อีจีเอ เผยผลสำรวจภาครัฐใช้จี-คลาวด์ ปีงบประมาณ 2560 แล้ว 772 ระบบ 386 หน่วยงาน พบกระทรวงสาธารณสุข ใช้บริการมากที่สุด คาด 5 ปี นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ดันภาครัฐใช้งานเพิ่มเป็น 2,000 ระบบ ช่วยลดงบประมาณ 30% ส่วนความคืบหน้าจดทะเบียนธุรกิจบนเว็บเดียวอยู่ระหว่างการรองบ 4,000 ล้านบาท จาก กสทช.
นายศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์กรมหาชน) หรือ อีจีเอ กล่าวว่า ระบบคลาวด์ภาครัฐ หรือ จี-คลาวด์ (Government Cloud Service) เป็นระบบเครือข่ายไฟเบอร์ออปติกความเร็วสูงที่มีความปลอดภัย ถูกออกแบบให้ทำงานแบบ Multi Data Center เพื่อรองรับการขยายตัวในอนาคต ปัจจุบันครอบคลุมทุกกระทรวง กรม และส่วนราชการระดับภูมิภาค โดยติดตั้งเชื่อมโยงเครือข่ายไปทั่วประเทศ ขณะนี้มีหน่วยงานของรัฐเชื่อมโยงกับจี-คลาวด์ แล้ว 772 ระบบ 386 หน่วยงาน โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ใช้เชื่อมโยงใช้บริการมากที่สุด 72 หน่วยงาน รองลงมา คือ กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี), กระทรวงมหาดไทย ส่วนการใช้บริการระบบพบว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ใช้งานมากที่สุด 494 ระบบ ซึ่งคาดว่า จี-คลาวด์ จะติดตั้ง และเชื่อมโยงเครือข่ายทั่วประเทศครอบคลุมทุกหน่วยงานของรัฐภายในสิ้นปีนี้
ทั้งนี้ ในฐานะหน่วยงานไอทีภาครัฐ จี-คลาวด์ สามารถให้บริการโครงการสำคัญๆ ของหน่วยงานต่างๆ มากมาย อาทิ ระบบโครงการระบบภาษี และเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์, โครงการNational e-Payment โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน), ระบบการยื่นแจ้งผลิตภัณฑ์สุขภาพ ก่อนการนำเข้า โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.), ระบบโครงการดูแลสุขภาพตลอดช่วงชีวิต โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน และกระทรวงศึกษาธิการ, ระบบบูรณาการฐานข้อมูลประชาชนและการบริการภาครัฐ โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และระบบสารสนเทศเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เป็นต้น
นายศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากแผนพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ 5 ปี เพื่อมุ่งยกระดับบริการของรัฐด้านแรงงาน การศึกษา สาธารณสุข และบริการประชาชน ทำให้หน่วยงานราชการมีโครงการใหญ่ด้านเทคโนโลยี 80 โครงการ ใน 26 เรื่อง เช่น โครงการติดตั้งเซนเซอร์ในระบบขนส่งมวลชนของกระทรวงคมนาคม เป็นต้น ทำให้คาดว่า ตัวเลขการใช้ จี-คลาวด์ จะเพิ่มสูงขึ้นจาก 772 ระบบ เป็น 2,000 ระบบ นอกจากนี้ ยังคาดว่าจะช่วยลดงบประมาณในการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ 10,000 ล้านบาทต่อปีได้ถึง 30 %
“ถ้าหน่วยงานทำระบบเก็บข้อมูลเองต้องใช้งบประมาณจัดซื้อเครื่องแม่ข่าย งบประมาณจ้าง บุคลากรมากมายมหาศาล ปี 59 ภาครัฐประหยัดจากการใช้จี-คลาวด์ ถึง 900 ล้านบาท ยืนยันว่าเรามาถูกทางในการใช้คลาวด์บริหารจัดการข้อมูลภาครัฐ”
นายศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าในการทำดาต้า เซ็นเตอร์ แห่งชาตินั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างให้หน่วยงานรัฐกว่า 300 หน่วยงานสำรวจความต้องการของหน่วยงานตนเองก่อนว่า ภายใน 5 ปี ต้องการนำระบบไหน ฝากไว้ที่ดาต้า เซ็นเตอร์ แห่งชาติ ที่จะสร้างขึ้น ส่วนไหนจะให้เอกชนดูแล และส่วนไหนจะเก็บไว้ภายใต้การดูแลของตนเอง จึงจะทราบว่า ควรจะสร้างดาต้า เซ็นเตอร์ แห่งชาติ ด้วยงบประมาณจำนวนเท่าไหร่ ขณะเดียวกัน อีจีเอ ก็ได้เตรียมลิสต์รายชื่อใบรับรองมาตรฐานด้านดาต้าเซ็นเตอร์ให้เอกชนที่ต้องการให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์กับภาครัฐ หากเอกชนที่มีใบรับรองครบถ้วนตามที่อีจีเอ กำหนดก็จะสามารถให้บริการภาครัฐได้
“มาตรฐานดาต้าเซ็นเตอร์ที่อีจีเอ ทำการลิสต์นั้น ล้วนเป็นมาตรฐานสากลที่เอกชนส่วนใหญ่มีอยู่แล้ว เพียงแต่อีจีเอ จะมีแนวทางให้ชัดเจนมากขึ้น และระบบต้องเชื่อมต่อกับภาครัฐโดยง่าย โดยอีจีเอ จะนำเรื่องนี้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีก่อน จากนั้น จะนำเข้าบอร์ดดีอี ซึ่งจะมีการประชุมในเดือน ก.ค.ที่จะถึงนี้”
ส่วนความคืบหน้าเรื่องการจัดทำระบบจดทะเบียนธุรกิจผ่านเว็บเดียวตามที่ ครม.มีมติไปนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการรองบประมาณ ซึ่ง ครม.มีมติให้ของบจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จำนวน 4,000 ล้านบาท เพื่อทำงานภายในกรอบระยะเวลา 3 ปี ซึ่งกระบวนการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติ จะต้องเป็นผู้ดำเนินการ เพราะตามกฎหมายระบุว่า กสทช.ต้องนำรายได้ส่วนหนึ่งส่งให้สำนักงานดังกล่าวด้วย
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน อีจีเอมีบริการ Biz Portal เพื่อเชื่อมต่อกับหน่วยงานกระทรวงพาณิชย์, กระทรวงแรงงาน, บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน), การไฟฟ้านครหลวง, การไฟฟ้าภูมิภาค, การประปานครหลวง อยู่แล้ว แต่ยังไม่เพียงพอ เพราะจริงๆ แล้ว ยังมีหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกเกือบ 10 หน่วยงาน ซึ่งเป็นหน้าที่ของอีจีเอ ที่จะบูรณาการเอาไว้ในเว็บเดียว คาดว่าอีก 3 เดือน จะมีแนวทางต้นแบบออกมาอย่างแน่นอน
***กสทช.เห็นชอบนำเงิน 127 ล้านบาทให้กองทุนดีอี
ด้าน นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2560 สำนักงาน กสทช.ได้นำเงินรายได้ส่งเข้ากองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) เป็นเงินประเดิมครั้งแรกในไตรมาสที่ 1 เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 127.957 ล้านบาท โดยมาจากเงินประมูลเลขหมายสวย 11.609 ล้านบาท และมาจากเงินบัญชีของสำนักงาน กสทช.อีก 116.348 ล้านบาท ทั้งนี้ การนำส่งเงินดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามมาตรา 24 (3) และ (4) ของ พ.ร.บ. การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 ที่กำหนดให้สำนักงาน กสทช.จะต้องจัดสรรเงิน 15% ที่ได้รับจากการจัดสรรคลื่นความถี่ และรายได้ของสำนักงานฯ เข้ากองทุนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งในการนำส่งเงินดังกล่าว สำนักงาน กสทช.จะทำการนำส่งทุกไตรมาส
นอกจากนี้ ที่ประชุม กสทช.ได้มีมติเห็นชอบในหลักการในการสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจแบบครบวงจร (Doing Business Portal) ของสำนักงาน ก.พ.ร. วงเงิน 4,000 ล้านบาท และให้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) พิจารณาให้สอดคล้องตามระเบียบ แล้วให้เสนอกลับมาที่ กสทช.โดยด่วนต่อไป