ศูนย์ข่าวศรีราชา - งานเข้า เมืองพัทยาจี้ผู้ประกอบการอาคาร 101 ราย ในพัทยาใต้ต้องลงทุนควักกระเป๋าเพื่อมีส่วนร่วมรับผิดชอบแก้ไขปัญหาน้ำเสีย ระบุมีปัญหาสร้างมลพิษทางทะเล หลังพบสร้างน้ำเสียกว่า 1,000 ลบ.ม./วัน
วันนี้ (14 มิ.ย.) ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา จ.ชลบุรี พล.ต.ต.อนันต์ เจริญชาศรี นายกเมืองพัทยา เชิญคณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ และตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการอาคารพัทยาใต้ 101 ราย เข้าร่วมประชุมเพื่อชี้แจงสภาพ และแนวทางการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่พัทยาใต้ จ.ชลบุรี หลังจากที่ได้รับนโยบายตรงจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ต้องการให้มีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เนื่องจากการตรวจสอบพบว่า ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการบางส่วนไม่ได้ดำเนินการจัดระบบบำบัดน้ำเสีย และป้องกันสิ่งปฏิกูลที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีการลักลอบปล่อยทิ้งลงสู่ทะเล ซึ่งสร้างปัญหาแก่สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก
พล.ต.ต.อนันต์ กล่าวว่า สำหรับพื้นที่อาคาร 101 ราย บริเวณพัทยาใต้ ถือเป็นกลุ่มอาคารร้านค้า และสถานบันเทิงที่อยู่คู่กับเมืองพัทยามาเป็นเวลานานจนเป็นแหล่งเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญ แต่พบว่า อาคารเหล่านี้มีปัญหาเรื่องของการปลูกสร้างที่รุกล้ำไปในทะเลอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งต่อมา ได้มีมติ ครม.ให้ทำการรื้อถอนอาคาเหล่านี้ออกตั้งแต่ปี 2541 แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ที่ชัดเจน ซึ่งกรณีดังกล่าวคงเป็นเรื่องที่จะต้องมีการดำเนินการกันต่อไปว่าจะมีการยืนยันให้รื้อถอน หรือปรับภูมิทัศน์เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการท่องเที่ยว แต่ในช่วงที่อาคารเหล่านี้ยังคงประกอบการอยู่ในพื้นที่ก็ต้องมีส่วนร่วมในการสร้างความเจริญ และส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างจริงจังด้วย
ทั้งนี้ ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมืองพัทยาได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจสภาพของอาคาร และปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยพบว่าปัญหาหนึ่งที่ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ และสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก คือ กรณีของปัญหาน้ำเน่าเสีย และสิ่งปฏิกูล ซึ่งพบว่าไม่มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ขณะที่บางรายยังมีการลักลอบปล่อยน้ำเสีย และสิ่งปฏิกูลลงสู่ทะเล จึงระบุได้ว่า ผู้ประกอบการอาคาร 101 รายนี้ถือเป็นอีกต้นตอหนึ่งที่สร้างปัญหามลพิษด้านสิ่งแวดล้อม และด้วยนโยบายของ มท.1 ที่กำหนดไว้ว่า “ใครเป็นผู้ทำ คนนั้นก็ต้องดูแลแก้ไข” ผู้ประกอบการจึงต้องเข้ามามีส่วนรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมา ได้เข้ามาทำธุรกิจสร้างผลประโยชน์ให้แก่ตัวเองมากมายมาเป็นเวลานานแต่ภาระกลับตกสู่ท้องถิ่น ทุกฝ่ายจึงต้องหันหน้าเข้าหากัน และเข้ามีมีส่วนในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
ด้าน นายสมภพ วันดี ผอ.ส่วนจัดการระบบป้องกันและระบายน้ำ สำนักช่างสุขาภิบาล กล่าวว่าจากผลการสำรวจพื้นที่ของอาคาร 101 ราย นั้นพบว่า มี 23 ราย ที่จัดทำระบบป้องกันปัญหาน้ำเสีย ดักไขมัน และสิ่งปฏิกูล ก่อนส่งต่อเข้าสู่ระบบรวมของเมืองพัทยา แต่ในส่วนที่เหลือยังไม่มีความชัดเจน โดยจำนวนนี้จะมี 4-5 ราย ที่ปล่อยน้ำเสีย และสิ่งปฏิกูลลงสู่ทะเลโดยตรง ซึ่งที่ผ่านมา เมืองพัทยาพยายามเข้าตรวจสอบ และชี้แจงขอความร่วมมือไปแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้จัดทำจนเข้าระบบอย่างสมบูรณ์ทั้งหมด
ขณะที่ นายอภิชาต วีรปาล รองนายกเมืองพัทยา กล่าวว่า จากการตรวจสอบสถิติการใช้น้ำพบว่าพื้นที่นี้จะมีการใช้น้ำจาก 2 แหล่ง คือ น้ำประปา และน้ำบาดาล ซึ่งจะเกิดปริมาณน้ำเสียสูงถึง 24,000 ลบ.ม./เดือน หรือ 1,000 ลบ.ม./วัน แต่น้ำเสียเหล่านี้เป็นน้ำที่เกิดจากสถานประกอบการจำพวกร้านอาหาร และสถานบริการซึ่งมีปริมาณไขมันสูง เมื่อส่งเข้าสู่ระบบบำบัดรวมของเมืองพัทยา ก็อาจสร้างปัญหาได้ เนื่องจากระบบรวมไม่ได้มีการรองรับปัญหาเหล่านี้ไว้อย่างสมบูรณ์ อีกทั้งปัจจุบันระบบบำบัดน้ำเสียของเมืองพัทยาเองก็ถึงขีดสูงสุดของความสามารถในการรองรับน้ำเสียที่เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้น ผู้ประกอบการ 101 รายนี้ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มอาคารที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการด้วยการจัดทำระบบเอง โดยทำการรวบรวมน้ำเสียที่เกิดขึ้นก่อนทำการบำบัด และปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการจะต้องลงทุน โดยมีเมืองพัทยาเป็นพี่เลี้ยงในการออกแบบระบบให้ในเวลาอันใกล้นี้
ทั้งนี้ ในช่วงท้ายการประชุมผู้ประกอบการบางส่วนออกมาชี้แจงว่า ปัญหามลพิษทางทะเลส่วนใหญ่น่าจะเกิดจากระบบบำบัดน้ำเสียของเมืองพัทยาที่ไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากการระบายน้ำลงสู่ทะเลนั้นส่วนใหญ่พบว่า น้ำมีคุณภาพต่ำ และขุ่นดำอย่างมาก ขณะที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็ให้ความร่วมมือด้วยดี อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการแก้ไขปัญหานั้นทางผู้ประกอบการส่วนใหญ่พร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ซึ่งจะได้จัดส่งตัวแทนเข้าร่วมในการหารือ และจัดทำระบบต่อไป
มีรายงานว่า การประชุมครั้งนี้มีผลสรุปที่จะทำการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้น 1 ชุด โดยมี นายอภิชาต วีรปาล รองนายกเมืองพัทยา เข้ามากำกับดูแล พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนชุมชน 101 ราย เพื่อหารือแผนในการบริหารจัดการ วางระบบ ออกแบบ และกำหนดงบประมาณในการลงทุน ซึ่งจะต้องมีผลสรุปให้แล้วเสร็จภายใน 1 สัปดาห์ ก่อนนำเสนอต่อผู้เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป