xs
xsm
sm
md
lg

คน อปท.โวย! มหาดไทยอ้างหนี้สาธารณูปโภคท้องถิ่นสูงถึง 1 พันล้าน ยก 2 เคส ใครสมควรจ่ายค่าไฟฟ้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คน อปท.โวย! มหาดไทยอ้างหนี้สาธารณูปโภคท้องถิ่นสูงถึง 1 พันล้าน ยกปัญหาค่าไฟฟ้า “ประปาหมู่บ้าน” มหาดไทยบริหารจัดการผิดพลาด ยกให้ “กรรมการบริหารกิจการและบำรุงรักษาระบบประปาหมู่บ้าน” ดูแลค่าไฟฟ้าแทน อปท. ไม่ได้วางแนวทางกรณีค่าไฟฟ้า ชี้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ก่อให้เกิดหนี้ ส่วนปัญหาค่าไฟฟ้า “สถานีสูบน้ำหมู่บ้าน” แม้ได้รับถ่ายโอนจาก “กรมชลประทาน” แต่ก็มีหนี้สะสมมาก่อน ด้าน “สถ.” จี้ผู้ว่าฯ แจ้ง อปท.เร่งทำงบปี 60-61 จ่ายค่าสาธารณูปโภคให้หมด หวั่นภาพลักษณ์ อปท.เสีย ส่วนมหาดไทยนัดสรุปหนี้ปัจจุบัน-ย้อนหลัง ปี 59 พร้อมตั้งกรรมการฯติดตามแผนละเอียด

วันนี้ (13 มิ.ย.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า ในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ กระทรวงมหาดไทยเตรียมประชุมเพื่อกำหนดมาตรการแก้ปัญหาหนี้สาธารณูปโภคค้างชำระของส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ครั้งที่ 1/2560 ที่อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นอกจากรับทราบเพื่อดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2560 เรื่องแนวทางและหลักการมาตรการแก้ปัญหาหนี้สาธารณูปโภคค้างชำระของส่วนราชการแล้วจะมีการสรุปค่าสาธารณูปโภคที่กระทรวงมหาดไทยค้างค่าชำระ (ปี 2560, ปี 2559 และก่อนปี 2559)

“นอกจากติดตามการดำเนินการตามมาตรการแก้ปัญหาหนี้สาธารณูปโภคค้างชำระของส่วนราชการ จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามการดำเนินการตามมาตรการแก้ปัญหาหนี้สาธารณูปโภคค้างชำระของส่วนราชการ จัดทำแผนประมาณการค่าสาธารณูปโภคของส่วนราชการ/หน่วยงาน และจัดทำแผนการใช้สาธารณูปโภคของส่วนราชการ/หน่วยงาน ก่อนรายงานปลัดกระทรวงหมาดไทย และรัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทยต่อไป”

สำหรับยอดค้างชำระของกระทรวงมหาดไทย ในปี 2560 ในส่วนของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) มียอดค้างชำระประมาณ 23 ล้านบาท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ประมาณ 1,260 ล้านบาท การประปานครหลวง (กปน.) ประมาณ 25 ล้านบาท การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ประมาณ 9 ล้านบาท รวมทั้งหมดประมาณ 1,300 ล้านบาทเศษ

มีรายงานว่า ขณะที่เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ให้แจ้งองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กว่า 7,300 แห่ง หลังนายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ออกมาระบุว่า หนี้ค่าไฟฟ้าที่เป็นข่าวทั้งหมดกว่า 1,000 ล้านบาท ไม่ได้เป็นของหน่วยงานที่สังกัดกับกระทรวงมหาดไทยโดยตรง แต่เป็นหนี้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

ขณะที่หนังสือดังกล่าวระบุว่า การที่มีข่าวว่า อปท.ติดหนี้กว่า 1,000 ล้านบาทนั้นอาจะทำให้เกิผลเสียแก่ อปท.ในภาพรวม หนังสือฉบับนี้จึงขอให้เร่งรัด อปท.ชำระหนี้ที่ค้างชำระ เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อภาพลักษณ์และศักยภาพในการบริหารงานของ อปท.

“ให้ผู้ว่าฯ กำชับ อปท.ที่ตั้งงบประมาณรายจ่าย ปี 2560 ค่าสาธารณูปโภค รีบชำระค่าไฟฟ้า ประปา ที่ค้างจ่าย หากตั้งไว้ไม่พอจ่าย ให้โอนงบประมาณจากเงินเหลือจ่าย หรือรายการหมดความจำเป็นต้องใช้จ่าย โอนมาเพื่อชำร่าสาธารณูปโภคตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีการงบประมาณของ อปท. พ.ศ. 2541 และหาก อปท.ไม่ได้ตั้งงบประมาณร่ายจ่ายปี 2560 ค่าสาธารณูปโภค หรือมีงบประมาณไม่เพียงพอ ให้ตั้งงบประมาณปี 2561 ให้เพียงพอในการชำระหนี้ และกำชับ อปท.ดำเนินการให้เสร็จโดยเร็วและอย่าให้เกิดกรณีเช่นนี้อีก”

ก่อนหน้านั้นปลัดมหาดไทยอ้างว่า อปท.เช่น เทศบาล มีหนี้ค่าไฟฟ้า 329 ล้านบาท อบต.มีหนี้ค่าไฟฟ้า 750 ล้านบาท ส่วนหนี้ค่าไฟภายในศาลากลางจังหวัดต่างๆ ซึ่งมีหน่วยราชการอื่นๆ ร่วมอยู่ด้วยไม่ได้ชำระค่าไฟฟ้าเอง แต่ชำระค่าใช้จ่ายที่ขึ้นกับผู้ว่าฯ ทั้งหมด เนื่องจากศาลากลางถูกขึ้นทะเบียนเป็นครุภัณฑ์ของกระทรวงมหาดไทย แม้แต่ไฟทางและไฟถนน ก็เป็นค่าใช้จ่ายที่ขึ้นกับผู้ว่าฯ ด้วยเช่นกัน จึงดูเหมือนว่ากระทรวงมหาดไทยเป็นหนี้ค่าไฟจำนวนมาก ทั้งที่จริงๆ แล้วหนี้ค่าไฟฟ้าในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ผวจ. และนายอำเภอทั่วประเทศมีเพียง 40 ล้านบาทเท่านั้น

แหล่งข่าวจาก อปท.ตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมาค่าไฟฟ้าระบบประปาหมู่บ้าน และค่าไฟฟ้าสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า เป็นปัญหาที่เกิดจากการบริหารจัดการ ซึ่งกระทรวงมหาดไทย และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นควรจะวางแนวทางแก้ไขระเบียบหลักเกณฑ์ให้ทันสมัยเพื่อแก้ไขปัญหาและป้องกันการเกิดปัญหาขึ้นอีก เช่น ควรจะรวบรวมข้อมูลวิเคราะห์หาสาเหตุที่ก่อให้เกิดหนี้ค้างจำนวนมากว่าเกิดขึ้นจากเหตุใดบ้าง แต่ละสาเหตุจะแก้ไขกันอย่างไร มากกว่าขายผ้าเอาหน้าขึ้น เพียงเพื่อให้พ้นๆ ไปเป็นครั้งคราว

ทั้งนี้ จากตัวอย่าง “ค่าไฟฟ้าระบบประปาหมู่บ้าน” กรณีค่าไฟฟ้าของ อปท. ที่มอบให้คณะกรรมการบริหารกิจการและบำรุงรักษาระบบประปาหมู่บ้าน เป็นผู้ดูแล ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการบริหารกิจการและการบำรุงรักษาระบบประปาหมู่บ้าน พ.ศ. 2548 ซึ่งอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดหนี้ในนาม อปท.ได้ และที่สำคัญกระทรวงมหาดไทยไม่ได้วางแนวทางกรณีค่าไฟฟ้า ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการ ว่าสามารถใช้งบประมาณของ อปท.ได้หรือไม่ อย่างไร

ส่วน “ค่าไฟฟ้าโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า” ที่ได้รับถ่ายโอนจากกรมชลประทาน เป็นที่ทราบกันดีว่าโครงการนี้บางแห่ง มีหนี้มาก่อนถ่ายโอน และอาจมีหนี้เพิ่มขึ้นได้อีกหลังถ่ายโอน โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มีหนังสือที่ มท 0890.3/1957 ลว 16 พฤศจิกายน 2549 เรื่อง การบริหารจัดการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำหนดการบริหารจัดการไว้ 3 รูปแบบ โดยรูปแบบที่ 1 ท้องถิ่นบริหารจัดการเอง โดยเก็บค่าบริการจากกลุ่มเกษตรกร รูปแบบที่ 2 มอบให้กลุ่มเกษตรกรบริหารจัดการ และให้กลุ่มเกษตรกร เป็นผู้รับผิดชอบค่าไฟฟ้า และรูปแบบที่ 3 อปท. และกลุ่มเกษตรกรร่วมกันบริหารจัดการ โดยให้กลุ่มเกษตรกร เก็บค่าบริการส่งให้ อปท เพื่อชำระค่าไฟฟ้า สรุปได้ว่า ทั้ง 3 รูปแบบ เกษตรกรมีส่วนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าทั้งสิ้น

“โดยตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินของ อปท. พ.ศ. 2547 ข้อ 45 กำหนดไว้ว่า "การเบิกเงินซึ่งมีลักษณะเป็นค่าใช้จ่ายประจำ และมีการเรียกเก็บเป็นงวดๆ หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามประเภทที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกำหนด ให้ถือว่าค่าใช้จ่ายนั้นเกิดขึ้นเมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับแจ้งให้ชำระหนี้ และให้นำมาเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ได้รับแจ้งให้ชำระหนี้ได้" และหนังสือกรมการปกครองท้องถิ่นที่ มท 0808.2/ว1814 ลว 15 กันยายน 2559 เรื่อง ซักซ้อมความเข้าใจการเชิกจ่ายค่าใช้จ่ายที่ให้ถือว่าเป็นรายจ่าย เมื่อได้รับแจ้งให้ชำระหนี้ ข้อ 3 รายการค่าใช้จ่ายเฉพาะเดือนสิงหาคม-กันยายน 3.1 ค่าน้ำประปา 3.2 ค่าไฟฟ้า ทั้ง 2 ฉบับ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามระเบียบ กำหนดให้ อปท.เบิกจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ย้อนหลังข้ามปีได้แค่ 2 เดือนสุดท้ายของปีงบประมาณที่ผ่านมา (ส.ค.-ก.ย.) เท่านั้น สำหรับเดือนหรือปีก่อนหน้านั้น อปท.ต้องขอทำความตกลงยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบฯ”

มีรายงานว่า สำนักงบประมาณได้แจ้งว่า ปีงบประมาณ 2560 มีหนี้ค่าสาธารณูปโภคของรัฐวิสาหกิจ 5 แห่ง ที่หน่วยงานต่างๆ ค้างอยู่รวม 4,096 ล้านบาท เป็นหนี้ค้างตั้งแต่ก่อนปีงบประมาณ 2560 จำนวน 595 ล้านบาท และหนี้ในปีงบประมาณปี 2560 รวม 3,501 ล้านบาท ประกอบด้วยบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) มีหน่วยงานต่างๆ ยังไม่ชำระหนี้ 1,250 ล้านบาท การ ไฟฟ้านครหลวง 410 ล้านบาท การประปานครหลวงรวม 52 ล้านบาท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 2,229 ล้านบาท และการประปาส่วนภูมิภาค 154 ล้านบาท

ส่วนหนี้ค่าสาธารณูปโภคฯ ปีงบประมาณ 2546 มีจำนวน 4,372.600 ล้านบาท เป็นหนี้ที่เกิดก่อนปีงบประมาณ 2546 จำนวน 768.980 ล้านบาท และหนี้ที่เกิดในปีงบประมาณ 2546 จำนวน 3,603.680 ล้านบาท

ขณะที่ในปีงบประมาณปี 2543 หนี้ค่าสาธารณูปโภคฯ มีจำนวน 4,213 ล้านบาท เป็นหนี้ที่เกิดก่อนปีงบประมาณ 2543 จำนวน 597 ล้านบาท และหนี้ที่เกิดในปีงบประมาณ 2543 จำนวน 3,616 ล้านบาท

กำลังโหลดความคิดเห็น