xs
xsm
sm
md
lg

คึกคัก! เปิดคลินิกแก้หนี้วันแรกคนสนใจกว่า 3 พันราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คลินิกแก้หนี้เปิดวันแรกมีผู้ให้ความสนใจเกินคาดกว่า 3 พันราย ขณะที่เครดิตบูโร ตั้งโต๊ะตรวจข้อมูลเครดิตฟรี 3 เดือน พร้อมแนะตรวจสอบหนี้นอกบัญชีเครดิตอย่างเข้มงวด เพื่อให้การปรับโครงสร้างหนี้มีประสิทธิภาพ

นายนิยต มาศะวิสุทธิ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM กล่าวว่า การเปิดคลินิกแก้หนี้ในวันแรกวันนี้ (1 มิ.ย.) ว่า มีผู้สนใจติดเข้ามาสอบถามข้อมูลที่สำนักงาน และผ่านเว็บไซต์มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมทั้งวันกว่า 3,000 ราย แบ่งเป็นสอบถามผ่านเว็บไซต์ประมาณ 3,000 ราย และเดินทางมาที่สำนักงาน 100 ราย ซึ่งหลังจากลูกหนี้ได้กรอกแบบฟอร์มต่างๆ ครบถ้วนแล้ว เจ้าหน้าที่จะโทรศัพท์ไปติดต่อเพื่อนัดหมายเข้ามาพูดคุยเพื่อปรับโครงสร้างหนี้กันต่อไป

ส่วนกรณีลูกหนี้ที่เข้ามาที่สำนักงานนั้น จะมีทั้งในส่วนของการเข้ามาสอบถามรายละเอียดต่างๆ ก่อน และผู้ที่มีข้อมูลอยู่แล้ว และเข้ามาปรึกษา ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็จะให้ความสะดวกตามขั้นตอนที่มีไว้อยู่แล้ว โดยผู้ที่มาสอบถามข้อมูลนั้น ก็จะต้องกลับไปเตรียมพร้อมด้านเอกสารก่อน แล้วจึงกลับมาอีกครั้ง

“ตัวเลขผู้สนใจที่เข้ามานั้น ถือว่าสูงกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ จากเดิมที่คาดกันประมาณ 10,000 รายในปีนี้ ซึ่ง ณ ตอนนี้ที่มีพนักงาน Full Time อยู่ 20 คน ก็ยังรับไหว แล้วก็คงจะรอดูสถานการณ์ต่อไปก่อน”

**เครดิตบูโร ร่วมตั้งจุดตรวจข้อมูลสินเชื่อฟรี**

ด้าน นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) กล่าวว่า เครดิตบูโร ได้ร่วมอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่มาใช้บริการคลินิกแก้หนี้ โดยตั้งจุดตรวจสอบข้อมูลสินเชื่อที่สำนักงานของคลีนิคแก้หนี้เป็นเวลา 3 เดือน พร้อมยกเว้นค่าธรรมเนียม 100 บาท หลังจากนั้น จะดูความเหมาะสมอีกครั้ง

ทั้งนี้ จากโครงการดังกล่าวประโยชน์ที่ลูกหนี้จะได้รับก็คือ การทวงถามจากเจ้าหน้ารายต่างๆ จะหยุดลง รวมถึงค่าใช้จ่ายที่จะต้องเสียจากการทวงถามหนี้ ทำให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติมากขึ้น ขณะเดียวกัน ยังได้รับการปรับชั้นเป็นหนี้ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ จากเดิมที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีหนี้เสีย หรือสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เมื่อจ่ายชำระหนี้คืนงวดแรก ทางด้านธนาคารก็เช่นกัน เมื่อลูกหนี้ได้รับปรับชั้นแล้ว ก็จะทำให้เอ็นพีแอล ของธนาคารลดลงด้วย

อย่างไรก็ตาม จะมีจุดที่ทาง บสส.ต้องตรวจสอบให้เข้มงวด คือ หนี้ส่วนที่ไม่ได้อยู่ในระบบเครดิตบูโร อาทิ หนี้สหกรณ์ หนี้นอกระบบ หนี้สวัสดิการต่างๆ ซึ่งหากมีส่วนดังกล่าว โดยที่ลูกหนี้ไม่แจ้งในข้อมูลก็อาจจะทำให้การปรับโครงสร้างหนี้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
กำลังโหลดความคิดเห็น