xs
xsm
sm
md
lg

ดันเมืองพัทยา แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในภาคตะวันออก ตามแผน EEC

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ระดมความคิดจากภาครัฐ-เอกชน ผลักดันเมือพัทยาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ
ศูนย์ข่าวศรีราชา - รัฐ-เอกชน เมืองพัทยา ระดมความคิดเห็นเพื่อสอดรับข้อเสนอแผนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง หลัง ครม.มีมติเห็นชอบให้จัดทำข้อสรุปเสนอแผนเร่งด่วนรัฐบาลใน 3 เดือน โดยผลักดันเมืองพัทยา ด้วยงบนับหมื่นล้าน เน้น 8 โครงการหลัก แก้ปัญหาน้ำท่วม ระบบสาธารณูปโภค สิ่งแวดล้อม รถรางไฟฟ้า (Tram) พัทยาเมืองใหม่ (Pattaya On Pier) และ Mice City เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในภาคตะวันออก

วันนี้ (6 ส.ค.) ที่โรงแรมเคปดารา รีสอร์ท พัทยา จ.ชลบุรี นายกลินท์ สารสิน ประธานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในฐานะคณะทำงานด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวและ MICE ของโครงการพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic corridor : EEC) เชิญกลุ่มนักธุรกิจ ผู้บริหารเมืองพัทยา ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของภาครัฐ เอกชน และชุมชน เข้าร่วมประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับสภาพปัญหา และข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ก่อนรวบรวมนำเสนอต่อภาครัฐบาลเป็นการเร่งด่วน

นายกลินท์ กล่าวว่า วันที่ 28 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ได้แก่ พื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง โดยมอบหมายให้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาจัดทำรายละเอียดโครงการพัฒนาให้แล้วเสร็จใน 3 เดือน ทางคณะทำงานจัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย EEC จึงได้ขอความร่วมมือผ่านมายังคณะทำงานสานพลังประชารัฐให้ช่วยประสานการจัดทำข้อเสนอพัฒนาด้านการท่องเที่ยว โดยขอให้จัดทำข้อเสนอแผนการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ เพื่อผนวกเป็นส่วนของโครงการพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกด้วย จึงเป็นมาที่มาของการหารือเพื่อระดมความคิดเห็นก่อนนำสรุปเสนอตรงต่อรองนายกรัฐมนตรี และภาครัฐบาลต่อไป

โดย นายกลินท์ เปิดเผยว่า จากการจัดทำแผนเบื้องต้นได้มีแนวทางในการพัฒนากว้างๆ ออกเป็น 3 แนวทางหลัก ได้แก่ 1.เรื่องของ Zoning โดยเสนอให้รวมเอาเมืองพัทยา เกาะไผ่ และเกาะล้าน เข้าเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เนื่องจากเมืองพัทยาถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ และนโยบายรวมถึงรายได้ด้านการท่องเที่ยวในปัจจุบันถือว่าเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ โดยจะเห็นได้จาก GDP ซึ่งมีอัตราการเติบโตกว่า 14% ทั้งนี้ ได้มีการนำเสนอให้มีการปรับปรุงกฎระเบียบสำหรับพื้นที่ท่องเที่ยวพิเศษอย่างเมืองพัทยาใหม่ เช่น การยกเว้นเวลา และสถานที่ในเรื่องของแอลกอฮอล์ หรือ Duty Free หรือการเพิ่มเติมในส่วนของแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ เช่น Pattaya on Pier ที่พักแบบ Long Stay และเรื่องของการศึกษาเป็นต้น

2.ระบบ Logistic ซึ่งเสนอให้มีการพัฒนาปรับปรุงถนนสาย 331 การจัดทำอุโมงค์ หรือสะพานข้ามจุดตัด หรือทางแยกเพื่อรองรับปริมาณรถ และนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต รวมทั้งการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อระหว่างสุวรรณภูมิ กับอู่ตะเภา โครงการระบบรถไฟฟ้าแบบ Tram หรือรางบนพื้นในพื้นที่เมืองพัทยา เพื่อลดปัญหาการจราจร ไม่บดบังภูมิทัศน์ เพิ่มความสะดวกแก่ผู้สูงอายุ คนพิการ และเชื่อมโยงกับระบบคมนาคมหลัก การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ให้เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ และการพัฒนาท่าเทียบเรือน้ำลึกจุกเสม็ด ให้เป็น Cruise Terminal เพื่อรองรับเรือสำราญจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการเป็น Home Port และท่าเรือ Ferry เชื่อมโยงเส้นทางในประเทศ

และ 3.การพัฒนาและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการจัดการปัญหาขยะ การแก้ไขปัญหาระบบสาธารณูปโภค ทั้งไฟฟ้า ประปา การดูแลชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ การดูแลจัดสรรงบประมาณเพื่อการรักษาและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ และมาตรการอำนวยความสะดวกแก่แรงงานต่างชาติ

ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการนำเสนอแผนเพื่อการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยเฉพาะเมืองพัทยา ซึ่งถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ก่อนจะสรุปเป็นประเด็นหลักเข้าสู่แผนเพื่อเสนอต่อภาครัฐบาล ซึ่งมีสาระสำคัญใน 8 โครงการหลัก ได้แก่ 1.โครงการปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อมที่ต้องเร่งรัดดำเนินการ ได้แก่ โครงการป้องกันปัญหาน้ำท่วมขัง การพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย การกำจัดขยะ และการจัดทำสะพาน หรืออุโมงค์ข้ามทางแยก 2.การเสนอจัดทำถนนส่วนต่อขยายถนนบูรพาวิถี จากจังหวัดชลบุรี ไปถึงสนามบินอู่ตะเภา 3.การจัดทำระบบรถรางไฟ ฟ้า (Tram) ในพื้นที่เมืองพัทยา

4.โครงการจัดทำถนนบูรพาชลทิต ระยะที่ 2 เชื่อมโยงการท่องเที่ยว 5.การพัฒนาศักยภาพมุ่งสู่การเป็น Mice City ในพื้นที่เมืองพัทยา 6.การสร้างแหล่งท่องเที่ยวพัทยาเมืองใหม่ Pattaya on Pier บริเวณอ่าวหลังโครงการวอล์กกิ้งสตรีท พัทยาใต้ 7.การพัฒนาระบบการศึกษา และ 8.การส่งเสริมพื้นที่ลักษณะ Wellness Center โดยโครงการเหล่านี้คาดว่าจะใช้งบประมาณลงทุนรวมนับหมื่นล้านบาท ซึ่งจะได้รวบรวมนำเสนอต่อภาครัฐบาลในการกำหนดทิศทาง และให้การพัฒนาบรรลุวัตถุประสงค์ต่อไป
เน้น 8  โครงการหลักในเมืองพัทยา ต้องรีบดำเนินการ
กำลังโหลดความคิดเห็น