ปธ.สนช. แจง ให้หลักพิจารณา พ.ร.บ. คอมพ์ กมธ. ต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิที่เข้าใจ กม. คอมพ์ รับฟังทุกภาคส่วน ยกร่างนี้ดีกว่าเดิม เพิ่ม คกก. กลั่นกรอง มีภาค ปชช. ร่วม ศาลมีหน้าที่พิจารณา ย้อนเหตุเว็บสภา - ตม. ล่ม ยิ่งเป็นเหตุต้องมี กม. นี้ รับอยากคุยกับคนเห็นต่าง อย่าโยงซิงเกิลเกตเวย์ ยันชะลอประกาศใช้ กม. ไม่ได้ เผย สนช. เตรียมรับไม้ต่อ กรธ. พิจารณากม.ลูกให้เสร็จ 60 วัน ตามกรอบ
วันนี้ (19 ธ.ค.) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ... ผ่านความเห็นชอบจาก สนช. ในวาระ 3 เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ที่ผ่านมา เมื่อกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณา สนช. ส่วนตัวได้ให้หลักการพิจารณาว่า กมธ. จะต้องประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเข้าใจในกฎหมาย และเรื่องคอมพิวเตอร์อย่างแท้จริง และรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนทั้งประชาชน รวมถึงผู้ให้บริการ และองค์กรที่ควบคุมดูแลระบบคอมพิวเตอร์
ทั้งนี้ ต้องหาจุดที่เหมาะสม หรือดุลยภาพระหว่างการใช้อำนาจของรัฐ กับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จะทำให้เป็นกฎหมายที่ดี ซึ่งร่างกฎหมายนี้เป็นการแก้ไข พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ จากปี 2550 ซึ่งถือว่าดีกว่าเดิม เพราะมีการทอนอำนาจของเจ้าพนักงาน โดยยังคงอำนาจศาลเอาไว้ แต่เพิ่มคณะกรรมการกลั่นกรองซึ่งมีภาคประชาชนเข้ามาร่วม โดยรัฐมนตรีไม่ได้ใช้อำนาจในการพิจารณาเอง แต่ต้องไปร้องต่อศาล ถ้าศาลเห็นด้วยจึงจะระงับได้ และยืนยันว่า การปิดหรือระงับใช้ข้อมูลระบบคอมพิวเตอร์หลายประเทศอ่อนแอกว่าไทยไม่ทัดเทียม ไม่มีการไปศาล แต่ของไทยมีการพัฒนา และกฎหมายดังกล่าวมีมาแล้วตั้งแต่ปี 2550 และองค์กรภาคประชาชนที่ออกมาคัดค้านนั้น
“เมื่อสองวันก่อนเว็บไซต์รัฐสภา และ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองก็ล่มทั้งระบบ ถือเป็นตัวอย่างที่ต้องมีกฎหมายฉบับนี้ ส่วนตัวอยากให้มาพูดคุยกันด้วยเหตุผลว่าไม่เห็นด้วยตรงไหน ที่ขัดกับสิทธิเสรีภาพ โดย สนช. พร้อมเปิดเวทีให้เข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยน แต่ไม่อยากให้กล่าวหาไปโยงกับเรื่องซิงเกิลเกตเวย์กฎหมายนี้เป็นการควบคุมการทำงานของเจ้าพนักงานไม่ให้แทรกแซงข้อมูลของประชาชน หากพบเจ้าหน้าที่กระทำผิดจะถูกลงโทษหนักเป็นสามเท่ากว่าคนอื่น ส่วนผู้ที่ลงชื่อคัดค้าน 3 แสนรายชื่อ ก็อยากให้ดูว่าเป็นการแก้ไขกฎหมายที่ใช้มานานเป็น 10 ปี ซึ่งมีข้อบกพร่องและจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุง เพราะเป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่มากเกินไป กมธ. มีการแก้ไขมากไปจากร่างที่รัฐบาลเสนอเข้ามา และอยากให้ดูกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ผมเป็นห่วงว่าที่มีการนำข้อมูลในบัตรประชาชน หรือ พร้อมเพย์ เอาไปใช้ หากมีกฎหมายดังกล่าวออกมาจะช่วยเพิ่มการคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวได้เป็นอย่างดี อยากให้เครือข่ายภาคประชาชนช่วยกันผลักดันกฎหมายนี้ ซึ่งจะทำให้ควบคุมเจ้าหน้าที่รัฐที่ควบคุมดูและระบบคอมพิวเตอร์ไปได้อย่างเหมาะสม”
ส่วนที่มีข้อเรียกร้องให้ชะลอการประกาศใช้กฎหมายออกไปก่อนนั้น นายพรเพชร ระบุว่า ไม่สามารถทำได้ เพราะกฎหมายได้ผ่านการพิจารณา สนช. ไปแล้ว หาก สนช. ไม่ให้ผ่านจะกลับไปใช้กฎหมายเก่าเมื่อปี 2550 หรืออย่างไร กรณีมีการเตรียมโจมตีเว็บราชการนั้น ก็ป้องกันเท่าที่ทำได้ เพราะคนที่เก่งในระบบคอมพ์สามารถทำได้ เนื่องจากไม่สามารถลงทุนได้ขนาดนั้น
นายพรเพชร กล่าวถึงการกำหนดกรอบเวลาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)จะส่งมายัง สนช. เพื่อตราเป็นกฎหมายหลังจากที่รัฐธรรมนูญใหม่ใช้บังคับ ว่า ตามที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนด คือ สนช. มีเวลาพิจารณาร่าง พ.ร.ป. แต่ละฉบับ 60 วัน ให้แล้วเสร็จ คือ ผ่านวาระสาม คือ ให้ความเห็นชอบ ดังนั้น ในช่วงเวลา 60 วันดังกล่าว จะให้ กรรมาธิการ (กมธ.) แต่ละคณะที่ตั้งขึ้นมาซึ่งจะมี กมธ. ประกอบด้วย สมาชิก สนช. เป็นส่วนใหญ่ และตัวแทนองค์กรหรือหน่วยงานที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น พิจารณาร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะให้ กกต. ชุดปัจจุบันเข้าร่วมเป็น กมธ. ด้วย ขณะที่ผู้มีประสบการณ์หรือความเชี่ยวชาญนั้นอาจให้ร่วมเป็นที่ปรึกษา หรือ ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น ทางตัวแทนพรรคการเมืองอาจขอเข้าให้ความเห็นต่อ กมธ. ของ สนช. ได้ หรือ กมธ. จะขอความเห็นไปยังตัวแทนพรรคการเมืองได้ ซึ่งยืนยันว่าจะรับฟังความเห็นและนำเหตุผลที่ดีไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไข ซึ่งระยะเวลาพิจารณา อาจใช้เวลา 45 วัน และช่วงเวลาที่เหลือนั้น จะให้ กมธ. แต่ละคณะไปสัมมนาที่ต่างจังหวัด เพื่อตรวจทานเนื้อหาของร่าง พ.ร.ป. ฉบับใกล้แล้วเสร็จ เพื่อให้ตนหรือส่วนที่เกี่ยวข้องเห็นเนื้อหาของร่าง พ.ร.ป. ที่แก้ไข
“ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ กรธ. เปิดเนื้อหาร่างกฎหมายลูกให้หลายฝ่ายให้ความเห็น ซึ่งเราได้รับฟังความเห็นของทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อนำไปประกอบการพิจารณา แต่ตอนนี้ยังให้ความเห็นใดๆ เป็นเชิงประจักษ์ได้ เพราะยังไม่เข้ากระบวนการของ สนช. ดังนั้น ตอนนี้ได้แต่รับฟัง ส่วนการทำงานของ สนช. นั้น ยืนยันว่า รับฟังความเห็น และทำเนื้อหาเป็นไปภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ” นายพรเพชร กล่าว.