สนช.พิจารณากฎหมายลูกผู้ตรวจการแผ่นดิน “มีชัย” แจงแก้จากที่ส่งมาแค่ 2-3 ประเด็น เน้นช่วยเหลือเจ้าหน้าที่รัฐให้ปฏิบัติถูกต้อง ให้อำนาจลงโทษหากแนะนำแล้วทำเฉย เลี่ยงตั้งทีมทำงานแทน ด้านสมาชิกหวั่นคุณสมบัติสูงเกิน อาจหาคนนั่งยาก “พรเพชร” ถามหากสรรหาขัด รธน.จะทำยังไง เจ้าตัวโยนถามศาลรัฐธรรมนูญให้ผู้ตรวจฯ อยู่ต่อได้หรือไม่ ก่อนมีมติรับหลักการ 217 งดออกเสียง 4 ไม่ลงคะแนน 1
วันนี้ (15 มิ.ย.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 10.00 น. การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ทำหน้าที่เป็นประธานพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชี้แจงว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ผู้ร่างคือผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่วน กรธ.แก้ไขสาระสำคัญเพียง 2-3 ประเด็น คือ 1. บทบาทของผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งลักษณะผู้ตรวจการแผ่นดินทั่วโลก คือ ปรึกษาหารือช่วยเหลือให้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติให้ถูกต้อง เที่ยงธรรม ดูแลช่วยเหลือเจ้าหน้าที่มากกว่าจับผิด 2. การเสนอแนะของผู้ตรวจฯ ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่มักจะไม่ปฏิบัติตามจึงไม่สามารถแก้ปัญหาของราษฎรได้ ขณะที่การให้อำนาจเบ็ดเสร็จก็จะกระทบเจ้าหน้าที่รัฐ กรธ.จึงหาทางสายกลาง กรณีที่ผู้ตรวจฯ พบว่ามีการกระทำที่ไม่เป็นไปตามตัวบทกฎหมาย หรือกฎหมายเป็นอุปสรรค ให้ผู้ตรวจฯ ปรึกษาหารือกับหน่วยงานนั้นก่อนจึงแนะนำให้เขาปฏิบัติ หากเพิกเฉยจึงจะมีบทลงโทษ และ 3. ให้พยายามหลีกเลี่ยงการตั้งคณะบุคคลทำงานแทนผู้ตรวจฯ
ทั้งนี้ สมาชิก สนช.ได้แสดงความเป็นห่วงประเด็นการกำหนดคุณสมบัติบุคคลที่จะเข้ารับการสรรหาเป็นผู้ตรวจฯ ไว้สูงเกินไป อาจจะหาบุคคลที่จะอาสามาเป็นกรรมการองค์กรอิสระได้ยาก และอยู่ในวงจำกัด จึงกังวลว่าจะได้ผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนได้ยาก
ขณะที่นายพรเพชรได้ตั้งข้อสังเกตว่ารัฐธรรมนูญเขียนคุณสมบัติของผู้ตรวจฯ และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในลักษณะที่แตกต่างกัน ซึ่งผู้ตรวจฯ ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการสรรหาประกาศกำหนด หากขัดรัฐธรรมนูญจะมีช่องทางดำเนินการต่อไปอย่างไร ส่วนกรรมการ ป.ป.ช. รัฐธรรมนูญเขียนคุณสมบัติผู้ได้รับการสรรหาไว้ชัดเจน
ด้านนายมีชัยชี้แจงว่า กรธ.ได้พิจารณาการคงอยู่ในตำแหน่งของกรรมการองค์กรอิสระไว้ 3 แนวทาง คือ 1. ตั้งใหม่ทั้งหมด 2. ให้คงไว้เฉพาะคนที่มีคุณสมบัติ และ 3. ให้อยู่ไปเลย ซึ่งคิดว่าสองทางเรื่องแรกจะไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ส่วนทางเลือกที่สามหมิ่นเหม่ต่อการขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ กรธ.ไม่มีสิทธิส่งประเด็นข้อสงสัยไปยังศาลรัฐธรรมนูญ แต่ สนช.มีสิทธิส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ หาก สนช.เห็นว่าทางเลือกที่สามใช้ได้ กรธ. ก็ไม่ว่าอะไร หากศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าใช้ได้ กรธ.ก็จะใช้เป็นทางเลือกที่ 3
“กรธ.ปรับปรุงองค์กรอิสระเป็นการพัฒนาปฏิรูปบ้านเมือง อะไรที่ต้องจบก็จบ อะไรที่อยู่ก็ต้องอยู่ ไม่ได้รังเกียจหรือไม่ให้ความเป็นธรรมใครเป็นการเฉพาะตัว ถ้าจะเดินไปข้างหน้าก็ต้องปรับปรุงแก้ไขจะกระทบบ้างเป็นบางคนแค่นั้น ส่วนการกำหนดคุณสมบัติผู้เข้ารับการสรรหาเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินไว้สูง ส่วนตัวยังเชื่อว่าเวลาสรรหาถ้าเราเปิดกว้างก็จะไม่น่ามีปัญหา ส่วนที่เขียนคุณสมบัติของผู้ตรวจฯ และกรรมการ ป.ป.ช.แตกต่างกันจริง เพราะหลักใหญ่ของผู้ตรวจฯ คือมีประสบการณ์ในการบริหาราชการแผ่นดิน แต่ ป.ป.ช.ระบุโครงสร้างไว้ชัดเจน ก็ไม่มีอะไรที่คณะกรรมการสรรหาจะต้องไปกำหนดคุณสมบัติอีก”นายมีชัยกล่าว
จากนั้นที่ประชุม สนช.มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน ในวาระแรกด้วยคะแนนเห็นด้วย 217 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง โดยตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จำนวน 19 คน กำหนดกรอบเวลาดำเนินงาน 45 วัน