xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ต่ออายุ 10 ปี สัมปทานขุดน้ำมันดิบบนบก “แหล่งกำแพงแสน-อู่ทอง-สังฆจาย” ให้ ปตท.สผ.อินเตอร์ รับภาษี 15 ล้านยูเอส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ครม.ต่ออายุ 10 ปี สัมปทานขุดน้ำมันดิบ “แหล่งกำแพงแสน-อู่ทอง-สังฆจาย” สุพรรณบุรี-นครปฐม ให้ ปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นเนล เผยสร้างรายได้ให้แก่ภาครัฐ ในรูปของค่าภาคหลวง 1.40-3.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และภาษีเงินได้ปิโตรเลียมประมาณ 8.08-15.52 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เผยปี 2550 มีอัตราการผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ย 510 บาร์เรลต่อวัน

วันนี้ (4 ม.ค.) นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้บริษัท ปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นเนล จำกัด ต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมสำหรับสัมปทานปิโตรเลียม เลขที่ 2/25282/27 แปลงบนบกหมายเลข PTTEP 1 บริเวณบนบกภาคกลาง (จังหวัดสุพรรณบุรี และนครปฐม) พื้นที่ผลิตปิโตรเลียม รวม 9.04 ตารางกิโลเมตร ซึ่งจะหมดระยะเวลาสัมปทานในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2560 ออกไปอีก 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2560 - 4 กุมภาพันธ์ 2570 โดยอาศัยตามความในมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และให้ออกเป็นสัมปทานปิโตรเลียมเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) ของสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 2/2528/27 ตามแบบ ชธ/ป๓/๑ ที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดแบบสัมปทานปิโตรเลียม พ.ศ. 2555

สำหรับผลประโยชน์ต่อประเทศ เป็นการสร้างเสริมและรักษาความมั่นคงในการจัดหาพลังงานเชื้อเพลิงธรรมชาติ และเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ภาครัฐ อาทิ ในรูปของค่าภาคหลวงและภาษีเงินได้ปิโตรเลียมประมาณ 1.40-3.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 8.08-15.52 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

มีรายงานว่า โครงการ พีทีทีอีพี 1 เป็นธุรกิจประเภท การสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ภายใต้ชื่อสัมปทาน/สัญญา แปลง PTTEP1 มีขนาดพื้นที่ 10 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดนครปฐม มีบริษัท ปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (ปตท.สผ.อ.) ลงทุน 100% โดยมีชื่อแหล่งปิโตรเลียมว่า “แหล่งอู่ทอง แหล่งกำแพงแสน และแหล่งสังฆจาย” เริ่มการผลิตเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2536 โดบพบชนิดของปิโตรเลียม คือ น้ำมันดิบ โดยแหล่งดังกล่าวอยู่ติดกับแปลง L53/43 และแปลง L54/43

ทั้งนี้ โครงการ PTTEP 1 มีหน้าที่รับผิดชอบการผลิตน้ำมันจาก 3 แหล่งคือ แหล่งน้ำมันกำแพงแสน แหล่งน้ำมันอู่ทองและแหล่งน้ำมันสังฆจาย โดยแหล่งกำแพงแสนอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 70 กม. อยู่ในเขตจังหวัดนครปฐม แหล่งอู่ทองอยู่ห่างจากรุงเทพฯ ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือราว 80 กม. อยู่ในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี แหล่งกำแพงแสนเป็นแหล่งน้ำมันขนาดเล็กที่มีหลุมผลิตเพียง 1 หลุม แหล่งนี้ได้ทำการผลิตน้ำมันตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2536 โดยมีอัตราการผลิตเริ่มต้นที่ 250 บาร์เรลต่อวัน ปัจจุบันแหล่งกำแพงแสนยังคงผลิตน้ำมันแม้ว่าจะมีอัตราการผลิตที่ต่ำมากก็ตาม

แหล่งน้ำมันอู่ทองมีขนาดใหญ่กว่าแหล่งกำแพงแสน แต่ถึงกระนั้นก็ยังคงถูกจัดว่าเป็นแหล่งน้ำมันขนาดเล็ก แหล่งนี้เริ่มต้นการผลิตด้วยหลุมผลิต 2 หลุมที่มีอัตราการผลิตเริ่มต้นรวมกันได้ 900 บาร์เรลต่อวัน ต่อมาได้มีการเจาะหลุมผลิตเพิ่มเติม ทำให้มีหลุมผลิตเพิ่มเติม ทำให้มีหลุมผลิตรวมกันเป็น 7 หลุม ปัจจุบันอัตราการผลิตทั้งหมดของแหล่งนี้เข้าสู่ช่วงที่กำลังลดลง

ในปี พ.ศ. 2543 มีการเจาะหลุมผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นอีก 3 หลุมในแหล่งอู่ทอง อัตราการผลิตของหลุมทั้งหมด 10 หลุมจากทั้งสองแหล่งคือ อู่ทองและกำแพงแสน สามารถเพิ่มอัตราการผลิตน้ำมันจากเดิม 450 บาร์เรลต่อวันเป็น 850 บาร์เรลต่อวันทันที

ในปี พ.ศ. 2545 พบแหล่งน้ำมันดิบแหล่งใหม่ คือแหล่งสังฆจาย เนื่องจากน้ำมันดิบจากแหล่งกำแพงแสนและอู่ทองมีปริมาณก๊าซที่ละลายอยู่ในน้ำมันดิบน้อย ขบวนการผลิตจึงใช้ Sucker Rod Pump ตั้งแต่เริ่มการผลิต นอกจากนี้องค์ประกอบของขบวนการผลิตเป็นแบบเรียบง่ายไม่ซับซ้อน ประกอบด้วยถังแยกน้ำ ถังเก็บน้ำมันดิบและแทงก์เก็บน้ำ เนื่องจากน้ำมันดิบมีความหนืดสูงจึงจำเป็นต้องใช้เครื่องทำความร้อนเข้าช่วย บนผิวดินมีปั๊มเพื่อช่วยส่งน้ำมันดิบเข้ารถขนส่งน้ำมันดิบ น้ำมันจากถังเก็บน้ำมันดิบจะถูกขนส่งโดยรถบรรทุกไปยังโรงกลั่นบางจากในขณะที่น้ำจากถังเก็บถูกส่งไปยังแหล่งกำแพงแสนเพื่อทำการบำบัดก่อนที่จะถูกอัดกลับสู่ชั้นหินโดยหลุมกำจัดน้ำทิ้ง

โครงการพีทีทีอีพี1 เป็นโครงการแรกที่ ปตท.สผ.เป็นเข้าผู้ดำเนินการ รวมทั้งเป็นโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมโครงการแรกที่ดำเนินการโดยบริษัทคนไทย เป็น แหล่งผลิตน้ำมันดิบแห่งแรกในเอเซียอาคเนย์ที่ได้รับ ISO14001 เดือนเมษายน พ.ศ. 2540 ปตท.สผ. เป็นบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแห่งแรกในเอเชียอาคเนย์ที่ได้รับประกาศนียบัตรรับรอง ISO14001 ปตท.สผ.เริ่มนำมาตรฐาน ISO 14001 มาใช้ในอาคารสำนักงาน ปตท.สผ. และในโครงการพีทีทีอีพี1 ตั้งแต่ต้นปี 2539 หลังจากที่ได้ผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มงวดในเรื่องระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมจากผู้เชี่ยวชาญ AJA EQS (Thailand) Ltd. โดยมี UKAS เป็นผู้รับรองพยาน ผู้ตรวจสอบได้ลงความเห็นว่าพนักงานและผู้บริหารของอาคารสำนักงาน ปตท.สผ. และการปฏิบัติงานภาคสนามของโครงการพีทีทีอีพี 1 ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดในเรื่องระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมในระดับมาตรฐานที่สูง

ขณะที่น้ำที่มาจากกระบวนการผลิตถูกอัดกลับลงในหลุมผลิต ซึ่งกล่าวได้ว่าตั้งแต่เริ่มผลิตน้ำมันดิบของโครงการพีทีทีอีพี 1 น้ำที่มาจากกระบวนการผลิตน้ำมันดิบถูกอัดกลับไปในชั้นหินที่ลึกทั้งหมด

เมื่อปี 2550 มีอัตราการผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ย 510 บาร์เรลต่อวัน ปี 2549 มีอัตราการผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ย 586 บาร์เรลต่อวัน ดำเนินเจาะหลุมผลิตเพิ่มเติมที่แหล่งผลิตอู่ทอง 2 หลุม คือ UT1-7/D9 และ UT1-7/D8 และที่แหล่งผลิตสังฆจาย 1 หลุม คือ SKJ1-2 ทำให้สามารถผลิตน้ำมันดิบได้เพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัวหรือ 870 บาร์เรลต่อวันในเดือนกรกฎาคม ปี 2548 มีอัตราการผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ย 480 บาร์เรลต่อวัน ดำเนินการทำ Perforation และ Re-Perforation เพื่อเพิ่มอัตราการผลิตของน้ำมันใน 7 หลุมผลิตเดิม เสร็จสิ้นการศึกษาโครงการ waterflood ที่แหล่งอู่ทอง และจะเริ่มดำเนินการในปี2549 โครงการได้เสร็จสิ้นการศึกษาทางด้าน Sub-Surface เพื่อเจาะหลุมพัฒนา 3 หลุมในปี 2549 ได้ร่วมกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อดำเนินการโครงการทดลองการผลิตกระแสไฟฟ้าจากก๊าซที่เผาไหม้ทิ้งของแหล่งผลิตสังฆจาย

ปัจจุบัน ประเทศไทยมี แหล่งปิโตรเลียมบนบก ประกอบด้วย

1) แอ่งฝาง ประกอบด้วยแหล่งฝาง ไชยปราการ แม่สูน โป่งนก-โป่งฮ่อม บริเวณอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันมีอัตราการผลิตน้ำมันดิบประมาณ 1,000 บาร์เรลต่อวัน

2) แอ่งพิษณุโลก มีการผลิตน้ำมันดิบมากที่สุดของประเทศ ประกอบด้วยแหล่งสิริกิติ์ ทับแรต หนองมะขาม หนองตูม วัดแตน เสาเถียร ประดู่เฒ่า ปรือกระเทียม หนองแสง ทุ่งยางเมือง บึงหญ้า บึงม่วง บึงหญ้าตะวันตก บึงม่วงใต้ หนองสระ อรุโณทัย และ บูรพา อยู่ในพื้นที่ อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร อำเภอคีรีมาศ อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย และอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ปัจจุบันมีอัตราการผลิตน้ำมันดิบประมาณ 27,000 บาร์เรลต่อวัน และก๊าซธรรมชาติที่ผลิตขึ้นมากับน้ำมันดิบ ประมาณ 25 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

3) แอ่งเพชรบูรณ์ ประกอบด้วยแหล่งวิเชียรบุรี ศรีเทพ นาสนุ่น นาสนุ่นตะวันออก บ่อรังเหนือ วิเชียรบุรีส่วนขยาย และ L33 อยู่ในพื้นที่อำเภอวีเชียรบุรี และอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ปัจจุบันมีอัตราการผลิตน้ำมันดิบประมาณ 2,200 บาร์เรลต่อวัน

4) แอ่งสุพรรณบุรี ประกอบด้วยแหล่งอู่ทอง สังฆจาย บึงกระเทียม และ หนองผักชี อยู่ในพื้นที่อำเภอเมือง และอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ปัจจุบันมีอัตราการผลิตน้ำมันดิบประมาณ 350 บาร์เรลต่อวัน

5) แอ่งกำแพงแสน อยู่ในพื้นที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ปัจจุบันมีอัตราการผลิตน้ำมันดิบประมาณ 483 บาร์เรลต่อวัน

สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบัน มีแหล่งก๊าซธรรมชาติ 2 แหล่ง คือ

5.1) แหล่งก๊าซน้ำพอง บริเวณอำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ปัจจุบันมีอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติประมาณ 15 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

5.2) แหล่งก๊าซสินภูฮ่อม บริเวณอำเภอหนองแสง จังหวัดอุดรธานี ปัจจุบันมีอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติประมาณ 100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และก๊าซธรรมชาติเหลวประมาณ 450 บาร์เรลต่อวัน


กำลังโหลดความคิดเห็น