เมืองไทย 360 องศา
ไม่น่าเชื่อว่าทั้งกรณีแฟนบอลกลุ่มหนึ่งจุดพลุในสนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน ขณะมีการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน (เอเอฟเอฟ ซูซูกิคัพ) รอบชิงชนะเลิศระหว่างทีมชาติไทย กับ ทีมชาติอินโดนีเซีย เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา จากเรื่องที่เคยเข้าใจว่าเป็นฝีมือของกลุ่มแฟนบอลที่คึกคะนอง ทำไปด้วยความไม่รู้สำนึก เห็นผิดเป็นชอบเหมือนกับพวกกองเชียร์เถื่อนถ่อยแบบที่เคยเห็นมาเท่านั้น แต่กลายเป็นว่าจากการให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทำให้เข้าใจว่าเรื่องดังกล่าว “มีเบื้องหลัง” มีการระบุว่า กลุ่มผู้ก่อเหตุมีเจตนาดิสเครดิตสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย และประเทศชาติ ซึ่งผู้บังคับการตำรวจแห่งชาติ ย้ำว่า ต้องสืบหาตัว “ผู้บงการ” ให้ได้
แน่นอนว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวคงจะส่งผลให้ไทยต้องถูกสหพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (เอเอฟซี) รวมไปถึงสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟา) ลงโทษ ส่วนจะออกมาแบบไหนก็ต้องรอดูกันต่อไป
สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ คนกลุ่มนี้ที่เจ้าหน้าที่ระบุว่า เป็นกลุ่มที่ชื่อว่า “กลุ่มอัลตราไทยแลนด์” ที่พวกเขาบอกว่าเชียร์บอลไทยมานาน ตั้งแต่สมัยที่บอลไทยยังไม่มีคนดูมากมายขนาดนี้ นั่นก็แสดงว่า ในเบื้องต้นพวกเขาก็ต้องรับทราบเกี่ยวกับกฎระเบียบการเชียร์ว่ามีสิ่งใด อุปกรณ์แบบใด ที่เป็นสิ่งของต้องห้าม สิ่งใดที่ทางเอเอฟซี และฟีฟา ห้ามเอาไว้ รวมไปถึงต้องเคยรับรู้ข่าวคราวว่าเคยมีประเทศไหน สโมสรใดบ้างที่เคยถูกลงโทษจากการกระทำในทำนองเดียวกันนี้ เพราะพวกเขาอ้างว่าเชียร์บอลมานาน ความหมายก็คือ เมื่อ “บ้าบอล” นอกจากรู้จักนักฟุตบอลแล้ว ก็ย่อมรับรู้ถึงกฎระเบียบต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
ดังนั้น การอ้างว่านี่คือ “วิถีการเชียร์” ของพวกเขาแบบนี้ก็ไม่น่าจะใช่ หรือที่อ้างว่า “ไม่ได้เผาบ้านใคร” มันก็ไม่น่าจะใช่อีก เพราะการกระทำแบบนี้มันร้ายแรงยิ่งกว่าเผาบ้านอีกเป็นไหนๆ
ดังนั้น หากมองในแง่ร้าย ความน่าจะเป็นก็เป็นไปได้เหมือนกันว่า นี่คือ เจตนาแอบแฝงและมีเบื้องหลัง ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังสืบหากันอยู่ และถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ได้รับความสนใจจากสังคม สังเกตได้จากการพร้อมใจกันนำเสนอและวิเคราะห์ของสื่ออย่างพร้อมเพรียงและครึกโครม นอกเหนือจากข่าวความสุขของคนไทยจากทีมชาติไทยที่สามารถเอาชนะทีมชาติอินโดนีเซียในบ้าน ด้วยสกอร์รวมมากกว่า และครองแชมป์ถ้วยของชาติอาเซียนเป็นสมัยที่ 5 มากที่สุด
อีกเรื่องหนึ่งที่กำลังจะกลายเป็นความขัดแย้งใหม่ ส่วนจะบานปลายหรือไม่ ยังน่าจับตากันอยู่กับเรื่อง พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่เพิ่งผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวาระสามไปแล้ว โดยหลังจากนั้นไม่นาน ก็มีกลุ่มต่อต้านในโลกไซเบอร์เข้าไปรุมถล่มเว็บไซต์สำคัญของทางการหลายแห่ง เช่น กระทรวงกลาโหม เว็บราชกิจจานุเบกษา ทำเนียบรัฐบาล และมีการนัดหมายยกระดับการโจมตีเพิ่มขึ้นอีกตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม เป็นต้นไป จนเว็บดังกล่าวล่มจนเข้าไปไม่ได้ หรือบางเว็บอาจเข้าไปใช้ได้เป็นครั้งคราวแบบติดๆ ขัดๆ
แน่นอนว่า เรื่องแบบนี้หลายคนอาจเป็นเรื่องใหม่ หรือไม่เคยชิน แต่กับหนุ่มสาวยุคใหม่ ย่อมซึมซับกับเรื่องของไซเบอร์ เพราะถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดสำหรับการใช้ชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังมีความอ่อนไหวกับเรื่องที่กังวลว่าจะถูก “จำกัดเสรีภาพ” ไม่เหมือนกับในปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี หากพิจารณากันถึงยุคปัจจุบันต่อเนื่องไปถึงอนาคตอันใกล้ สื่อโซเซียล ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แยกไม่ออก และมีความจำเป็น แต่ขณะเดียวกัน มันก็อ่อนไหวกับการละเมิดสิทธิเสรีภาพและสิทธิส่วนบุคคล เป็นดาบสองคมว่าเป็นแบบไหน แล้วแต่มุมมองมาจากไหน หาความพอดีได้ตรงจุดไหนบ้าง
ขณะเดียวกัน เมื่อเป็นเรื่องละเอียดอ่อนก็ย่อมเกี่ยวข้องกับความมั่นคงเข้ามาด้วย จนกลายเป็นเรื่องซีเรียสกันทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐที่ต้องการเข้ามาควบคุมมากขึ้น ขณะที่ฝ่ายสังคมในโลกโซเซียลก็กังวลว่ามันจะคุกคามเลยเถิดเกินไปหรือไม่ หรือเนื้อหาของกฎหมายมีความ “กำกวม” ง่ายต่อการตีความไปทางไหนก็ได้ใช่หรือไม่ เป็นเรื่องที่น่ากลัวเหมือนกัน
ขณะเดียวกัน เมื่อเป็นเรื่องอ่อนไหวมันก็สามารถชักนำไปสู่เรื่อง “การเมือง” ได้ไม่ยาก เพราะรู้กันอยู่แล้วว่าในระบบสังคมออนไลน์ มันมีแนวร่วมมาก เป็นคนรุ่นใหม่ หากสามารถปลุกระดมในเรื่องการถูกคุกคามเสรีภาพ และอาจเข้าข่ายความผิดจากการแชตหรือแชร์ในชีวิตประจำวัน มันก็น่ากลัวเหมือนกัน ยิ่งหากกังวลกันว่ามีการเมืองเข้ามาผสมโรงได้เมื่อไหร่ มันก็ยิ่งน่าหวั่นไหว ที่สำคัญ ในยุคไซเบอร์หากมีการยกระดับกลายเป็นสงครามอย่างที่ว่าจริงมันก็ยิ่งอันตราย
เพราะเอาเข้าจริงก็ไม่แน่ใจว่ารัฐจะมีระบบป้องกันและสามารถรับมือกับพวกแฮกเกอร์และแนวร่วมได้ไหวหรือไม่ และสิ่งสำคัญที่สุด ก็คือ ทางฝ่ายรัฐได้มีคณะทำงาน มีการชี้แจงทำความเข้าใจได้ทันท่วงทีหรือเปล่า หากรับมือไม่ทันการณ์ มันก็อาจกลายเป็นการต่อต้านรัฐบาล และ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ กลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งไปเลย
เพราะเท่าที่เห็นในตอนนี้ มันเหมือนกับว่ารัฐเริ่มเผชิญกับ “ภัยที่มองไม่เห็น” อีกระลอก จากเรื่องจุดพลุไฟ มาจนถึงการต่อต้านพระราชบัญญัติเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งมันอาจ “เป็นคนละเรื่อง (เดียวกัน)” ก็เป็นได้ !!