ทีมกฎหมายเพื่อไทยยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน ร้องสอบขั้นตอนออกร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศ ชี้ส่อขัดรัฐธรรมนูญ
วันนี้ (26 มิ.ย.) ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบขั้นตอนการออกร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และร่าง พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ลงมติเห็นชอบวาระ 3 ไป เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่ามีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ คณะรัฐมนตรีมีมติเสนอร่างฯ ไปยัง สนช.เมื่อวันที่ 4 เม.ย.ก่อนที่รัฐธรรมนูญปี 2560 จะประกาศบังคับใช้ ดังนั้น ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับที่ตราขึ้นจึงน่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 259 วรรคสอง และมาตรา 275 เพราะทั้งสองมาตราระบุชัดว่าจะต้องจัดการให้การเสนอหรือตรากฎหมายหลังจากที่รัฐธรรมนูญ 2560 มีผลประกาศใช้ เป็นเหตุให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน สามารถเสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ เพื่อให้ได้ข้อยุติก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะดำเนินการตามมาตรา 81 ต่อไป
นายเรืองไกรยังกล่าวว่า การที่ ครม.อ้างเหตุผลการจัดทำร่างกฎหมายปฎิรูปและยุทธศาสตร์ เป็นการอ้างมาตรา 65 และ 259 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ไปใช้บังคับย้อนหลังทำไม่ได้ เนื่องจากวันที่ ครม.ประชุม และมีมติดังกล่าว รัฐธรรมนูญยังไม่มีผลบังคับ
“มาตรา 164 ยังมีบทบัญญัติไว้ส่วนหนึ่งว่า ถ้ายังไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ คณะรัฐมนตรีย่อมไม่มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินตามบทบัญญัตินั้นๆ กรณีที่ ครม.ลงมติเสนอร่างกฎหมาย ทั้งสองฉบับ โดยอาศัยบทบัญญัติที่ยังไม่มีผลบังคับใช้มาเป็นเหตุผลในการจัดทำร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ เป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการบริหารราชการแผ่นดินที่ไม่ชอบ และหาก สนช.ยอมรับว่าการจัดทำร่างกฎหมายทั้งสองฉบับที่เริ่ม ตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย.เป็นเรืองที่ทำได้ ก็แสดงว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มีผลบังคับย้อนหลังได้ เท่ากับว่าในวันที่ 4 เมษายน ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญซ้อนกันอยู่ทั้งฉบับชั่วคราว 2557 และ รัฐธรรมนูญ 2560 จึงอาจไม่ชอบตามไปด้วย เพราะเข้าลักษณะเป็นการตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 148 ที่ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป”
ทั้งนี้ นายเรืองไกรยังระบุด้วยว่า ได้ยื่นคำร้องเป็นจดหมายลงทะเบียนถึงนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ขอให้ทบทวนร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ และให้พิจารณาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามอำนาจของนายกรัฐมนตรีในมาตรา 148 ด้วย เพื่อให้เกิดความชัดเจน และไม่มีปัญหาทางกฎหมายตามมาในภายหลัง
“ตอนนี้ต้องไปตีความว่ากฎหมายปฎิรูปและยุทธศาสตร์ที่บอกว่าต้องทำใน 120 วัน จะมีโทษหรือผลอะไรหรือไม่ เพราะในยุทธศาสตร์นี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี บอกว่าถ้าออกไปแล้วใครไม่ทำตาม มีโทษติดคุก รวมทั้ง ครม.ด้วย ต้องย้อนกลับมาถาม ครม.ของท่านประยุทธ์ที่มีรองฯ วิษณุอยู่ด้วยว่าแล้วตัวกฎหมายที่ท่านไม่ทำตามเองท่านจะทำอย่างไร ฝากให้ท่านช่วยดู เพราะท่านแม่นกฎหมายกว่าผมมาก ผมเป็นเพียงแค่คนตรวจ” นายเรืองไกรกล่าว
ก่อนหน้านี้ นายเรืองไกรได้เคยมายื่นคำร้องเรื่องดังกล่าวต่อผู้ตรวจฯ มาแล้วครั้งหนึ่งโดยขณะนั้นร่างกฎหมาย 2 ฉบับยังไม่ผ่านการพิจารณาวาระ 3 ของ สนช. จึงขอให้ผู้ตรวจส่งเรื่องให้ศาลปกครองพิจารณา แต่เมื่อผ่านการพิจารณาของ สนช. นายเรืองไกรจึงมายื่นอีกครั้งเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย