เมืองไทย 360 องศา
เริ่มกันไปแล้วตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายนสำหรับการตอบ 4 คำถามโดนใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ให้ประชาชนทั่วประเทศตอบคำถามเข้ามา โดยมีการจัดสถานที่ให้ประชาชนเข้าไปตอบคำถามแสดงความคิดเห็นตามสถานที่ราชการที่กำหนดไว้ เช่น ในต่างจังหวัดก็ให้ไปที่ศูนย์ดำรงธรรมในอำเภอและจังหวัดต่างๆ ที่กระจายกันอยู่ ส่วนในกรุงเทพฯ ก็เป็นที่สำนักงานเขตทุกเขต
เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นก็ต้องย้อนกลับไปพิจารณา 4 คำถามดังกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
1. ท่านคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่ 2. หากไม่ได้ จะทำอย่างไร
3. การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวที่ไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศ และเรื่องอื่นๆ เช่น ประเทศชาติจะมียุทธศาสตร์และการปฏิรูปหรือไม่นั้น ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง และ 4. ท่านคิดว่ากลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณี ควรจะมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้อีก เกิดปัญหาซ้ำอีก แล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีอะไร
งานนี้กระทรวงมหาดไทยรับหน้าเสื่อในการพิมพ์เอกสารตั้งคำถามให้ครบตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กำหนดเอาไว้ แน่นอนว่าเมื่อเป็นงานราชการที่กำหนดโดยมหาดไทยแบบนี้มันก็ต้องมีกระบวนการที่ซับซ้อนไม่สะดวกกันพอสมควร เช่น ต้องใช้หมายเลขบัตรประชาชนเพื่อแสดงตัวตนของทุกคนที่มาตอบคำถามแสดงความเห็น ที่สำคัญมีการตอบคำถามต่อหน้าเจ้าหน้าที่ซึ่งก็น่าเชื่อว่าคำตอบน่าจะ “อวย” กันแบบหยดย้อยไปเลย
และก็เป็นไปตามคาด เมื่อรูปแบบการหาคำตอบในลักษณะแบบนี้ มีการบังคับให้ต้องเปิดเผยตัวตนอย่างที่เห็นมันก็ย่อมได้คำตอบอีกคำตอบหนึ่งนั่นคือ “ความเงียบเหงา” แทบทุกพื้นที่มีประชาชนเดินขึ้นไปบนอำเภอหรือที่สำนักงานเขตในกรุงเทพฯ เพื่อตอบคำถาม 4 ข้อของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กันแบบบางตาวันแรกแค่หลักสิบหลักร้อยเท่านั้น จนทางกระทรวงมหาดไทย ทั้ง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้องมาตั้งหลักกันใหม่ โดยกำชับให้ กฤษดา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ต้องเข้มข้น เพิ่มช่องทางสร้างบรรยากาศให้เป็นกันเองมากกว่า
จากการเปิดเผยล่าสุดของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ระบุว่ากำลังพิจารณาเพิ่มช่องทางในการตอบคำถามทางอินเตอร์เนต รวมถึงช่องทางอื่นๆ และที่สำคัญยังไม่มีการกำหนดเวลาในการปิดรับการตอบคำถามแต่อย่างใด เอาเป็นว่า “ลากยาว” ไปก่อน
ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างบรรยากาศให้มันคึกคักขึ้นมาให้ได้ อย่างน้อยก็ต้องคึกคักมากกว่าเดิม ซึ่งการอำนวยความสะดวกการเพิ่มช่องทางการตอบคำถามทางอินเตอร์เนตน่าจะช่วยได้บ้าง
อย่างไรก็ดี งานนี้ถือว่าเป็นการพิสูจน์ครั้งสำคัญสำหรับทั้ง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ กฤษดา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะ “มือปฏิบัติ” ที่ต้องทำงานอย่างเต็มกำลังให้ “เข้าตา” นายให้ได้ เพราะถ้าบรรยากาศยังเงียบเหงาวังเวง ขยายเวลาก็แล้ว เพิ่มช่องทางในการตอบคำถามอีกหลายช่องก็ยังเงียบ งานนี้ไม่ใครก็ใครก็ต้องถูกเรียกเข้าห้องเย็นไป “ตอบคำถาม” กันแบบสองต่อสองกันบ้างละ
สำหรับ มท.1 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา น่าจะเอาตัวรอดได้ในฐานะ “พี่รอง” ที่ไม่ว่าอย่างไรเก้าอี้ตัวนี้ก็ยังแน่นปึ้กไม่มีทางโยกคลอนไปได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะมีผลงานหรือไม่อย่างไร ทุกอย่างก็ต้องเป็นไปแบบนี้แหละ แต่ที่น่าเป็นห่วงก็มีแต่เก้าอี้ปลัดมหาดไทยนี่แหละที่น่าเป็นห่วง หากงานนี้ผลออกมาไม่น่าประทับใจ “ถูกเพื่อนล้อ” แน่เลย โดยเฉพาะเปิดช่องให้ฝ่ายตรงข้ามอย่างฝ่ายพรรคการเมือง ทั้งพรรคเพื่อไทย และแม้ฝ่ายประชาธิปัตย์ก็เถอะที่รอจังหวะถล่มกันให้จมดินอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม หากไม่ห่วงเรื่อง “จำนวน” ของคำตอบ กันแล้วก็ต้องบอกว่าคำตอบที่ได้ก็น่าจะล็อกผลเอาไว้ได้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่ามันต้องออกมาในทางบวกต่อ “ลุงตู่” ทั้งในเรื่องของการปิดทางนักการเมืองชั่วๆ เลวๆ เข้ามาสู่วงจรเลือกตั้ง ขณะเดียวกันมันก็สนับสนุนให้เขา “อยู่ต่อ” อยู่กันไปแบบยาวๆ ในช่วงที่เรียกว่า “เปลี่ยนผ่าน” อย่างน้อย 5 ปี
แม้ว่านาทีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะย้ำว่าการให้ประชาชนตอบ 4 คำถามมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ หรือความหมายก็ไม่ได้หวังผลอะไรตามมามากมายนัก แต่จะพูดตรงกับใจหรือไม่นั้นอีกเรื่องหนึ่ง
แต่ถ้าถามว่าผลที่ออกมาจะออกมาแบบไหนก็ต้องฟันธงไว้ล่วงหน้าเลยว่ามัน “ล็อกคำตอบ” เอาไว้ล่วงหน้า และที่สำคัญเป็นคำตอบที่ต้อง “อวย” ให้ เขาอยู่ต่อนั่นแหละ!