xs
xsm
sm
md
lg

“คลัง” ดันจีดีพีโต 3.4% เพิ่มวัน “ช้อปช่วยชาติ” เอื้อเงินหมุนเวียนธุรกิจในระบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

[ภาพจาก www.positioningmag.com]
ผู้จัดการรายวัน 360 - ครม. “ไฟเขียว” มาตรการช้อปช่วยชาติปี 59 เพิ่มเป็น 18 วัน มั่นใจสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปี 58 เป็น 2 หมื่นล้านบาท มั่นใจจีดีพีปี 60 โต 3.4%

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี ด้วยการเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ผู้ที่ซื้อสินค้าและบริการ โดยไม่รวมสุรา เบียร์ ไวน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ค่าเชื้อเพลิงทั้งก๊าซและน้ำมัน รวมทั้งค่าบริการที่จ่ายเป็นค่าไกด์นำเที่ยวและค่าที่พัก ในระหว่างวันที่ 14-31 ธ.ค. 59 รวมเวลา 18 วัน ตามที่ได้มีการใช้จ่ายจริงไม่เกินคนละ 1.5 หมื่นบาท โดยผู้ใช้สิทธิจะต้องขอใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร โดยขอจากผู้ค้าที่มีการจดทะเบียนการค้าและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีการค้าอย่างถูกต้อง

มาตรการดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 59 ทันที เนื่องจากประชาชนมีแรงจูงใจที่จะใช้จ่ายมากขึ้น โดยกระทรวงการคลังคาดว่าจะมีผู้ใช้สิทธิประมาณ 2 ล้านคน ซึ่งแม้จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษีประมาณ 3.2 พันล้านบาท แต่จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม เพราะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 0.2% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เพิ่มขึ้นจากการดำเนินการเมื่อช่วงปลายปี 2558 ซึ่งออกมาตรการมาเพียง 7 วันมีผู้มาใช้สิทธิ์ประมาณ 1 ล้านคน ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 1 หมื่นล้านบาท

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังแจ้งเพิ่มเติมว่า การใช้สิทธิ์ดังกล่าวจะแบ่งไปตามขั้นภาษีตามฐานเงินได้สุทธิ โดยผู้ที่มีเงินได้สุทธิไม่เกินปีละ 3 แสนบาท หากซื้อสินค้าและบริการ 1.5 หมื่นบาท จะได้รับการยกเว้นภาษีสูงสุดไม่เกิน 750 บาท และผู้ที่เงินได้มากกว่า 4 ล้านบาทต่อปี หากใช้สิทธิ์ดังกล่าวจะได้ยกเว้นภาษีสูงสุดไม่เกิน 5,250 บาท

คาดจีดีพีปี 60 แนวโน้มโตกว่า 3.4% 
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จากสัญญาณการชะลอตัวด้านการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนซึ่งเห็นได้ชัดในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. 59 ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปีเพื่อรักษาความสมดุลในส่วนของการบริโภค

ส่วนกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะเติบโตในระดับ 3-4% นั้น ในส่วนของ กระทรวงการคลังคาดว่าจะเติบโตได้ 3.4% เนื่องจากในปี 2560 ภาครัฐจะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานประมาณ 3-4 แสนล้านบาทจากวงเงินลงทุนรวมทั้งหมด 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ในช่วงปี 2561-2562

“ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2560 ยังจะมีเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับกลุ่มจังหวัดซึ่งเป็นการทำงบประมาณกลางปีงบประมาณ 2560 เพิ่มเติมอีกกว่า 1 แสนล้านบาท เพื่อนำมาพัฒนาศักยภาพของแต่ละกลุ่มจังหวัดที่มีอยู่ทั้งหมด 18 กลุ่มจังหวัดทั่วประเทศ กลุ่มจังหวัดละประมาณ 5-6 พันล้านบาท” นายอภิศักดิ์กล่าว

มั่นใจช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว 
นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงมาตรการดังกล่าวว่า คาดว่าจะช่วยส่งเสริมให้บรรยากาศการจับจ่ายซื้อสินค้าต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะการซื้อของขวัญที่พบว่านักท่องเที่ยวมีสัดส่วนการซื้อมากถึง 25-30% โดยในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและเทศกาลปีใหม่ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ยังคงจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง

“เดอะมอลล์ กรุ๊ป” เพิ่มบริการจุดออกใบกำกับภาษี 
นายชำนาญ เมธปรีชากุล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า “เดอะมอลล์ กรุ๊ป” มีความพร้อมในเรื่องการออกใบกำกับภาษีและการอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ ให้ลูกค้าที่จะเข้ามาใช้บริการซื้อสินค้าในช่วงดังกล่าว โดยจะมีการเพิ่มจุดออกใบกำกับภาษีจากเดิมที่มีสาขาละ 3-4 จุด เป็นสาขาละประมาณ 7-8 จุด รวมถึงเพิ่มพนักงานบริการอำนวยความสะดวกในแต่ละจุดจาก 2-3 คน เป็น 4-5 คน นอกจากนี้ยังจะมีการบริการจัดทำใบกำกับภาษีให้ลูกค้ามารับในวันถัดไป เพื่อให้บริการลูกค้าที่ไม่ต้องการรอคิวในวันนั้นๆ

“โรบินสัน” แจกบัตรคิวรับใบเสร็จ
แหล่งข่าวจากห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ในเครือเซ็นทรัล กล่าวว่า โรบินสันทั้ง 44 สาขาเตรียมพร้อมเรื่องจุดออกใบเสร็จและใบกำกับภาษี จากเดิมสาขาละ 2 จุด เพิ่มเป็น 4-5 จุด พร้อมแจกบัตรคิวเพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วให้ลูกค้าสามารถมารับใบเสร็จตามคิวที่ได้รับ โดยในส่วนของ “โรบินสัน” สามารถทำยอดขายจากมาตรการดังกล่าวในปี 2558 ได้เพิ่มขึ้นถึง 30% ในปี 2558

หอการค้าย้ำผลดีต่อธุรกิจในระบบ 
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงมาตรการช้อปช่วยชาติว่า ถือเป็นการสร้างบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยในช่วงปลายปีให้มีความคึกคักยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ร้านค้าต่างๆ ที่อยู่ในระบบภาษีมีรายได้ดีขึ้น และยังจะทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้จากภาษีนิติบุคคลได้มากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดเงินสะพัด 1.3 หมื่นล้าน 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดแรงส่งของมาตรการช้อปช่วยชาติจะส่งผลต่อเม็ดเงินที่สะพัดในกลุ่มธุรกิจค้าปลีก ร้านอาหาร และธุรกิจบริการอื่นๆ สูงกว่ามาตรการที่ออกมากระตุ้นครั้งก่อน โดยพิจารณาจากการขยายกรอบเวลาของการใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น โดยจากการสำรวจพบว่ามาตรการช้อปช่วยชาติ 1.5 หมื่นบาทในปี 2559 ค่อนข้างได้รับความสนใจจากประชาชนที่ต้องเสียภาษีมากกว่าปีที่ผ่านมา สะท้อนได้จากประชาชนกว่าร้อยละ 60.0 ของผู้ที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมดมีการวางแผนที่จะซื้อสินค้าและบริการในช่วงวันที่ 14-31 ธันวาคม 2559 เพื่อต้องการใช้สิทธิจากมาตรการดังกล่าวมาทำการลดหย่อนภาษีเพิ่มขึ้นกว่าปีที่แล้ว

นอกจากนี้ จากการที่ปีนี้มีการรับรู้ข่าวสารล่วงหน้าและด้วยระยะเวลาในการใช้สิทธิที่นานขึ้น (เป็นระยะเวลาเกือบ 3 สัปดาห์จากเดิมปีที่แล้วเพียง 1 สัปดาห์) ทำให้มีเวลาเตรียมตัวและวางแผนการใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการที่นานขึ้น ซึ่งน่าจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่คนที่จะใช้สิทธิ ไม่ว่าจะเป็นความสะดวกในการเลือกซื้อสินค้าและบริการที่ไม่ต้องเร่งรีบเมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่มีระยะเวลาในการใช้จ่ายที่ค่อนข้างสั้นและกะทันหัน การเข้าแถวต่อคิวเพื่อรับใบกำกับภาษีที่น่าจะสะดวกรวดเร็วขึ้นไม่ต้องต่อคิวรอนาน

อย่างไรก็ตาม ในจำนวนนั้นผู้ที่มีสิทธิดังกล่าวมีเพียงร้อยละ 34 ที่ใช้สิทธิเต็มจำนวน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าผลจากมาตรการช้อปช่วยชาติที่ออกมาในช่วงระหว่างวันที่ 14-31 ธันวาคม 2559 น่าจะกระตุ้นการใช้จ่ายซื้อสินค้าของประชาชนคิดเป็นเม็ดเงินที่กระจายไปสู่ธุรกิจค้าปลีก ร้านอาหาร และธุรกิจบริการอื่นๆ ประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าในร้านค้าปลีกและบริการทั่วไปรวม 1.2 หมื่นล้านบาท และการรับประทานอาหารที่ร้านอาหาร 1 พันล้านบาท

ทั้งนี้ เม็ดเงินดังกล่าวคำนวณโดยให้น้ำหนักกับกลุ่มผู้บริโภคที่มีความสามารถในการใช้จ่ายที่คาดว่าจะซื้อสินค้าและบริการในวงเงินตามที่ภาครัฐกำหนดและใช้สิทธิลดหย่อนภาษีค่อนข้างเต็มที่ ในขณะที่มีกลุ่มผู้บริโภคอีกส่วนหนึ่งที่อาจจะไม่สามารถใช้สิทธิได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากมีรายได้ต่อเดือน หรือมีเงินออมที่ไม่สูงนัก จึงทำให้มีเม็ดเงินสำหรับนำมาใช้จ่ายและลดหย่อนภาษีตามมาตรการนี้ได้จำกัดกว่า

มาตรการดังกล่าวจึงน่าจะเป็นโอกาสให้บรรดาผู้ประกอบการค้าปลีก (ที่จดทะเบียนอยู่ในระบบและสามารถออกใบกำกับภาษีได้) เช่น ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เกต ร้านค้าเฉพาะที่อยู่นอกห้างฯ (เช่น ร้านเฟอร์นิเจอร์ ศูนย์จำหน่ายประดับยนต์) รวมถึงร้านอาหารโดยเฉพาะ เช่น ร้านอาหาร ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารในโรงแรม และภัตตาคาร รวมถึงธุรกิจบริการอื่นๆ อาศัยช่วงเวลาดังกล่าวในการเพิ่มยอดขายให้กับธุรกิจ

ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรมีการเตรียมความพร้อมทางด้านต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่คาดว่าจะเข้ามาจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าและรับประทานอาหารนอกบ้านในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าช่วงปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมจุดให้บริการออกใบกำกับภาษีที่สะดวกรวดเร็ว ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่เห็นได้ชัดถึงความไม่พร้อมในเรื่องของการออกใบกำกับภาษีในปีที่แล้วที่ทำให้ลูกค้าบางส่วนตัดสินใจที่จะไม่ซื้อสินค้าเพราะต้องต่อแถวยาวและรอคิวนาน หรือแม้แต่การบริหารจัดการสต๊อกสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า

นอกจากนี้ ยังมองว่าผลจากมาตรการดังกล่าวก็น่าจะทำให้กลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีก ร้านอาหาร และธุรกิจบริการบางส่วนที่ไม่ได้จดทะเบียน หรืออยู่นอกระบบ เช่น ผู้ประกอบการค้าปลีกและร้านอาหาร SMEs หรือผู้ประกอบการ e-Commerce ตระหนักถึงโอกาสและข้อได้เปรียบดังกล่าว ก็อาจจะนำมาซึ่งการดึงกลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้ให้เข้าสู่ระบบได้เพิ่มขึ้น



กำลังโหลดความคิดเห็น