xs
xsm
sm
md
lg

ยังไม่จบ! สปน.นัดสู้อีกรอบ คดีเรียกค่าสัมปทานไอทีวี “ทีวีเสรี” ต้องจ่าย 1 แสนล้านบาทให้รัฐ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ยังไม่จบ! คดี สปน. เรียกค่าสัมปทานไอทีวี “ทีวีเสรี” 1 แสนล้านบาท สปน. นัดคณะกรรมการศึกษาและเตรียมการต่อสู้คดี ระหว่าง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กับ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หารือ สู้มติ “คณะอนุญาโตตุลาการ” ที่ใช้วิธีคิดคำนวณอีกแบบ ทำให้ตัวเลขออกมา ไอทีวีต้องจ่ายแค่ 2.8 หมื่นล้านบาท ทำให้ผู้เกี่ยวข้องใน สปน. ชง ครม. ขอสู้ ย้ำคำนวณค่าสัมปทานเสมือนเป็นการเจ๊ากัน

วันนี้ (20 มิ.ย.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า ในเวลา 13.00 น. ในวันพรุ่งนี้ (21 มิ.ย.) นายสมพาศ นิลพันธ์ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมคณะกรรมการศึกษาและเตรียมการต่อสู้คดี ระหว่าง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กับ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ณ ห้องประชุมอรรถไกวัลวที สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

การประชุมดังกล่าวเพื่อหารือ กรณีอนุญาโตตุลาการ ได้วินิจฉัยว่า ผู้เรียกร้องและผู้คัดค้านต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่จะต้องชำระให้แก่กันเป็นเงิน 2,890,345,205 บาท เท่ากัน สามารถนำมาหักกลบลบกันแล้วต่างไม่ต้องชำระหนี้ต่อกัน คดีนี้ แต่เดิม สปน. ได้เรียกร้องให้บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ชำระจ่ายค่าปรับ และค่าสัมปทานค้างจ่ายรวมประมาณ 1 แสนล้านบาท แต่ “คณะอนุญาโตตุลาการ” ได้ใช้วิธีคิดคำนวณอีกแบบ ทำให้ตัวเลขออกมาเท่าจำนวนดังกล่าว ซึ่งผู้เกี่ยวข้องใน สปน. ถึงกับออกมาระบุว่า “เสมือนเป็นการเจ๊ากัน” โดย สปน. ไม่เห็นด้วย

มีรายงานว่า คดีนี้แม้ทาง สปน. และ อัยการสูงสุด เคยยื่นฟ้องศาลปกครองเพื่อเรียกค่าปรับจากไอทีวีแล้ว แต่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้อง โดยให้ สปน. ไปดำเนินการตามระบบอนุญาโตตุลาการเช่นกัน สปน.- อัยการ จึงอุทธรณ์เรื่องนี้ไปยังศาลปกครองสูงสุด และศาลปกครองสูงสุด ก็วินิจฉัยคดีที่ไอทีวีฟ้องเสียก่อน โดยเห็นพ้องกับไอทีวีที่เสนอให้ตั้งอนุญาโตฯ ชี้ขาดปัญหาเรื่องค่าปรับที่ไอทีวียืนยันว่า ตนไม่ได้ผิดสัญญา จึงไม่ต้องจ่ายสัมปทานและค่าปรับแก่ สปน.

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยมีมติรับทราบ “ข้อพิพาทสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ ฉบับลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2538 โดยคณะอนุญาโตตุลาการ ตามข้อพิพาทได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทรวม 6 ประเด็น โดยมีบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เป็นผู้เรียกร้อง และ สปน. เป็นผู้คัดค้านและยื่นข้อเรียกร้องแย้ง ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว และมีคำชี้ขาด เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2559 ในคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ 6 ประเด็น มีดังนี้

1 .ที่ว่า คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจวินิจฉัยขาดข้อพิพาทตามคำเสนอข้อพิพาทนี้หรือไม่ คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดว่า มีอำนาจ

2 . คำเสนอข้อพิพาทในเรื่องสิทธิเรียกร้องค่าผลประโยชน์ตอบแทนส่วนต่างหรือตอบแทนรายปี และค่าปรับพร้อมดอกเบี้ยเคลือบคลุมหรือไม่ อนุญาโตตุลาการชี้ขาดว่า ไม่เคลือบคลุม

3. คำเสนอข้อพิพาทนี้ซ้อนกับคำเสนอข้อพิพาทหมายเลขดำ ที่ 1/2550 หรือไม่ อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดว่า ไม่ซ้อน

4. ค่าปรับและดอกเบี้ยขาดอายุความหรือไม่ อนุญาโตตุลาการ มีคำชี้ขาดว่า ไม่ขาดอายุความ

5. ผู้คัดค้านผิดสัญญาด้วยการยกเลิกสัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมายกับใช้สิทธิไม่สุจริต และไม่ให้ผู้เรียกร้องดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ตามสัญญา เป็นเหตุให้ผู้เรียกร้องเสียหายหรือไม่เพียงใด และผู้คัดค้านต้องปฏิบัติตามคำขอของผู้เรียกร้องหรือไม่ เพียงใด อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดในประเด็นนี้ว่า ผู้คัดค้านผิดสัญญาด้วยการบอกเลิกสัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมาย และใช้สิทธิเรียกร้องไม่สุจริต เป็นเหตุให้ผู้เรียกร้องได้รับความเสียหาย โดยประธานอนุญาโตตุลาการกำหนดค่าเสียหายให้กับผู้เรียกร้อง เป็นเงิน 2,890,345,205 บาท

6. ผู้เรียกร้องต้องชำระเงินและปฏิบัติชำระหนี้แก่ผู้คัดค้านตามคำขอในข้อเรียกร้องแย้งหรือไม่ เพียงใดนั้น อนุญาโตตุลาการ มีคำชี้ขาดไว้ว่า ผู้คัดค้านไม่อาจเรียกค่าปรับ แต่ผู้เรียกร้องต้องชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนส่วนต่างที่ตกค้างชำระพร้อมดอกเบี้ย เป็นเงิน 2,890,345,205 บาท ให้แก่ผู้คัดค้าน

มีรายงานว่า คดีประวัติศาสตร์ ที่รัฐบาลเป็นทั้งโจทก์และจำเลยสลับกัน ในยุคธุรกิจการเมืองเฟื่องฟู คือ การฟ้องร้องค่าผิดสัญญา - ยกเลิกสัมปทานสถานีโทรทัศน์ไอทีวี สืบเนื่องจากเมื่อปี 2547 บริษัท ชินคอร์ป ได้ยื่นเรื่องต่อ อนุญาโตตุลาการ ขอแก้ไขสัญญาสัมปทาน และขอลดค่าสัมปทาน ที่ต้องจ่ายให้รัฐ ปีละ 1,000 ล้านบาท โดยอ้างว่า เอกชนรายอื่นจ่ายต่ำกว่า

ต่อมาคณะอนุญาโตตุลาการ ได้วินิจฉัยชี้ขาดในวันที่ 30 ม.ค. 2547 ลดค่าสัมปทานไอทีวีลง เป็นปีละ 230 ล้านบาท พร้อมทั้งอนุญาตให้แก้ไขสัดส่วนการออกอากาศ รายการสาระ ต่อรายการบันเทิง จากร้อยละ 70 ต่อ 30 เป็นร้อยละ 50 ต่อ 50 และวินิจฉัยให้รัฐจ่ายค่าชดเชยแก่ไอทีวี เป็นเงิน 20 ล้านบาท

สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการต่อศาลปกครองกลาง ต่อมามีคำพิพากษา ให้เพิกถอนคำสั่งของอนุญาโตตุลาการ ที่ชี้ขาดให้ สปน. ลดค่าสัมปทานให้ไอทีวีและจ่ายค่าชดเชย

นอกจากนี้ ไอทีวี ยังต้องเสียค่าปรับ จากการผิดสัญญาสัมปทาน จากการเปลี่ยนแปลงผังรายการ คิดเป็นร้อยละ 10 ของค่าสัมปทานในแต่ละปี โดยคิดรายวัน วันละ 100 ล้านบาท นับตั้งแต่เริ่มมีการปรับผังรายการ ระยะเวลา 2 ปี เป็นค่าปรับเกือบ 1 แสนล้านบาท ถึงแม้ว่าไอทีวียื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดแต่ก็ไม่เป็นผล

ต่อมา ครม. มีมติวันที่ 27 ก.พ. 2550 ว่า หากไอทีวีไม่สามารถจ่ายค่าปรับและค่าสัมปทานค้างจ่าย ประมาณ 1 แสนล้านบาทได้ ภายในวันที่ 7 มี.ค. 2550 ให้เลิกสัมปทานทันที ทำให้ นายจตุรงค์ สุขเอียด กับพวกรวม 4 คน ฟ้อง ครม. กับพวกรวม 2 คน ต่อศาลปกครองกลาง ขอให้เพิกถอนมติ ครม.ดังกล่าว ทว่าผลคำพิพากษาศาลปกครองกลางยกฟ้อง

ต่อมาปี 2558 ที่ประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีมติรับทราบ “ข้อพิพาทสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ ฉบับลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2538 โดยให้ สปน. ดำเนินการดังกล่าวนี้”
กำลังโหลดความคิดเห็น