xs
xsm
sm
md
lg

ถึงคิวเหมืองทองคำ “บริษัท ทุ่งคำ” จับตา 28 ธ.ค. ศาลปกครองกลางอ่านคำพิพากษา ชาววังสะพุง จ.เลย ฟ้องเพิกถอนสัมปทาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศาลปกครองกลาง นัด 28 ธ.ค.อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีชาววังสะพุง จ.เลย ฟ้องเพิกถอนสัมปทานเหมืองแร่ทองคำ บริษัท ทุ่งคำ จำกัด หลังฟ้องกันไปมานับ 10 ปี ด้านกลุ่มรักษ์น้ำอูน สกลนครจี้โรงน้ำตาล-โรงไฟฟ้ารับผิดชอบ เหตุบุกเบิกป่าถมคลองเปลี่ยนทางน้ำสาธารณะ ส่วนอนุฯ ด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร กสม.เปิดเวทีตรวจสอบผลกระทบ “โรงงานน้ำตาลพ่วงโรงไฟฟ้าสกลนคร”

วันนี้ (23 ธ.ค.) มีรายงานจากศาลปกครองว่า ในเวลา 14.00 น. วันที่ 28 ธ.ค.นี้ ศาลปกครองกลางได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลยดำ ที่ ส.1544/2556 กรณีนายสราวุธ พรมโสภา กับพวกรวม 598 คน ฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กับพวกรวม 2 คน (อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยขอให้เพิกถอนใบอนุญาตประทานบัตรและใบอนุญาตประกอบอุตสาหกรรมของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เจ้าของสัมปทานเหมืองแร่ทองคำ อ.วังสะพุง จ.เลย ที่ผู้ถูกฟ้องใช้ดุลยพินิจในการออกใบอนุญาตดังกล่าว ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายต่อคุณภาพชีวิต สุขภาพ ค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียสำหรับซื้อน้ำในการอุปโภคและบริโภค และก่อให้เกิดการปนเปื้อนสารพิษในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ จนไม่อาจใช้ประโยชน์ในห่วงโซ่อาหารในธรรมชาติได้ตามปกติ

ทั้งนี้ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2556 ตัวแทนชาวบ้านทั้ง 6 หมู่บ้าน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย กว่า 100 คนได้ เดินทางมายังศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อยื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ต่อศาลปกครองกลาง โดยขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนใบประทานบัตร และขอให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบโลหกรรมและคำขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ซึ่งชาวบ้านได้รับผลกระทบ ทั้งต่อคุณภาพชีวิต ความเสียหายต่อพืชผลเกษตรกรรม และคุณภาพทางสิ่งแวดล้อม

โดยการฟ้องดังกล่าวเนื่องจาก ราษฎรจากพื้นที่ 6 หมู่บ้านรอบเหมืองแร่ทองคำของ บริษัท ทุ่งคำ ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำ อันประกอบด้วย หมู่บ้านห้วยผุก หมู่ 1 หมู่บ้านกกสะทอน หมู่ 2 หมู่บ้านนาหนองบง หมู่ 3 หมู่บ้านแก่งหิน หมู่ 4 หมู่บ้านโนนผาพุงพัฒนา หมู่ 12 หมู่บ้านภูทับฟ้าพัฒนา หมู่ 13 ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย รวม 1,066 ครอบครัว จำนวนประชากรทั้งสิ้น 3,737 คน โดยพบว่าบริษัททุ่งคำปล่อยปริมาณสารไซยาไนด์ในกากแร่ก่อนนำไปกักเก็บในบ่อกากแร่สูงกว่ามาตรฐานรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คุณภาพน้ำบริเวณโดยรอบเหมือง พบสารหนู แคดเมียม และแมงกานีสเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

มีรายงานว่า ชาวนบ้านในพื้นที่ และบริษัท ทุ่งคำ มีการฟ้องร้องกัน ตั้งแต่ปี 2550 เช่น กรณีบริษัทฯ มีเจตนาขนแร่โลหะทองคำมีเงินเจือปน โดยมิได้ยื่นคำขอใบอนุญาตขนแร่ ต่อมา ปี 2551 อัยการจังหวัดเลย มีคำสั่งไม่ฟ้องและยุติการดำเนินคดีกับ บ.ทุ่งคำ เนื่องจาก คดีขาดอายุความ แต่ ส.ป.ก.จังหวัดเลย มีหนังสือแจ้งให้ บ.ทุ่งคำ ชำระค่าตอบแทนการใช้ที่ดินระหว่างเดือนมกราคม ถึง พฤศจิกายน 2550 เป็นจำนวนเงินเท่ากับการเก็บค่าภาคหลวง จำนวน 14,563,336 บาท อย่างไรก็ตาม บ.ทุ่งคา-บ.ทุ่งคำ ได้ฟ้อง คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และ ปฏิรูปที่ดินจังหวัดเลย (ส.ป.ก.จังหวัดเลย) ต่อศาลปกครองขอนแก่น ให้มีคำสั่งยกเลิกค่าตอบแทน และได้ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวโดยให้ศาลระงับคำสั่งการชำระค่าตอบแทนเป็นการชั่วคราว ต่อมาศาลปกครองอุดรธานีมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา ก่อนบริษัทฯ จะยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำฟ้อง ต่อมาศาลปกครองอุดรธานีได้รับอุทธรณ์ และส่งต่อไปยังศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2554 ก่อนที่ต่อมาจะมีการฟ้องร้องในประเด็นเดียวกันอีกหลายครั้ง

มีรายงานว่า เมื่อปี 2556 เป็นต้นมา บ.ทุ่งคำ ได้ทยอยฟ้องคดีแพ่ง-อาญา ต่อชาวบ้าน รวม 33 คน เรียกค่าเสียหายไม่ต่ำกว่า 270 ล้านบาท รวมคดีความทั้งสิ้น 9 คดี ก่อนที่ เมื่อ 25 พ.ย.2556 ชาวบ้าน 322 คน ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ศาลปกครองกลาง ให้เพิกถอนใบประทานบัตรเลขที่ 26971/15558, 26972/15559, 26968/15574, 26969/15575 และ 26970/15576 ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด และขอให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบโลหกรรม ที่ 1/2552 และคำขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรม คำขอที่ 1/2555 ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด

นอกจากนี้ เมื่อปี 2557 ผวจ.เลย ได้เชิญ บ.ทุ่งคำ และชาวบ้านที่ถูกบริษัทฟ้องคดีมาเจรจาไกล่เกลี่ยที่ศาลกลางจังหวัดเลยเมื่อต้นปี 2559 บริษัทฯ ได้ยื่นฟ้องนักข่าวพลเมืองของสถานีไทยพีบีเอส ซึ่งเป็นนักเรียนชั้น ม.4 ในคดีข้างต้นด้วย

กลุ่มรักษ์น้ำอูนจี้โรงน้ำตาล-โรงไฟฟ้ารับผิดชอบ เหตุบุกเบิกป่าถมคลองเปลี่ยนทางน้ำสาธารณะ

อีกด้านที่ศาลากลางจังหวัดสกลนคร มีรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เข้ารับเรื่องเพื่อตรวจสอบคำร้องเรียนกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีโรงงานน้ำตาลและโรงงงานไฟฟ้าชีวมวล ในพื้นที่อำภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร ที่กลุ่มรักษ์น้ำอูน อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร ได้ร้องเรียนไปตั้งแต่ปี 2555 และร้องเพิ่มเติมในปี 2559 ขอให้ตรวจสอบเรื่องผลกระทบต่อนิเวศวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมในชุมชนลุ่มน้ำอูน

น.ส.บำเพ็ญ ไชยรักษ์ ตัวแทนฝ่ายผู้ร้อง กล่าวว่า จากมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือนมีนาคม 2554 ให้บริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด ย้ายกำลังการผลิตน้ำตาลมา 12,500 ตันอ้อยต่อวัน มาตั้งที่ริมฝั่งแม่น้ำอูน ตำบลอุ่มจาน อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร แต่ต่อมาบริษัทฯ ได้ระบุว่าจะขยายกลังการผลิตเป็นเพิ่มขึ้นเป็น 40,000 ตันอ้อยต่อปีพร้อมทั้งจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 114 เมกกะวัตต์พร้อมในพื้นที่เดียวกัน โดยฝ่ายบริษัทระบุว่าได้ยื่นรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของทั้งโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการแล้วตั้งแต่เมี่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ขณะที่กลุ่มรักษ์น้ำอูน และประชาสังคมสกลนคร ระบุว่า ได้ร่วมกับ ม.ราชภัฏอุดรธานี และ ม.ราชภัฏสกลนคร สำรวจนิเวศวิทยาในพื้นที่ตั้งโครงการและพื้นที่ชุมชนรอบ ๆ พบว่าเดิมที่ดินแปลงดังกล่าวมีสภาพเป็นป่าเต็งรังในที่ดินกรรมสิทธิของเอกชน สลับกับนาข้าว มีถนนสาธารณะไม่น้อยกว่า 3 สายตัดผ่าน มีคลองไส้ไก่ที่ขุดโดยงบประมาณ อบต.ขุด และมีลำห้วยเตย ลำห้วยสาธารณะสาขาของแม่น้ำอูน ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำสงคราม และแม่น้ำโขง ไหลผ่านพื้นที่โครงการ ปัจจุบันบริษัทได้นำเครื่องจักรจำนวนมากเข้าไถเบิกป่าเต็งรังธรรมชาติ ถมพื้นที่ บุกเบิกป่าทั้งหมดในพื้นที่ราว 1,500 ไร่ตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน 2559 ตลอดทั้งวันทั้งคืนเป็นเวลาไม่ถึงเดือน

ทั้งนี้ กลุ่มรักษ์น้ำอูนได้นำอนุกรรมการสิทธิด้านสิทธิชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติ กสม. เข้าสำรวจพื้นที่เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมาและพบว่าในพื้นที่ดังกล่าวได้มีการบุกเบิกจริง ขณะที่มีการขุดถมคลองไส้ไก่ที่ขุดด้วยงบ อบต. และพบว่ามีการเปลี่ยนทางน้ำสาธารณะห้วยเตย หนองน้ำสาธารณะหนองกุงจนได้รับความเสียหายจริง และทางกลุ่มรักษ์น้ำอูนได้ทำหนังสือร้องต่อ อบต.อุ่มจานให้เข้าระงับการกระทำดังกล่าว แต่ฝ่าย อบต.มีหนังสือตอบกลับมาว่า อบต.ไม่มีอำนาจเข้าระงับเพราะเป็นกิจกรรมในที่ดินเอกชน

ตัวแผนฝ่ายผู้ร้องยังได้ระบุเพิ่มเติมว่า กลุ่มรักษ์น้ำอูนได้ร้องเรียนต่อ กสม.ในเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2555 และได้ร้องเพิ่มเติมอีก 2 ครั้งในปี 2559 เนื่องเพราะประชาชนในชุมชนลุ่มน้ำอูนเกิดข้อกังวลใจว่าการมาสร้างโรงงานน้ำตาลขนาด 40,000 ตันอ้อยต่อวัน ซึ่งต้องการพื้นที่ปลูกอ้อยไม่น้อยกว่า 300,000-400,000 ไร่ ประกับการการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ติดกับชุมชนนั้นจะส่งผลกระทบทางสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง อีกทั้งมติ ครม.ที่ให้ย้ายกำลังการผลิตมาที่สกสลนครเพื่อให้มาใกล้แหล่งวัตถุดิบนั้น แต่พบ อ.กุสุมาลย์ ก่อนมีมติ ครม.- 2558 นั้นมีพื้นที่ปลูกอ้อยเพียง 370 ไร่ อีกทั้งจังหวัดสกลนคร นครพนม และบึงกาฬ เป็น 3 จังหวัดภาคอีสานที่มีพื้นที่ปลูกอ้อยน้อยมาก หากแต่เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำอูน ลำน้ำสาขาของแม่น้ำสงครามซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีระบบนิเวศเฉพาะ ประกอบด้วยป่าทาม ป่าโคก ป่าดง ฮ่อมห้วย บะ หนอง ที่มีการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลและมีความหลากหลายทางชีวภาพเป็นอย่างยิ่ง ตัวลำน้ำอูนที่มีความอุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งที่อาศัยของสัตว์น้ำ มีความหลากหลายของสัตว์น้ำที่หายาก

ทั้งนี้ มีงานศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานีในเดือนมิถุนายน 2557 เป็นเวลา 3 วัน พบปลา 27 ชนิด และเป็นพันธุ์ปลาที่เสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ ได้แก่ ปลาแค้ติดหิน,ปลาเสือดำส่วนปลาเศรษฐกิจ ได้แก่ ปลาสร้อยหัวกลม, ปลาสร้อยนกเขา, ปลาแขยงข้างลาย ปลากดเหลือง และปลาปากเปือน เป็นต้น อีกทั้งยังพบเครื่องมือในการหาปลาจำนวน 33 ชนิดที่ชี้ให้เห็นวัฒนธรรมการใช้ประโยชน์ทรัพยากรสัตว์น้ำของชุมชน นอกจากนี้ระบบนิเวศที่โดดเด่นของบริเวณนี้คือมีป่าโคก หนือป่าเต็งรังที่ยังคงอุดมสมบูรณ์อยู่ล้อมรอบนาข้าวแปลงเล็กๆ ที่มีวัฒนธรรมการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน แม้จะเป็นที่ดินเอกชนโดยส่วนใหญ่ชาวบ้านจะมีที่ดินที่ยังมีสภาพเป็นป่าโคกสูงถึงกล่าวร้อยละ 80 ของที่ดินถือครองส่วนที่เหลือเป็นนาข้าว หนองน้ำ ธรรมชาติ มีความหลากหลายของอาหารธรรมชาติ เช่น เห็ด ดอกกระเจียว ผักหวาน และแมลงที่กินได้ซึ่งมีความหลากหลายกว่า 20 ชนิด

จากรายงานการสำรวจมูลค่าทางเศรษฐกิจของป่าเศรษฐกิจครอบครัวของชุมชนในตำบลอุ่มจาน ร่วมกับ ม.ราชภัฏอุดรธานี ทำการสำรวจป่าเศรษกิจครอบครัวเฉพาะที่บ้านโคกสะอาดหมู่บ้านเดียว ที่ยังคงเป็นสมบูรณ์อยู่ล้อมรอบนาข้าวมีพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 1,200 ไร่ มีมูลค่าปัจจุบันของไม้ใช้สอยคิดเป็นเงิน 24,035,424 บาท และมีมูลค่าในอนาคต (หากปล่อยไว้ 25 ปี) คิดเป็นเงิน 224,896,128 บาท และได้ทำการสำรวจป่าสาธารณะโคกสนามซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 3,000 ไร่ และมีมูลค่าปัจจุบันของไม้ใช้สอย คิดเป็นเงิน 72,087,000 บาท มูลค่าในอนาคต (หากปล่อยไว้ 25 ปี) คิดเป็นเงิน 1,196,235,000 บาท โดยที่ไม่ต้องทำอะไรเพียงปล่อยไว้เฉยๆ และในชุมชนลุ่มน้ำอูนยังมีวัฒนธรรมการผลิตของชาวนาโคก นาทุ่ง นาทาม นาบะ นาหนอง นาริมห้วย ที่ต้องอาศัยพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่หลากหลายกว่า 100 สายพันธุ์ และเป็นข้าวพื้นบ้านที่ได้รับความนิยมมีราคาขายเป็นข้าวเปลือกสูงถึง 40-80 บาทขณะที่ชุมชนได้เริ่มมีการแปรรูปข้าวพื้นบ้าน เป็น กลุ่มข้าวฮาง กลุ่มข้าวพื้นบ้าน หลายกลุ่มด้วยกันซึ่งเป็นศักยภาพชุมชนที่จะถูกทำลายไปจากการส่งเสริมปลูกพืชเชิงเดี่ยวซึ่งเป็นพืชเกษตรเคมีเข้มข้นเพราะโรงงานแห่งนี้ต้องการพื้นที่ปลูกอ้อยป้อนโรงงานไม่ต่อกว่า 150,000-400,000 ไร่

นายชาติชาย พุทธิไสย์ ผู้ใหญ่บ้านโคกสะอาด กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทได้ดำเนินการไถและบุกเบิกพื้นที่ไปหมด ประเด็นสำคัญคือ พื้นที่ที่โรงงานได้กว้านซื้อนั้นคร่อมกับถนนสาธารณะที่ชุมชนใช้ประโยชน์สัญจรไปมาเพื่อไปเลี้ยงสัตว์และหาอยู่หากินในป่าโคก ในลำน้อูน รวมถึงได้มีการเปลี่ยนทางและถมลำห้วยเตย ซึ่งเป็นห้วยธรรมชาติบางช่วง ได้มีการถมคลองไส้ไก่ ซึ่งเป็นคลองดินชลประทานสาธารณะของชุมชน ไม่ทราบว่าถมได้อย่างไร

“การไถป่าโคกนับพันไร่ในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้ชาวบ้านเกิดความรู้สึกหดหู่ใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะชาวบ้านมีวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับป่าโคกผืนนั้นแม้จะเป็นที่ดินมีเอกสารสิทธิแต่วัฒนธรรมการใช้ประโยชน์ร่วมกันก็ยังมีอยู่ เราเศร้าใจมากกับการเปลี่ยนแปลงที่เร็วมาก บริเวณที่โรงงานจะมาสร้างเป็นแหล่งที่เลี้ยงสัตว์ของชาวบ้านหายไป และความสัมพันธ์ของชาวบ้านในหมู่บ้านและบ้านใกล้เคียงเริ่มลดน้อยลง เกิดความขัดแย้งแบ่งแยกระหว่างกลุ่มผู้นำชุมชนที่ปัจจุบันทำหน้าที่รวบรวมที่ดินเพื่อส่งเสริมการปลูกอ้อย หรือรวบรวมที่ดินขายต่อให้บริษัทสำหรับตั้งโรงงาน อันนี้ก็เป็นปัญหาใหญ่ของชุมชนเรา”

นายสมคิด พุ่มชาติ หัวหน้าทีมผู้จัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการโรงน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลของโครงการนี้ จากบริษัท คอนซัลแตนท์ ออฟ เทคโนโลยี (Consultant Of Technology Company Limited) กล่าวว่า ปัจจุบันการจัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้จัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์แล้วเสร็จและมีการส่งเข้าไปยังสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมและคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ตามขั้นตอนแล้วและรายงานดังกล่าวไม่ผ่านการพิจารณาไปแล้วหนึ่งครั้ง และสถานะของรายงานดังกล่าวจึงอยู่ในระหว่างการปรับปรุงเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาอีกครั้ง

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ คณะอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร กล่าวว่า การที่บริษัทได้มีการไถป่าและปรับพื้นที่ก่อตั้งโรงงานในระหว่างที่รายงานศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม EIA ยังไม่ผ่านการพิจารณา ตามหลักการถือว่าผิดกฎหมาย พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม เพราะมีการปรับสภาพพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปจากการศึกษาก่อนจะมีโครงการ และขุดถมดิน การตัดไม้ที่อยู่ในที่ดินของตนซึ่งเป็นมีสภาพเป็นป่า อาจจะมีรายชื่อต้นไม้ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อห้ามตัดไม้ตามกฎหมาย ถูกตัดโค่นออกไปอีกด้วย

ด้าน น.ส.สอ รัตนมณีพลกล้า อนุกรรมการฯ ระบุว่าจากการลงพื้นที่และจัดเวทีตรวจสอบข้อเท็จจริงยังพบอีกว่า ในพื้นที่มีการกว้านซื้อที่ดินซึ่งเคยเป็นป่าโคกและนาของชาวบ้านซึ่งได้มีการตัดไม้จำนวนมหาศาลออกจากพื้นที่ที่เป็นป่าอยู่เดิม และมีการถมดินและขุดบ่อบางส่วนเพื่อสร้างองค์ประกอบของโรงงาน และมีการขุดรากถอนโคนต้นไม้ออกไปจนราบเตียน ตลอดจนมีการถมเปลี่ยนทางน้ำของลำน้ำห้วยเตย หนองกุง ซึ่งเป็นลำห้วยและหนองสาธารณะที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกัน มีการถมคลองไส้ไก่ ซึ่งเป็นคลองชลประทานที่ชาวบ้านได้อุทิศที่ดินเพื่อให้เป็นประโยชน์ของสาธารณะในการสูบน้ำและส่งน้ำชลประทาน จริง และนี่นับเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องตรวจสอบให้ชัดเจนและเป็นกระทำที่เป็นการละเมิดต่อสาธารณะสมบัติของแผ่นดินหรือไม่อย่างไร

นายสมคิด ปัญญา ตัวแทนจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล กล่าวว่า ตามมติ ครม.ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2554 มีเงื่อนไขว่าบริษัทฯ จะต้องแจ้งขอประกอบกิจการภายใน 5ปี หรือจะต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการจากโรงงาน ตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการโรงงาน หรือ รง.4 ซึ่งจะพ้นกำหนดภายในปี 2559 นี้ ซึ่งก็พบว่าทางโรงงานได้ทำหนังสือขอขยายเวลาการยื่นประกอบกิจการโรงงานออกไปเป็นปี 2561 ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงอุตสาหกรรมว่าจะขยายเวลาหรือไม่

อนึ่ง บริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรมจำกัดหรือ “กลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรือง” เจ้าของน้ำตาลยี่ห้อ “ลิน” ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของประเทศ เป็นที่รู้จักในนาม “Thailand King of Sugar” มีสายการผลิตของโรงงานกว่า 9 แห่ง ทั่วประเทศ โดยบริษัทดังกล่าวได้รับมติเห็นชอบในหลักการของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2554 ให้นำเครื่องจักรที่มีกำลังการผลิต 2,000 ตันอ้อย/วัน ไปตั้งใหม่ที่ตำบลอุ่มจาน อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร และขอขยายกำลังการเป็น 12,500 ตัน/วัน และจะเพิ่มการผลิตเป็น 40,000 ตันต่อวันเมื่อได้รับการเห็นชอบให้ตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลทรายแล้ว นอกจากนี้ยังมีการขอตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 114 เมกะวัตต์ โดยใช้ชานอ้อยที่เหลือจากการผลิตน้ำตาลเป็นเชื้อเพลิง โดยการย้ายเครื่องจักรและการขอประกอบโรงงานทั้งสองแห่งในพื้นที่จังหวัดสกลนครนั้นยังเป็นข้อกังขาของคนสกลนคร เนื่องจากจังหวัดสกลนครไม่มีพื้นที่ปลูกอ้อยมากเพียงพอที่จะรองรับการผลิต รวมไปถึงขณะนี้ยุทธศาสตร์ของจังหวัดสกลนครก็มุ่งไปที่การพัฒนาเมืองในเป็น “เมืองแห่งสมุนไพร” เนื่องจากเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคอีสานที่มีผืนป่าเป็นจำนวนมากและมีความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะ “ป่าโคก” ตามหัวไร่ปลายนาของชาวบ้านที่มีเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น


ภาพโรงน้ำตาล และโรงไฟฟ้าเอกชนเข้าบุกเบิกพื้นที่ อีไอเอ และบุกเบิกป่าถมคลองเปลี่ยนทางน้ำสาธารณะ

กำลังโหลดความคิดเห็น