xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองสูงสุดยืนคำสั่งห้าม กสทช.ยึดหลักทรัพย์ค้ำประกันไทยทีวี เหตุยังไม่ตัดสินว่าผิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือ ติ๋ม ทีวีพูล (แฟ้มภาพ)
ศาลปกครองสูงสุดยืนคำสั่งห้าม กสทช.ยึดหลักทรัพย์ค้ำประกันของบริษัท ไทยทีวี ที่นำมาวางค้ำประกันการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ระบบดิจิตอลในงวดที่เหลือ จนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น เหตุศาลยังไม่ชี้ใครทำผิดสัญญา ระบุหากปล่อยให้ยึดก่อนเท่ากับบริษัท ไทยทีวี แพ้คดีทั้งที่ยังไม่มีคำพิพากษาของศาล

วันนี้ (1 มิ.ย.) ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลางที่สั่งไม่ให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดำเนินการใดๆ เพื่อยึดหลักทรัพย์ค้ำประกันตามหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่บริษัท ไทยทีวี จำกัด ของนางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือติ๋ม ทีวีพูล นำมาวางค้ำประกันการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ระบบดิจิตอล ในงวดที่เหลือคือตั้งแต่งวดที่ 3-6 ไว้ จนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวสืบเนื่องหลังจากศาลปกครองกลางได้รับคำฟ้องที่บริษัท ไทยทีวี จำกัด ซึ่งได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ระบบดิจิตอล ยื่นฟ้อง กสทช.ว่าไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมายหรือแผนแม่บทและคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ในการเชิญชวนให้เข้าร่วมประมูลโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล และบริษัท ไทยทีวีฯ ได้ขอยกเลิกใบอนุญาตและเลิกประกอบกิจการไปแล้ว ซึ่งกสทช.มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตและเรียกบริษัท ไทยทีวีฯ ชำระค่าธรรมเนียมที่ค้างชำระ จึงขอให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต และให้กสทช. คืนเงินค่าธรรมเนียมที่บริษัท ไทยทีวีฯ ชำระไปแล้วจำนวน 365,512,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี รวมทั้งระงับการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมงวดที่เหลือ 3-6 จำนวนประมาณ 1,364,800,000ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี และเรียกค่าเสียหาย 713,828,282.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ไว้พิจารณา และมีคำสั่งคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยให้ กสทช.ระงับการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมงวดที่ 3-6 และห้ามดำเนินการเพื่อบังคับตามหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพฯ จำกัด (มหาชน) ที่บริษัท ไทยทีวีฯ นำมาวางไว้แก่ กสทช. จนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ทาง กสทช.จึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อขอให้ยกเลิกคำสั่งกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวดังกล่าว

ส่วนที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองกลางระบุว่า ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติว่าบริษัท ไทยทีวี ไม่ได้ประกอบกิจการโทรทัศน์ระบบดิจิตอลตามที่ได้รับอนุญาตแล้ว และคดีมีประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยว่าบริษัท ไทยทีวีฯ หรือ กสทช. ปฏิบัติผิดข้อตกลงหรือสัญญาที่มีต่อกัน สำหรับ กสทช.นั้นจะมีสิทธิเรียกให้ธนาคารชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันก็เฉพาะแต่ในกรณีที่ กสทช. ไม่ได้ผิดข้อตกลงหรือสัญญาเท่านั้น ซึ่งกรณีบริษัท ไทยทีวี หรือ กสทช. เป็นฝ่ายผิดข้อตกลงหรือสัญญาเป็นปัญหาที่ศาลจะต้องวินิจฉัยต่อไป กสทช.จึงยังไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องให้ธนาคารชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันเสมือนบริษัท ไทยทีวีฯ เป็นฝ่ายผิดข้อตกลงหรือสัญญาได้ เนื่องจากหากดำเนินการไปแล้ว ธนาคารย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอากับบริษัท ไทยทีวีฯ ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นได้ ซึ่งมีผลเท่ากับบริษัท ไทยทีวีฯ เป็นฝ่ายแพ้คดีทั้งที่ยังไม่มีคำพิพากษาของศาล การใช้สิทธิของ กสทช. จึงเป็นการกระทำซ้ำและกระทำต่อไปซึ่งการผิดสัญญา และการที่ศาลจะมีคำสั่งดังกล่าวมีผลเพียงทำให้ กสทช.ยังไม่ได้รับเงินค่าธรรมเนียมในทันทีเพื่อนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินเท่านั้น ซึ่งตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตก็ได้กำหนดให้ชำระค่าธรรมเนียมเป็นงวดๆ อยู่แล้ว ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลางที่มีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาดังกล่าวไว้จนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
กำลังโหลดความคิดเห็น