xs
xsm
sm
md
lg

ครม.เห็นชอบ บสย.ปรับเงื่อนไขค้ำประกันสินเชื่อลดภาระงบฯ รัฐบาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
มติ ครม.เห็นชอบ บสย.ค้ำประกันสินเชื่อ ปรับลดเงื่อนไขค่าธรรมเนียม พ่วงรับรองความเสียหาย หลัง บสย.ได้รับความนิยมจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้น

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอการดำเนิน “โครงการค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทวีทุน” (Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 6) หรือ PGS ระยะที่ 6 เนื่องจากที่ผ่านมาระบบค้ำประกันสินเชื่อ บสย.ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือการผลักดันให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อออกสู่ระบบตั้งแต่ปี 2552 ผ่านมา 5 ระยะแล้ว

ปัจจุบัน บสย.สามารถช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ประมาณ 114,000 ราย ก่อให้เกิดการจ้างงาน 403,000 คน มีสินเชื่อออกสู่ระบบ 366,000 ล้านบาท จากยอดค้ำประกันสินเชื่อ 380,000 ล้านบาท เฉลี่ยผู้ประกอบการได้รับสินเชื่อ 3 ล้านบาทต่อราย

ดังนั้น การประกันสินเชื่อระยะที่ 6 จึงได้มีการปรับเงื่อนไขเพื่อลดภาระงบประมาณของรัฐบาล หลังจาก บสย.เริ่มเป็นที่รู้จักและเป็นเครื่องมือให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อมากขึ้น จึงได้เกำหนดว่าผู้ขอรับสินเชื่อต้องเป็นผู้ประกอบการที่ยื่นแบบเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและยืดเวลาการประกันจากเดิม 7 ปี เป็น 10 ปี การคิดค่าธรรมเนียมค้ำประกันร้อยละ 1.75 จากเดิมภาระค่าธรรมเนียมลดลงตามสัดส่วน และหากเกิดความสูญเสียจากหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ไม่เกินร้อยละ 20 ของพอร์ตสินเชื่อของธนาคาร รัฐบาลชดเชยร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่หากเกิดความเสียหายร้อยละ 20-25 ของพอร์ตสินเชื่อธนาคาร รัฐบาลจ่ายชดเชยร้อยละ 50 และหากเกิดความเสียหายร้อยละ 25-28 ของพอร์ตสินเชื่อ รัฐบาลชดเชยให้ร้อยละ 25 ทั้งนี้ เพื่อลดภาระงบประมาณของรัฐ เพื่อจ่ายชดเชยเฉพาะค่าประกันความเสียหาย วงเงินไม่เกิน 5,750 ล้านบาท

ขณะที่คุณสมบัติผู้ยื่นค้ำประกันสินเชื่อ ต้องมีทรัพย์สินถาวรไม่รวมที่ดินไม่เกิน 200 ล้านบาท เป็นประเภทบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่มีสัญชาติไทย และประกอบกิจการโดยชอบด้วยกฎหมาย และต้องไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี วงเงินค้ำประกันไม่เกิน 40 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน ทั้งนี้ คาดว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน 33,000 ราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินรวม 168,000 ล้านบาท และก่อให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 458,000 ล้านบาท ยื่นค้ำประกันสินเชื่อได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2561 หรือจนกว่าวงเงินจะหมด
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น