สมาชิกเพื่อไทย ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน สอบ ร่าง พ.ร.บ. ยุทธศาสตร์ และ พ.ร.บ. ปฏิรูปประเทศ เข้าข่ายเจ้าหน้าที่รัฐกระทำมิชอบต่อรัฐธรรมนูญตาม มาตรา 231(2) หรือไม่ หลังพบตราไม่ถูกต้อง แนะ ครม. ถอนร่างไปทำให้ถูกต้อง
วันนี้ (16 มิ.ย.) ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคเพื่อไทย เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่าน นายสงัด ปัถวี รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบและเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลปกครองว่าการเสนอและการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ พ.ศ... และร่าง พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.... เข้าลักษณะเป็นกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือ กฎหมายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 231 (2) หรือไม่
นายเรืองไกร กล่าวว่า ร่างพระบัญญัติ 2 ฉบับดังกล่าวทราบว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะมีการพิจารณาวาระสองและสามในวันที่ 22 มิ.ย. นี้ แต่จากที่ตนได้ตรวจสอบพบว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎหมายทั้งสองฉบับเมื่อวันที่ 4 เม.ย. และนายกรัฐมนตรีลงนามหนังสือถึงประธาน สนช. ส่งร่างกฎหมายดังกล่าวให้พิจารณาในวันเดียวกัน และเมื่อมาตรวจสอบในส่วนของเหตุผลประกอบร่างกฎหมายดังกล่าวก็พบว่า มีการอ้างบทบัญญัติมาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญ 60 ในการตรา พ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.... และบทบัญญัติมาตรา 259 ในการตรา พ.ร.บ. แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ทั้งที่ในวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวไปยัง สนช. รัฐธรรมนูญ 60 มาตรา 65 และมาตรา 259 ยังไม่มีผลใช้บังคับ การระบุ เหตุผลในการตราร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับจึงไม่ถูกต้อง เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 60 มีการประกาศและมีผลบังคับใช้ในวันที่ 6 เม.ย. จึงเห็นว่า การเสนอและการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับ โดยอ้างบทบบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 60 ก่อนที่จะมีผลใชับังคับนั้นเข้าข่ายเป็นกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญมาตรา 231 (2)
“ฝากถึงคณะรัฐมนตรี และ สนช. ว่าจะทำยังไงก็ได้ ขอให้นำร่างนี้กลับไปพิจารณาใหม่ ร่างกฎหมาย 2 ฉบับนี้ไปต่อไม่ได้ เพราะสมัยที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เป็น สนช. และ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานวุฒิสภา มีการเสนอร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยทักษิณ ตัวเนื้อกฎหมาย หรือตัวบทกฎหมายไม่ได้มีปัญหา แต่มีการอ้างวรรคกฎหมายผิด นายวิษณุ ก็อภิปรายเอง เรื่องพวกนี้จะผิดและปล่อยผ่านไปไม่ได้ ดังนั้นร่างพระราชบัญญัติ 2 ฉบับที่ สนช. กำลังจะมีการพิจารณาวาระสาม ในวันที่ 22 มิ.ย. จึงไม่ควรที่จะเป็นการพิจารณาเพื่อตราเป็นกฎหมาย เพราะถ้าเลยไปถึงชั้นนั้นก็ต้องมีการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ ที่ประชุม สนช. จึงควรพิจารณาคว่ำร่าง หรือถ้าจะให้เกิดผลเสียน้อยที่สุดคณะรัฐมนตรี ก็ควรจะเสนอขอถอนร่างกลับไป เพื่อนำไปให้ ครม.พิจารณาใหม่ให้ถูกต้องและเสนอกลับมาให้ สนช. พิจารณาทีเดียว 3 วาระรวดก็ได้ ก็จะทำให้ผู้ตรวจหมดประเด็นที่จะวินิจฉัยและสั่งยุติเรื่องได้เช่นกัน รวมถึงการนำร่างกฎหมายไปพิจารณาใหม่ก็ไม่น่าทำให้การออกกฎหมายดังกล่าวช้าจนเกินกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน นับแต่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้” นายเรืองไกร กล่าว