xs
xsm
sm
md
lg

กอ.รมน.แจงกำลังพล จชต.เช่าเหมาลำเครื่องบิน เหตุย่นเวลา ปลอดภัย สร้างกำลังใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พ.อ.พีรวัชฌ์ แสงทอง โฆษก กอ.รมน. (แฟ้มภาพ)
โฆษก กอ.รมน.แจงเหตุกำลังพล จชต.ใช้เครื่องบินเช่าเหมาลำในการเดินทาง เหตุมีข้อดีกว่าใช้รถยนต์ ทั้งเรื่องระยะเวลา ความปลอดภัย เพิ่มขวัญกำลังใจ ใช้เที่ยวบินที่งบต่ำที่สุด ทำตามระเบียบ ไม่มีกำหนดชั้นยศในการบิน จุดหมายตามหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ ยันไม่มีการปิดกั้นสื่อ

วันนี้ (14 มิ.ย.) พ.อ.พีรวัชฌ์ แสงทอง โฆษก กอ.รมน.เปิดเผยว่า กรณีที่มีการกล่าวถึงการเดินทางของกำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) ในการลาผลัดพักด้วยเครื่องบินพาณิชย์เช่าเหมาลำ ซึ่งได้ปรากฏเป็นข่าวในสื่อ social mediaว่า เพราะเหตุใดจึงใช้เครื่องบินเช่าเหมาลำในการเดินทางของกำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งที่กองทัพอากาศมีเครื่องบิน C-130 ที่ใช้บินตามปกติ และได้ระบุอีกว่ามีการทุจริตในการดำเนินการหรือไม่

กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ขอชี้แจงว่า กำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ จชต.เป็นไปตามนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2558-2564, ยุทธศาสตร์ กอ.รมน. พ.ศ. 2560-2564 และนโยบายการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2560-2562 กำลังพลที่ปฏิบัติงานประกอบไปด้วย ข้าราชการพลเรือน ตำรวจ และทหารซึ่งมีอยู่ในพื้นที่ และกำลังพลจากส่วนต่างๆ นอกพื้นที่ที่มาปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

การปฏิบัติงานของกำลังพลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีวันหยุดราชการ ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างขวัญและดูแลสวัสดิการให้แก่กำลังพล โดยยึดหลักทำงาน 45 วัน พัก 15 วัน ซึ่งการจัดการลาพักของกำลังพลมีความอ่อนตัวสูง ขึ้นอยู่กับภารกิจของหน่วย, สถานการณ์ในห้วงระยะเวลา และความปลอดภัยของกำลังพล

เดิมการจัดการเดินทางของกำลังพลที่ได้รับผลัดพักที่มีภูมิลำเนาอยู่นอกพื้นที่ภาคใต้ เช่น พื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง กอ.รมน.จะจัดให้เดินทางโดยรถยนต์โดยสาร ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2557 กอ.รมน.ได้พิจารณาถึงข้อดี-ข้อเสีย ของการเดินทางโดยรถยนต์โดยสารกับแนวทางอื่นๆ ในการเดินทางลาพักของกำลังพลที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้เปลี่ยนจากการใช้รถยนต์โดยสารเป็นการเดินทางโดยใช้เครื่องบินแทนซึ่งมีข้อดีหลายประการ เช่น ใช้ระยะเวลาน้อยในการเดินทางไป-กลับ, รักษายอดกำลังพลได้ดีกว่าเพราะทราบเวลาในการเดินทางถึงได้แน่นอนกว่า, มีความปลอดภัยในการเดินทางมากกว่า, เพิ่มขวัญและกำลังใจให้กับกำลังพล และสามารถสนับสนุนงานอื่นๆ ได้ เช่น การเดินทางไปราชการในพื้นที่ จชต.ของหน่วยงานอื่นๆ, การสนับสนุนการส่งกำลัง และการขนส่งสิ่งอุปกรณ์ เป็นต้น

ในการดำเนินการ กอ.รมน.ได้มีการตรวจสอบและสอบถามราคาจากบริษัทสายการบิน จำนวน 4 บริษัท และ กองทัพอากาศ (C-130) รวมทั้งสิ้น 5 ราย (เพื่อเปรียบเทียบ) ซึ่งจากการตรวจสอบราคาแล้วพบว่า บริษัท สกายวิว แอร์เวย์ จำกัด (R Airline) เป็นสายการบินที่มีค่าบริการต่อเที่ยวบินต่ำที่สุดอยู่ในวงเงินงบประมาณที่ กอ.รมน.ได้จัดเตรียมไว้ สนับสนุนการบริการและการลาพักของกำลังพลได้อย่างคุ้มค่าสูงสุด โดยเป็นลักษณะค่าจ้างคงที่ ไม่จำกัดปริมาณ (OPEN END) ซึ่ง กอ.รมน.ได้ดำเนินกรรมวิธีจัดหาเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม)

การบริการกำลังพลในการเดินทางนั้นไม่มีกำหนดชั้นยศ เป็นการบริการให้แก่กำลังพลทุกคนที่ปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการจัดเที่ยวบินแต่ละเที่ยว สำนักงานบริหารงานบุคคล กอ.รมน.(สบค.กอ.รมน.) จะจัดตามรายชื่อกำลังพลลาผลัดพักเป็นส่วนใหญ่ หากมีที่นั่งเหลือจะจัดสำหรับกำลังพล กอ.รมน. และหน่วยงานของรัฐและเอกชนที่สนับสนุนงานของ กอ.รมน.เป็นลำดับถัดไป โดยมีเส้นทางบินไปยังสนามบินในภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ เชียงใหม่, เชียงราย, พิษณุโลก, ขอนแก่น, อุบลราชธานี, หาดใหญ่ , นราธิวาส และดอนเมือง เป็นต้น

การเผยแพร่ข่าวสารและการประชาสัมพันธ์การดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น กอ.รมน.ได้มีการประชาสัมพันธ์กิจกรรมทุกๆ ด้านมาโดยลำดับ และไม่เคยปิดกั้นสื่อมวลชนแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น