะหลังเกินความต้องการของโรงงานที่รับชื้อในปัจจุบัน จนนำมาสู่การเรียกร้องให้มีการก่อสร้างโรงใหม่ หรือขยายกำลังผลิตในพื้นที่ในอำเภอวัฒนานคร
จากการตรวจสอบกรณีนี้ไปยัง นายศุภกฤต พรรคนาวิน อุตสาหกรรมจังหวัดสระแก้ว เรื่อง กรณีการขออนุญาตจัดตั้งโรงงานเพิ่มเติมในพื้นที่ที่เกิดการประท้วงของชาวไร่มันสำปะหลัง เพื่อตอบสนองความต้องการของชาวไร่นั้น อุตสาหกรรมจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า ยินดีหากมีผู้สนใจจะลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลังเพิ่มอีกหลายโรงงาน เพื่อที่จะได้ทำให้ชาวไร่มีทางเลือกได้มากขึ้น
ส่วนสาเหตุที่โรงงานนี้ไม่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างโรงงานใหม่เพิ่ม เนื่องจากตรวจสอบการขออนุญาต และตรวจสอบความถูกต้องทั้งหมดแล้ว พบว่่า การขอใช้พื้นที่ไปขัดต่อกฎหมายของหน่วยงานอื่นซึ่งกำหนดไว้ชัดเจน ทางกระทรวงอุตสากรรม จะต้องพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดก่อนพิจารณาอนุญาตด้วย
ทั้งนี้ จังหวัดสระแก้วได้มีประกาศการใช้ผังเมืองรวมจังหวัดสระแก้ว เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 แต่สถานที่ตั้งโรงงานแห่งใหม่อยู่ในประกาศให้เป็นพื้นที่สีเขียว หรือใช้สำหรับการเกษตรเท่านั้น แต่เอกสารที่ใช้ยื่นประกอบการขออนุญาตก่อสร้างโรงงานที่ยื่นต่อสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสระแก้ว ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2558 ส่วนอีกใบหนึ่ง ลงวันที่ 4 มิถุนายน 2558 ทางอุตสาหกรรมจังหวัด ได้มีหนัังสือสอบถามว่า ใบไหนที่ถูกต้อง และขอใบเสร็จค่าธรรมเนียมกรณีดังกล่าวด้วย
ซึ่ง นายอริยะ ไชยแสง ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลหนองน้ำใส รักษาราชการแทนนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองน้ำใส เปิดเผยว่า ทาง อบต.ได้ตรวจสอบในส่วนของคำขอ และการออกใบอนุญาต อ.1 ไม่พบเรื่องคำขอ และเรื่องทั้งหมดแต่อย่างใด รวมทั้งเอกสารที่บริษัทนำไปแสดงนั้นมีข้อพิรุธหลายประเด็น ประกอบด้วย ใบอนุญาต อ.1 ปกติจะมีอายุเพียง 1 ปี กรณีเนื้อที่ไม่เกิน 10,000 ตารางเมตร แต่บริษัทเอกชนรายนี้ระบุเพียง 3,300 ตารางเมตร และมีการออกใบอนุญาตให้ถึง 2 ปีเศษ ซึ่งถือว่าไม่ถูกต้อง
ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลหนองน้ำใส รักษาราชการแทนนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองน้ำใส เปิดเผยอีกว่า การตรวจสอบขณะนี้ พบว่า ผู้มีอำนาจลงนามในใบอนุญาต อ.1 คือ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองน้ำใส ซึ่งปัจจุบันหมดสมาชิกภาพ เนื่องจากต้องคดีความส่วนตัวและศาลมีคำพิพากษาจำคุก จึงต้องพ้นสภาพตามกฎหมาย และไม่ได้มีการมอบหมายให้ผู้ใดปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวแทน แต่ผู้ลงนามในใบอนุญาตที่อุตสาหกรรมจังหวัดส่งให้ตรวจสอบ คือ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองน้ำใส
ทั้งนี้ นายอริยะ ยังระบุอีกว่า เพื่อตรวจสอบพบข้อมูลลักษณะดังกล่าว ในฐานะรักษาราชการแทนนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองน้ำใส จึงสั่งการให้มีการตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง หากพบข้อมูลว่ามีความผิด ก็จะต้องดำเนินการสอบสวนทางวินัย หรือแจ้งความดำเนินคดีตามขั้นตอน ขณะนี้ยังไม่มีการแจ้งความ
เนื่องจากต้องรอให้มีผลการสอบสวนออกมาเสียก่อน ซึ่งตนยังไม่สามารถตอบได้ว่าเอกสารดังกล่าวเป็นการปลอมแปลงเอกสารทางราชการ เพื่อนำไปใช้ในการขออนุมัติคำขออนุญาตหรือไม่ เนื่องจากเรื่องนี้หนังสือไม่ผ่านตนเอง ทั้งๆ ที่ปกติเอกสารเกือบทุกเรื่องจะต้องผ่านปลัด อบต.เสียก่อนทุึกเรื่อง ซึ่งหลังจากนี้ ทาง อบต.หนองน้ำใส จะทำการตรวจสอบหาสาเหตุเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีต่อไป
ทางด้าน นายณัฎฐพงษ์ พัฒนรัฐ นายอำเภอวัฒนานคร กล่าวว่า ขณะนี้ทางอำเภอได้รับหนังสือจากองค์การบริหารส่วนตำบลหนองน้ำใสแล้ว โดยทางอำเภออยู่ระหว่างตรวจสอบอยู่ ทั้งนี้ เห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นความผิดอาญา ซึ่งจะได้ให้ทาง อบต.ไปแจ้งความ หลังจากนั้น จะรายงานเรื่องนี้ให้แก่ทางจังหวัดสระแก้ว ทราบต่อไป
ขณะที่ นางจิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล ผู้จัดการ และเจ้าของโรงงานบริษัทเอี่ยมบูรพา จำกัด ชี้แจงว่า ขั้นตอนของโรงงานตอนนี้อยู่ระหว่างรอฟังผลอุทธรณ์ ตามที่ทางผู้ว่าราชการจังหวัดได้ให้ทางอุตสาหกรรมจังหวัดชี้แจง ซึ่งทางอุตสาหกรรมได้ทำหนังสือตอบทางโรงงานมาว่า เรื่องทุกเรื่องทางอุตสาหกรรมขอยกเลิกคำสั่งไม่อนุญาต และเรื่องทั้งหมดได้มีการส่งไปที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งตอนนี้่รอฟังผลการอุทธรณ์อยู่
สำหรับการได้มาของใบอนุญาตก่อสร้างโรงงาน (อ.1) นั้น นางจิตรวรรณ บอกว่า “ในส่วนของใบ อ.1 เราก็เอาเอกสารทุกอย่างว่าจะสร้างโรงงาน มีอะไรบ้าง ไปขออนุญาตที่ อบต. ซึ่งทาง อบต.หนองน้ำใส ก็ออกใบ อ.1 ให้ตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งออกมาโดย อบต.ให้ทางโรงงานมา และได้มาโดยชอบ ซึ่งยืนยันได้ ส่วนช่วงที่อนุญาตจำชื่อไม่ได้ เพราะไม่ได้ไปติดต่อเอง”
ส่วน นายทศวรรษ หวังศุภกิจโกศล ลูกชายเจ้าของโรงงานซึ่งเป็นผู้ไปยื่นขอใบ อ.1 ด้่วยตัวเอง ระบุว่า ได้ไปยื่นด้วยตัวเอง โดยมีช่างเล็กเป็นผู้ออกให้เมื่อปี 2558 เป็นการก่อสร้างโรงงาน ซึ่งตอนที่ไปขอไม่ทราบว่าบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่สีเขียว ส่วนปัญหาของการออกใบ อ.1 จริงหรือเท็จนั้นตนไม่ทราบ